ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากเวลาผ่านไป 7 สัปดาห์ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงของสหราชอาณาจักรประกาศลาออก ท่ามกลางปัญหาการยอมรับจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมของเธอ ส่งผลให้มีการเฟ้นหาตัวผู้นำพรรคอนุรักษนิยมและนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรอีกครั้ง ภายหลังจากที่ เพนนี มอร์แดนท์ ผู้นำสภาสามัญชน และ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยก่อนหน้าทรัสส์ ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันในครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้สมัครที่เหลืออยู่คนสุดท้าย คือ ริชี ซูนัค ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีในที่สุด

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองของพรรคอนุรักษนิยม และปัญหาที่ค้างคาจากสมัยก่อนหน้า  ‘วอยช์’ ชวนทำความรู้จักกับนายกรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียคนแรกของสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งคาดการณ์นโยบายในอนาคตของแดนผู้ดี ภายใต้การนำของคลื่นลูกใหม่ทางการเมืองอย่างซูนัค


ใครคือริชี ซูนัค?

ริชี ซูนัค เกิดเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2523 ณ เมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ พ่อและแม่ของเขาเป็นชาวอินเดียอพยพเชื้อสายปัญจาบที่ใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกา ก่อนที่จะย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหราชอาณาจักร ซูนัคสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาได้เข้าฝึกงานกับพรรคอนุรักษนิยม จากนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาได้รับทุนการศึกษาฟุลไบรท์ ซึ่งเป็นทุนการศึกษาของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) ในมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐฯ  

ในช่วงที่ซูนัคศึกษาอยู่ที่สหรัฐฯ นี้เองที่เขาได้พบกับ อัคชาตา มุรตี แฟชันดีไซเนอร์ผู้เป็นลูกสาวของ เอ็น. อาร์. นายรายณ์ มุรตี มหาเศรษฐีชาวอินเดียที่นิตยสารไทมส์ขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งวงการไอทีอินเดีย” บริษัทอินโฟซิสของเขามีรายได้ประจำปีในปี 2564 ถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 75,000 ล้านบาท) ซูนัคและมุรตีแต่งงานกันในปี 2552 และมีลูกด้วยกัน 2 คน มีการคาดการณ์กันว่า ความมั่งคั่งสุทธิของสามีภรรยาคู่นี้มีสูงถึง 700 ล้านปอนด์ (ประมาณ 30,400 ล้านบาท) ซึ่งถือว่ามากกว่าความมั่งคั่งสุทธิของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรเสียอีก

ซูนัคมีประสบการณ์ทำงานภาคธุรกิจเอกชนในหลายบริษัท ก่อนเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง ในปี 2544-2547 เขาทำงานเป็นนักวิเคราะห์ให้กับโกลด์แมน แซคส์ ธนาคารด้านการลงทุนสัญชาติสหรัฐฯ ก่อนที่จะเข้าทำงานในองค์กรด้านการจัดการกองทุนป้องกันความเสี่ยงหลายแห่งในช่วงเวลาหลังจากนั้น หนึ่งในนั้นรวมถึงการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทการลงทุน คาตามารัน เวนเจอรส์ ซึ่งมี เอ็น. อาร์. นารายณ์ มุรตี ผู้เป็นพ่อตาของเขาเป็นเจ้าของในระหว่างปี 2556-2558 อีกด้วย

 

จากนักธุรกิจหนุ่มสู่ถนนสายการเมือง

หลังจากประสบการณ์ฝึกงานกับพรรคอนุรักษนิยมในระดับปริญญาตรี ซูนัคเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 2558 เท่านั้น เขาได้รับเลือกจากพรรคอนุรักษนิยมให้ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตริชมอนด์ (ยอร์ก) ซึ่งถือเป็นฐานเสียงของพรรคอนุรักษนิยมมาอย่างยาวนาน ซึ่งซูนัคเองสามารถชนะการเลือกตั้งและได้เข้าไปนั่งในสภาตามคาด ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่ง ส.ส.นี้ เขาได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการด้านการเกษตร อาหาร และกิจการในพื้นที่ชนบทอีกด้วย

ในช่วงที่ซูนัคดำรงตำแหน่ง ส.ส. สมัยแรกในสภา สหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจเพื่อลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) พอดี จุดยืนของซูนัคคือการสนับสนุนการแยกตัวของสหราชอาณาจักร เขาได้เขียนรายงานให้สถาบันวิจัยสายอนุรักษนิยมเพื่อสนับสนุนมติดังกล่าว นอกจากนี้เขายังสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ท่าเรือเสรี” ซึ่งหมายถึงการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภาษีบริเวณใกล้ท่าเรือและสนามบินต่างๆ ในสหราชอาณาจักร ภายหลังการออกจากสหภาพยุโรปอีกด้วย

ในการเลือกตั้งปี 2560 และ 2562 ซูนัคยังคงได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.เขตริชมอนด์เช่นเดิม เส้นทางอาชีพทางการเมืองของซูนัคถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะในปี 2562 หรือเพียง 4 ปีหลังจากที่เขาดำรงตำแหน่ง ส.ส.ครั้งแรก เขาได้รับเลือกจาก บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกระทรวงการคลัง และได้ตำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปีต่อมา

ในขณะที่ซูนัคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิกฤตโควิด-19 กำลังทวีความรุนแรงในสหราชอาณาจักรอย่างมาก ซูนัคได้แถลงงบประมาณประจำปี 2563 ต่อรัฐสภา โดยจัดสรรงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านปอนด์ (ประมาณ 5.2 แสนล้านบาท) เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ริเริ่มแคมเปญ “ออกไปกินเพื่อออกไปช่วย” (Eat Out Help Out) ซึ่งมอบส่วนลด 50% ให้กับประชาชนสำหรับค่าอาหารเมื่อออกไปกินอาหารในร้านอาหาร ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือร้านอาหารต่างๆ และจูงใจผู้คนให้ออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ซูนัคได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีการให้เงินช่วยเหลือคนตกงานจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากข้อกำหนดในการรับเงินช่วยเหลือของเขามีช่องโหว่มากมาย ที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบหลายคนไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือได้

ในช่วงกลางปี 2565 พรรคอนุรักษนิยมได้เผชิญกับความวุ่นวายและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในพรรคหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการบริหารไปจนถึงกรณีการจัดงานเลี้ยงของนักการเมืองในรัฐบาลภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ไปจนถึงกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อ คริส พินเชอร์ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม ทำให้ซูนัคตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในที่สุด ก่อนที่อดีตนายกรัฐมนตรีจอห์นสันจะลาออกจากตำแหน่งของตนในอีกไม่กี่วันต่อมา

การลาออกของจอห์นสัน นำไปสู่การเฟ้นหาตัวผู้นำพรรคอนุรักษนิยมและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซูนัคได้ลงสมัครเป็นผู้ท้าชิงในครั้งนั้นด้วย เขาได้รับความยอมรับจากประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ดี การเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมเป็นสิทธิ์ของสมาชิกพรรค 160,000 คนทั่วประเทศเพียงเท่านั้น ซึ่งสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมได้เลือก ทรัสส์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือน ก.ย. ทั้งนี้ ทรัสส์สามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียง 7 สัปดาห์เท่านั้น ก่อนที่จะประกาศลาออก ในการเลือกผู้นำพรรคครั้งที่ 2 ของปีนี้นี่เอง ที่ซูนัคได้รับเลือกหลังจากผู้เข้าแข่งขันคนอื่นได้ทำการถอนตัวออกไป


ทิศทางนโยบายของซูนัค

ซูนัครับรู้ว่าสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งสำคัญ และเขาได้ระบุเรื่องการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจลงไปในชุดนโยบายของเขาในขณะที่กำลังหาเสียง และแม้แคมเปญหาเสียงของซูนัคมีรายละเอียดค่อนข้างน้อย แต่อาจกล่าวได้ว่าทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของซูนัคค่อนข้างแตกต่างออกไปจากทรัสส์ เนื่องจากเขาเคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการลดภาษีของทรัสส์ที่ส่งผลเสียกับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี ซูนัคเองมีนโยบายเกี่ยวกับการลดภาษี เขามีความพยายามที่จะลดภาษีเงินได้จาก 20% เป็น 16% ภายในปี 2572 แต่เขาเชื่อว่าสหราชอาณาจักรควรจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อให้ได้เสียก่อน โดยเขามีความเชื่อว่าธนาคารกลางของสหราชอาณาจักรจะต้องทำงานอย่างเป็นอิสระมากขึ้น

ในประเด็นเกี่ยวกับข้อตกลงหลังเบร็กซิท เมื่อมองจากสายตาสมาชิกพรรคคนอื่นๆ แล้ว ซูนัคถือว่าเป็นผู้ที่มีแนวคิดเอนเอียงไปทางยุโรปมากกว่า นโยบายที่เขาเสนอ คือ การจัดตั้งองค์กรเพื่อตรวจสอบข้อกฎหมายของสหภาพยุโรปกว่า 2,400 ข้อ เพื่อเลือกว่าจะทำการต่อรองหรือละทิ้งก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้า

จุดยืนของซูนัคต่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนอาจไม่แข็งกร้าวมากเท่ากับทรัสส์ แต่ก็ยังอยู่ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เขายังคงสนับสนุนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียเพื่อช่วยเหลือยูเครน ในขณะที่เขาปฏิเสธที่จะใช้การแทรกแซงทางการทหารต่อปัญหาดังกล่าว

ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับพลังงาน ซูนัคพยายามให้สหราชอาณาจักรมีความเป็นอธิปไตยทางพลังงาน กล่าวคือ สหราชอาณาจักรจะต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอกประเทศให้น้อยลง โดยเน้นการพัฒนาแหล่งพลังงานลมในประเทศ

ท้ายที่สุดนี้ แม้ซูนัคจะมาจากครอบครัวของผู้อพยพ นโยบายด้านผู้อพยพของเขามีการจำกัดคำนิยามของผู้อพยพลง ซึ่งจะทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนน้อยลงที่สามารถเข้าเกณฑ์ผู้อพยพของเขาได้ นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนแผนการส่งตัวผู้อพยพไปยังประเทศรวันดา และส่งเสริมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส ไปจนถึงส่งเสริมปฏิบัติการของหน่วยตระเวนชายฝั่งในการควบคุมการไหลเข้าของผู้อพยพอีกด้วย

ทั้งนี้ ซูนัคอาจต้อง “รับศึกรอบด้าน” และเผชิญกับความท้าทายหลายประการภายในสมัยของเขา เริ่มต้นจากปัญหาภายในพรรคฝ่ายรัฐบาล เมื่อความแตกแยกภายในพรรคอนุรักษนิยมที่ลดทอนความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และแนวทางของซูนัคในหลายเรื่อง อาทิ เบร็กซิท ที่ยังไม่สอดคล้องกับเพื่อนร่วมพรรคที่มีแนวคิดเอียงขวามากอีกด้วย นอกจากนี้ซูนัคยังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชนจำนวนมากว่า พื้นฐานทางธุรกิจและความมั่งคั่งของเขาทำให้เขาเปรียบเสมือนนักการเมืองที่มองปัญหาต่างๆ จากหอคอยงาช้าง และเข้าไม่ถึงปัญหาของชนชั้นรากหญ้าโดยแท้จริง 

หากไม่มีการประกาศลาออกอีก ซูนัคยังคงมีเวลาอีก 2 ปีกว่าๆ จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนม.ค. 2568 ในการพิสูจน์ตัวตนในฐานะนายกรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียรุ่นใหม่ของสหราชอาณาจักรในการแก้ไขปัญหาที่รุมเร้า และกอบกู้สหราชอาณาจักรจากปัญหาทางการเมืองที่ยังค้างคาอยู่


เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ


ที่มา:

https://www.personneltoday.com/hr/treasury-looks-again-at-coronavirus-scheme-loophole/

https://www.bbc.com/news/business-51490893

https://www.bbc.com/news/uk-63345272

https://www.thedrum.com/news/2022/10/24/rishi-sunak-prime-minister-what-his-policies-mean-your-marketing-business

https://www.nytimes.com/2022/10/24/world/europe/rishi-sunak-policies-uk-pm.html

https://www.euronews.com/2022/10/24/rishi-sunak-who-is-the-uks-next-prime-minister-and-what-are-his-policies

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-08-06/here-s-where-uk-s-truss-sunak-stand-on-issues-from-tax-to-china