ถ้าโลกนี้จะมีอุตสาหกรรมไหนเจ็บตัวที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 ประวัติศาสตร์ก็คงต้องจารึกเอาไว้ว่าธุรกิจการบินนั้นแพ้ไม่เป็นท่าให้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากที่เคยสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกกว่า 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 87 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3.6 ของจีดีพีโลก แต่ปัจจุบันกลับต้องออกมาขอเม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้บริษัทไม่ล้มละลาย
มาตรการล็อกดาวน์และการปิดประเทศของรัฐบาลต่างๆ ที่เริ่มปรับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้สายการบินต้องแบกภาระต้นทุนแต่ปราศจากรายได้ที่เข้ามาจากการบิน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับพนักงานในวงการนี้กว่า 10.5 ล้านคนทัวโลก
ล่าสุด 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' สัมภาษณ์พิเศษกับลูกเรือและผู้ช่วยนักบินของสายการบินหนึ่งในประเทศไทยเพื่อพูดคุยถึงผลกระทบและมุมมองที่คนภายนอกยังอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพ 'นางฟ้า' ที่มีเงินเดือนห้าถึงหกหลักในวันที่พวกเธอไม่ได้อยู่บนท้องฟ้าอีกต่อไป
'ณัฐธัญฑิศา ลิมปิพุฒิพงศ์' ที่ปัจจุบันยังมีสถานะเป็นลูกเรือของสายการบินหนึ่งอยู่แต่ไม่ได้ออกไปทำงานตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเล่าให้เราฟังว่า เธอไม่เถียงที่หลายคนจะมองว่าอาชีพลูกเรือหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินได้เงินเดือนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพนักงานออฟฟิศทั่วไป แต่เธอสะท้อนว่า เบื้องหลังเงินเดือนที่สูงเหล่านั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือนตามมาในจำนวนที่สูงไม่แพ้กัน
ลูกเรือวัยยี่สิบปลายอธิบายต่อไปว่าด้วยอาชีพของเธอให้ความสำคัญกับเรื่องความตรงต่อเวลามาก พนักงานหลายๆ คนจึงจำเป็นต้องเช่าห้องพักไว้ใกล้สนามบิน หากเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด หรือคนที่อยู่ไกลสนามบินก็จำเป็นต้องหารถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้เพราะช่วงเวลาในการเข้างานแตกต่างจากเวลาปกติที่ขนส่งมวลชนสาธารณะให้บริการ
นอกจากนี้ 'ณัฐธัญฑิศา' ย้ำว่า เพราะเป็นคนที่มีรายได้สูงในครอบครัว ก็จึงเหมือนเป็นเสาหลักที่ต้องคอยค้ำจุนคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเงินเดือนหลายหลักที่ได้มานั้น ที่ผ่านมาจะเอามาใช้เพื่อตัวเองคนเดียว
"ทุกคนมองว่ารวย แต่เราก็มีคนข้างหลังต้องดูแล" ณัฐธัญฑิศา กล่าว
ขณะที่ 'ธันยพร พานแก้ว' ผู้ช่วยนักบินวัย 25 ปี กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ไม่ใช่ว่าการมีรายได้เยอะจะเป็นข้ออ้างให้มองว่าคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ เพราะทั้งนักบินและลูกเรือหากไม่ได้ทำการบินก็ไม่ได้รับเงินเช่นเดียวกัน และที่ผ่านมาพวกเธอเองก็ไม่ได้บินมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
'ธันยพร' ย้ำว่า "ยิ่งเรามีเงินประมาณนึง ค่าใช้จ่ายคงที่ของเราก็จะประมาณนึง แปลว่าเราก็มีหนี้สินเหมือนกัน มีภาระ ทุกคนก็มีภาระหมด" แต่รายได้กลับไม่มีเข้ามาหรือมีเข้ามาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างเคย ทั้งๆ ที่รายจ่ายยังเท่าเดิม
ก่อนจะหันไปมองที่ความช่วยเหลือในระดับพนักงาน ปัจจุบันหากนับแค่สายการบินในประเทศ ก็ดูจะมีเพียงการบินไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับความช่วยเหลือเงินกู้ยืมในวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันให้
ขณะที่ความช่วยเหลือของอีก 8 สายการบินในประเทศอย่าง ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ นกแอร์ นกสกู๊ต แอร์เอเชีย แอร์เอเชียเอ็กซ์ ไลออนแอร์ และเวียดเจต ยังอยู่แค่ในขั้นเจรจาเท่านั้น แม้ทั้ง 8 สายการบินจะยื่นหนังสือขอสินเชื่อในวงเงิน 25,000 ล้านบาท ไปตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา
ปัจจุบันตัวเลขพนักงานในธุรกิจสายการบินในประเทศไทยมีทั้งสิ้นราว 20,000 - 30,000 คน ที่ก็ได้รับผลกระทบกันแทบจะทั้งสิ้น โดยนอกจากฝั่งบริษัทที่แทบจะเอาตัวเองไม่รอดแล้วนั้น ฝั่งสวัสดิการทางสังคมก็เหมือนจะหลงลืมคนเหล่านี้เช่นเดียวกัน
'ณัฐธัญฑิศา' สะท้อนความรู้สึกถูกสังคมลืมว่า อาชีพอย่างพวกเธอจ่ายภาษีในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเธอเองเต็มใจที่ภาษีเหล่านั้นถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือคนที่รายได้น้อยกว่าพวกเธอผ่านมาตรการเงินเยียวยาต่างๆ อย่างไรก็ตาม เธอก็ตามหาความยุติธรรมให้กับคนที่มีรายได้สูงขึ้นมาเช่นเดียวกันว่า
"ในรายรับที่เรารับมา เราจ่ายภาษีแบบตรงไปตรงมา เราจ่ายเยอะมากจริงๆ แต่กลับกลายเป็นตอนนี้คุณภาพชีวิตของเราคือมันไม่คู่ควรกับสิ่งที่เราเคยเสียไป"
ซึ่งในประเด็นดังกล่าวเรื่องการจัดเก็บภาษีนั้น ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ณ วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลจัดเก็บภาษีในปี 2563 ได้ทั้งสิ้น 1,346,978 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายออกคิดเป็นรายได้สุทธิทั้งสิ้น 1,143,568 ล้านบาท
หากย้อนกลับไปมองรายได้ในปีก่อนหน้าจะพบว่า สัดส่วนภาษีที่รัฐบาลเก็บได้เยอะที่สุดไม่ได้มาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองประเภทนี้สามารถยื่นเรื่องขอคืนเงินภาษีได้
อย่างไรก็ตาม ภาษีที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลมากที่สุดมาจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึง 799,644 ล้านบาท โดยภาษีมูลค่าเพิ่มนี้แม้ประชาชนจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีส่วนบุคคลก็จะเป็นต้องจ่ายภาษีดังกล่าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าภาษีที่เป็นรายได้เยอะที่สุดจากรัฐบาลนั้นมาจากประชาชนทุกคน
ในทำนองเดียวกัน 'ธันยพร' ก็เสริมว่า การเรียกร้องครั้งนี้ไม่ใช่เรียกร้องให้แต่วงการการบิน แต่เพราะประชาชนทุกคนควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าพอมีรายได้สูงเมื่อมีวิกฤตจะโดนทอดทิ้งแบบนี้ อย่างน้อยก็ควรจะช่วยเหลือกันบ้าง เยียวยากันบ้าง
'ธันยพร' ชี้ว่า "ไม่มีใครได้เตรียมการหรอก ของแบบนี้มันเป็นอะไรที่มันปุบปับ แล้วทุกคนได้รับผลกระทบหมด เราจะมาบอกว่าเฮ้ยคุณต้องช่วยเรา คือเราอาจไม่สามารถคาดหวังอะไรขนาดนั้นได้ แต่อย่างน้อยทุกๆ อย่างที่เขาทำควรจะเป็นธรรม"
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงแรก ทั้งสองคนยอมรับว่าพวกเธอไม่ได้มองว่าสถานการณ์จะลุกลามขนาดนี้และยังมองโลกในแง่ดีว่าจะได้ถือโอกาสพักผ่อนบ้างหลังจากที่ทำงานหนักมาตลอด แต่พอเมื่อสถานการณ์เริ่มแย่ลง ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ 'ณัฐธัญฑิศา' ยอมรับว่า เธอตระหนักได้เลยว่ากำลังจะเป็นคนตกงานในอายุยี่สิบปลายๆ ในวัยที่กำลังจะสร้างตัว และในวันที่กำลังจะเริ่มมีครอบครัว ซึ่งทำให้เธอไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตในช่วงแรก
ทั้งนี้ ระหว่างที่เธออยู่บ้านก็มีโอกาสได้ทำน้ำพริกให้น้องไปรับประทานเป็นอาหารกลางวันและบังเอิญที่ทำงานของน้องชอบ จึงได้เริ่มธุรกิจน้ำพริกของเธอแบบไม่ตั้งใจ
ขณะที่ 'ธันยพร' ก็ใช้โอกาสที่ครอบครัวทำธุรกิจในอุตสาหกรรมผ้ามาตลอด มาจับการทำหน้ากากอนามัยผ้าขาย ซึ่งแม้จะขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เพราะ "เราเลือกไม่ได้ เราไม่มีงานเหมือนเดิม รายได้ขาดหายไป เราก็มองว่า 5 บาท 10 บาท หลักสิบหลักร้อยคือตอนนี้มันสำคัญหมด"
ทั้งนี้ พวกเธอเองก็ยอมรับว่าเพื่อลูกเรือหรือนักบินหลายคนก็หันมาจับทางเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าตีโจทย์ความแตกต่างไม่ได้ ก็ไม่สามารถสร้างรายได้ได้เช่นเดียวกัน เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ขายเยอะกว่าผู้ซื้อไปแล้ว ซ้ำร้ายผู้ซื้อเองยังไม่อยากใช้เงินในช่วงนี้ด้วย
สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ทั้งสองคนทิ้งท้ายว่าในความหวังอันใกล้ก็คงอยากจะให้ทุกอย่างจบลงและเศรษฐกิจกลับมาเปิดได้เป็นปกติเหมือนคนอื่นๆ
แต่ถ้ามองในระยะไกล พวกเธอก็อยากเห็นความเป็นธรรมในสวัสดิการของรัฐที่มากกว่านี้ สวัสดิการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าคนนั้นจะมีรายได้น้อยหรือสูงแค่ไหน เพราะทุกคนก็คือคนไทยเหมือนกัน และเพราะวิกฤตครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ประชาชนต้องเผชิญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;