ไม่พบผลการค้นหา
แนวทาง 'ธำรงวินัย' ภายในกองทัพเกิดขึ้นมาราว 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ที่ให้มีการตั้ง 'ศูนย์ธำรงวินัย' ของ ทบ. ขึ้นมา โดยนำต้นแบบมาจากทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) ในโรงเรียนวังทวีวัฒนา แต่ในส่วน “ศูนย์ธำรงวินัย” ได้มีการปรับหลักสูตรการฝึกใหม่

โดยเน้นเป็นการ “ออกกำลัง” เป็นหลัก เช่น การฝึกท่ามือเปล่า , การฝึกท่าอาวุธ , การฝึกเรียกแถว , การฝึกออกกำลัง , การแบกเป๊ทหารพร้อมเครื่องสนาม เป็นต้น โดยการ “ธำรงวินัย” จะสวมชุดสนามและ “หมวกสีแดง” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าถูกลงโทษ

สำหรับ “ศูนย์ธำรงวินัย” ของ ทบ. มีที่ตั้งใน “มณฑลทหารบก” ครอบคลุมทั่วประเทศ และในแต่ละกองทัพภาคจะมี “ศูนย์ธำรงวินัยกลาง” เช่น กองทัพภาคที่ 1 คือ พล.ม.2 รอ. สนามเป้า เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เพื่อ “ปรับปรุงวินัยทหาร” ไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ และป้องกันการปกปิดความผิดกันเอง จึงมีการกำหนดบทลงโทษตามสายบังคับบัญชาขึ้นไป 2 ระดับชั้นด้วย เช่น กรณีล่าสุดคือ น.อ. อลงกรณ์ ปลอดดี ผู้อำนวยการกองอสังหาริมทรัพย์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่มีพฤติกรรมเมากร่าง พูดจาไม่เหมาะสม

ทำให้ผู้บังคับบัญชา 2 ระดับชั้น ได้แก่ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. และ พล.ร.ท.นฤพล เกิดนาค ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เข้ารับการธำรงวินัยเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ผบ.ทร. เป็นระยะเวลา 3 และ ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ 7 วัน โดย ผบ.ทร. ได้ทำการ “โกนผม” สวมชุดสนาม เครื่องแบบนาวิกโยธิน

สมประสงค์ นิลสมัย ผบ ทร ทหาร กองทัพเรือ -9A92-41BD-8C2A-775E4CCB4D40.jpeg

(พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.)

นฤพล เกิดนาค -DFBB-40C9-A64B-1E5CE4AC29E4.jpeg

(พล.ร.ท.นฤพล เกิดนาค ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ)

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวชื่นชม ผบ.ทร. และ ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ กลางที่ประชุม ครม. เมื่อ 28ธ.ค.ที่ผ่านมาด้วย โดยว่ากันว่าเพื่อเป็นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการ “ป้องปราม” กำลังพลในกองทัพไปในตัวด้วย 

นอกจากนี้การธำรงวินัยในระดับ ผบ.เหล่าทัพ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก โดยในอดีต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. ก็เคยทำการ “ธำรงวินัยตัวเอง” มาแล้ว แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็น “บรรทัดฐาน” ต่อไป

ทั้งนี้โทษในการ “ธำรงวินัย” จะแยกจากการถูกลงโทษ “ทัณฑ์ 5 สถาน” ตามฐานความผิด พ.ร.บ. วินัยทหาร ได้แก่ 1. ภาคทัณฑ์หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้

2. ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ

3. กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตาม แต่จะกำหนดให้

4. ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง

และ 5.จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

อย่างไรก็ตามการ “ธํารงวินัย” มีที่มาจาก “รั้วเตรียมทหาร” เพื่อปรับปรุงวินัยและปรับสภาพจาก “พลเรือน” ไปสู่การเป็น “ทหารอาชีพ” ผ่าน “ระบบเกียรติศักดิ์” ที่รุ่นพี่ปกครองรุ่นน้อง หรือระบบ “อาวุโส-Senior” เข้ามาควบคุมนั่นเอง ซึ่งเป็นรากฐานมาสู่การปฏิบัติงานตาม “สายการบังคับบัญชา” ภายในกองทัพ ที่ต้อง “รับผิดชอบ” ร่วมกันด้วย

ทั้งนี้ใน “คู่มือ นร.เตรียมทหาร” ได้ระบุถึง “ท่าลงโทษ” ในการธำรงวินัย ในความผิดสถานเบา ได้แก่ การยึดพื้น ไม่เกิน 50 ครั้ง งอเข่าครึ่งนั่ง ไม่เกิน 50 ครั้ง พุ่งหลัง ไม่เกิน 50 ครั้ง วิ่งระยะกลาง ไม่เกิน 1,500 เมตร และห้ามถูกเนื้อต้องตัว 

ประยุทธ์-โรงเรียนเตรียมทหาร

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร ปี 2476 หมวด 2 ว่าด้วยวินัยมาตราที่ 5 ระบุว่า วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจะต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืน ท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด โดยกฎ 9 ประการของทหาร ที่ถือว่า มีความผิด ด้านวินัยทหารประกอบด้วย

  1. ดื้อขัดขืนหลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน 

  2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย

  3. ไม่รักษามารยาทตามแบบธรรมเนียมของทหาร 

  4. สร้างความแตกสามัคคีในหมู่คณะทหาร 

  5. เกียจคร้าน ละทิ้งหรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ 

  6. กล่าวคำเท็จ 

  7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควรหรือประพฤติไม่สมควร 

  8. ไม่ตักเตือนสั่งสอนหรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ

  9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

แม้ว่ากองทัพในยุคนี้จะ “เข้มงวด” กับวินัยมากกว่ายุคก่อนๆ ถึงขั้นที่ต้อง “เป๊ะ” ทุกระเบียบนิ้ว

แต่ก็ยังคงเกิดเหตุการณ์ทหารมี “พฤติกรรม” ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เพราะนอกจาก “ความประพฤติ” แล้วนั้น สิ่งที่สำคัญอีกคือ “วิธีคิด” ที่มีพื้นฐานมาจาก “วัฒนธรรม” ภายในกองทัพ ที่แตกต่างจากสังคมภายนอก ที่ปกครองตาม “ชั้นยศ-สายบังคับบัญชา” และด้วย “กฎระเบียบเฉพาะตัว” จุดนี้เองจึงทำให้เกิดการเผชิญหน้า “ทางความคิด” และ “พฤติกรรม” กับสังคมภายนอกให้ได้เห็นอยู่เสมอ 

แม้แต่ภายในรั้วกองทัพ ยังมีปัญหาเรื่องการ “ละเมิด” กันเองในหมู่ทหาร ที่ผู้มีชั้นยศเหนือกว่ากดขี่ผู้น้อย เฉกเช่นที่มักเกิดกับพลทหาร ผ่านการใช้ “อำนาจกดขี่-ทำให้กลัว” ตามลำดับขั้นนั่นเอง

รวมไปถึงกรณี “จ่าคลั่ง” กราดยิง จ.นครราชสีมา เมื่อปี2563 ก็เป็น “ผลผลิต” ของการเอาเปรียบผ่าน “ธุรกิจภายในกองทัพ” ที่สร้างบาดแผลใหญ่แก่สังคม และเป็นการเปิด “ขยะใต้พรม” ของกองทัพ ที่หมักหมมยาวนานด้วย

ดังนั้นการ “ธำรงวินัย” จึง “เกาไม่ถูกที่คัน” นั่นเอง !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง