งานศึกษาชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและผลกระทบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ที่ตีพิมพ์บนวรสารทางวิทยศาสตร์อย่าง Nature Communications เมื่อ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า เฉพาะในปี 2560 เพียงปีเดียว โลกสามารถรักษาชีวิตมนุษย์มากกว่า 1 ล้านคนได้หากยกเลิกการเผาไหมเชื้อเพลิงฟอสซิล
การเสียชีวิตเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจาก 'โรคไม่ติดต่อ' อย่าง โรงหลอดเลือดสมอง หรือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน)
นักวิจัยระบุว่า การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นมากสุดในประเทศจีนและอินเดีย หากรัฐบาลของทั้งสองชาติสามารถยกเลิกกิจกรรมการเผาไหม้จากถ่านหิน, น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติออกไปได้ทั้งหมด ทั่วโลกจะสามารถลดระดับการเกิดโรคที่มีอิทธิพลจากฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 20%
ขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า การเผาไหม้เหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเท่านั้น พวกเขาต้องไม่ลืมว่าสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายเหล่านั้นย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์เช่นเดียวกัน และผลลัพธ์ข้างต้นก็สะท้อนความจริงนั้นแล้วอย่างชัดเจน
ตามข้อมูลจาก iqair ที่จัดอันดับคุณภาพอากาศ ผ่านดัชนีสะท้อนระดับฝุ่น PM 2.5 พบว่า ในปี 2563 บังกลาเทศ เป็นประเทศที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 77.10 ไมโครกรัม ต่อ ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ตามมาด้วยปากีสถานที่ระดับ 59.00 มคก./ลบ.ม. ซึ่งคุณภาพอากาศของทั้งสองประเทศนั้นจัดอยู่ในประเภท “เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” (ระดับ PM 2.5 ตั้งแต่ 55.50 - 150.40 มคก./ลบ.ม.)
ขณะที่อินเดียรั้งอันดับที่สามของดัชนีอากาศเลวร้ายนี้ ด้วยตัวเลข 51.90 มคก./ลบ.ม. โดยมีมองโกเลียและอัฟกานิสถานตามมาในอันดับที่สี่และห้าตามลำดับ สำหรับดัชนีดังกล่าว ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 34 ของโลก กับตัวเลขคุณภาพอากาศที่ 21.40 มคก./ลบ.ม. นับเป็นระดับปานกลางของคุณภาพอากาศเท่านั้น
รายงานฉบับดังกล่าวยังเสริมว่า เมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 70% นับว่ามีคุณภาพอากาศดีขึ้นเมื่อเทียบกับระดับดัชนีของปี 2562 ทว่าสถานการณ์ในภาคเหนือของไทยกลับย่ำแย่อย่างหนักจากฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ประจำฤดูกาลจากภาคเกษตร
แม้ว่าตัวเลขการตายที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับวิธีการวัดคุณภาพและการเชื่อมโยงความเสี่ยง แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั้ง PM 2.5 และโรคร้ายอันนำไปสู่ความตายมีส่วนเชื่อมโยงกัน