ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา OpenAI บริษัทเทคโนโลยีค้นคว้าวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากไมโครซอฟท์และยังเคยได้รับความช่วยเหลือจาก อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ประกาศเปิดตัวระบบภาษาปัญญาประดิษฐ์ GPT-3
เพื่ออธิบายให้ง่าย ระบบเอไอภาษานี้ จะอนุญาตให้บรรดาผู้พัฒนาโปรแกรมสามารถขับเคลื่อนความสามารถของเอไอด้านการใช้งานภาษาอังกฤษให้สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งการเขียนบทความ เขียนนิยาย ไปจนถึงการตอบคำถามประจำวันของมนุษย์ทั่วไป
อาร์ราม เซเบติ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ ZeroCater หนึ่งในผู้ร่วมใช้งาน GPT-3 เวอร์ชันกำลังพัฒนา เขียนในเว็บไซต์ของตนเองเมื่อ 14 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ตัวเขาได้ลองใช้งานเอไอดังกล่าวในการแต่งกลอนที่เกี่ยวกับอีลอน มัสก์
เซเบติ ย้ำว่า กลอนที่ออกมาเป็นผลงานตรงจากเอไอ ตนไม่ได้มีส่วนในการเขียนแม้แต่น้อย มีเพียงช่วยเขียนโปรแกรมพัฒนาสัมผัสต่างๆ ที่เอไอดูจะยังเข้าไม่ถึง นอกจากนี้ ในฐานะนักพัฒนา เซเบติ ยังลองป้อนกลอนจากนักกวีชาวสหรัฐฯ ชื่อดังอย่าง 'ดร.ซูสส์' หรือ ธีโอดอร์ ซูสส์ จีเซล เข้าไปเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของเครื่องกล (machine learning)
ช่วงหนึ่งของกลอนที่มีชื่อว่า 'Elon Musk By Dr. Seuss' (อีลอน มัสก์ โดย ดร.ซูสส์) เอไอหยิบประเด็นข่าวระหว่างซีอีโอเทสลากับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (SEC) ขึ้นมาล้อเลียน โดยพูดถึงกรณีที่ SEC ต้องการให้มัสก์หยุดทวีตข้อความที่จะส่งผลต่อทิศทางของนักลงทุนซึ่งเรื่องดังกล่าวไปถึงกระบวนการฟ้องร้องแล้วแต่มีการไกลเกลี่ยได้ในภายหลัง
แม้ปัจจุบันวงการเอไอจะรุดหน้าไปไกลมากแล้ว และดูเหมือนอนาคตอันใกล้มนุษย์อาจแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่า หนังสือเล่มที่กำลังอ่านในมือมีมนุษย์หรือเอไอเป็นผู้เขียนกันแน่ แต่ เควิล แลคเกอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อีกรายที่ได้ GPT-3 ไปลองใช้งาน ชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างสมองของปัญญาประดิษฐ์กับสมองของมนุษย์ยังต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
แลคเกอร์ กล่าวว่า ข้อมูลคำศัพท์ภาษาอังกฤษกว่า 3 แสนคำ หรือคิดเป็นขนาดข้อมูลกว่า 45 เทระไบต์ ทำให้เอไอสามารถคาดการณ์คำศัพท์ที่มนุษย์จะพูดได้ แต่ปัญญาประดิษฐ์ยังคงมีปัญหาเรื่องการให้เหตุผลอยู่อีกมาก
เท่านั้นยังไม่พอ ดูเหมือนเอไออัจฉริยะด้านภาษานี้จะกลายเป็นเครื่องมือสะท้อนการเหยียดเพศไปจนถึงการเหยียดเชื้อชาติเช่นเดียวกัน เมื่อ เจอโรม เพเซนติ หนึ่งในผู้พัฒนาระบบดังกล่าว ทดลองพิมพ์คำศัพท์ 1 คำ และให้ ระบบเอไอสร้างเป็นประโยคที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ก่อนพบว่า เมื่อเขาป้องคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติหรือสีผิว แต่กลับได้ข้อความที่เต็มไปดูการดูถูกเหยีดยหยามออกมาแทน
ในทวิตเตอร์ของเพเซนติ เขาลองใช้คำว่า 'Jews', 'black', 'women' และ 'holocaust' ก่อนจะได้ประโยคออกมาเช่น "Jews love money, at least most of the time." ซึ่งแปลว่า "ชาวยิวชอบเงิน อย่างน้อยก็ตลอดเวลานั่นแหละ" หรือประโยคว่า "#blacklivesmatter is a harmful campaign." ซึ่งมีความหมายในการไม่ให้คุณค่ากับแคมเปญ 'ผิวดำมีค่า' ของชาวผิวดำที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในความเท่าเทียม
ทั้งนี้ ฟรานเซสโก มาร์โคนิ ผู้ก่อตั้ง Applied XL ระบบข่าวสารอ้างอิงจากการคำนวณทางเอไอ ยอมรับว่า เอไอเหล่านี้แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในอนาคตที่ไม่ไกลมากนัก ความสามารถของเทคโนโลยีน่าจะเปลี่ยนโฉมวงการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ไปได้อย่างยิ่งยวด ทั้งฝั่งโฆษณา สื่อสารมวลชน รวมไปถึงอุตสาหกรรมหนัง
ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัย IDC 5 อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่ลงทุนมากที่สุดในการพัฒนาการเรียนรู้ของเอไอในปัจจุบันคือ ค้าปลีก, ธนาคาร, การผลิต, สุขภาพ และบริการการลงทุนและความปลอดภัย โดยทีมวิจัยคาดว่า เม็ดเงินลงทุนของทั้ง 5 อุตสหกรรมจะเพิ่มเป็น 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9.9 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2566 จากตัวเลขราวๆ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.9 หมื่นล้านบาท) ในปีนี้
อ้างอิง; WSJ, MIT Technology Review, BI, Wired