ไม่พบผลการค้นหา
กรมราชทัณฑ์ ตั้งโต๊ะแถลงเผยแผนรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำ พร้อมขอชี้แจงกรณี 'รุ้ง-ปนัสยา' ตรวจไม่พบเชื้อก่อนปล่อยตัว

อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์, วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่าล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,794 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 ราย ซึ่งทั้งหมดถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลราชทัฑณ์และโรงพยาบาลสนามต่างๆ เพื่อเร่งรักษาและสอบสวนผู้ติดเชื้อตามหลักกระทรวงสาธารณสุข สำหรับเรือนจำที่มีการระบาดใหญ่จะลดการรับตัวเข้าเรือนจำ และจะประสานศาลยุติธรรมเพื่อหาแนวทางดำเนินต่อไป 

ในส่วนการฝากขังหรือการไต่สวนทางกรมราชทัณฑ์จะใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ทุกกรณี และมีการคัดกรองรายใหม่ทุกครั้งโดยการขยายเวลากักตัวเป็น 21 วัน สำหรับการตรวจหาผู้ติดเชื้อทางกรมราชทัณฑ์ ใช้ระบบสวอพและเอ็กซเรย์ปอดผู้ต้องขัง หากพบจะมีการจัดแยกพื้นที่ไม่ให้มีการปะปนกัน 

เมื่อถามว่า ต้นตอจากการติดเชื้อมาจากไหน มีการสืบสวนโรคได้อย่างไรบ้าง อายุตม์ กล่าวว่า ในส่วนของทัณฑสถานหญิงกลาง มาจากผู้ต้องขังเข้าใหม่ ส่วนเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งทุกคนที่ตรวจพบเชื้อได้ส่งรักษาแล้ว มีการจำแนกผู้ต้องขังที่ติดเชื้อทั้งหมดมีสีแดง 4 ราย มี 1 รายใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากโรคประจำตัว ซึ่งเรายังใช้แนวทางบับเบิ้ล แอนด์ซีล และมีห้องกักโรคแยกชัดเจน ส่วนเรื่องของวัคซีน ได้ประสาน อธิบดีกรมควบคุมโรค ในการจัดหาแล้ว ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกับ สาธารณสุข ทำงานได้ทันเหตุการณ์ และได้แจ้งไปยังเรือนจำทั่วประเทศให้ควบคุมให้ดี


ส่งไมค์รักษาตัว-ย้ำตรวจรุ้งก่อนปล่อยตัว

ด้าน รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงกรณี ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ออกมาเปิดเผยว่าตนติดเชื้อโควิด -19 กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ตรวจหาเชื้อกับ ปนัสยา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เม.ย. โดยผลตรวจไม่มีเชื้อโควิด-19 ขณะเดียวกันตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. – 5 พ.ค. คนใกล้ชิดที่อยู่ในแดนกับปนัสยาก็ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19


"วันที่ 8 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ได้ปูพรมตรวจทัณฑสถานหญิงกลาง รวมถึงพื้นที่แดนรับใหม่ที่รุ้งได้กักตัวก็ไม่พบว่ามีผู้ต้องขังคนใดว่าติดเชื้อโควิด"

ส่วนกรณี ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ แกนนำกลุ่มคณะราษฎรที่ต้องดำเนินการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนนำตัวขึ้นศาลเพื่อให้ได้ผลตรวจล่าสุดนั้น ก็มีผลปรากฏแล้วว่าภาณุพงศ์ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 


ชู 3 โมเดลลดคนล้นคุก

เช่นเดียวกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงจยุติธรรม ชี้แจงกรณีวิพากษ์วิจารณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำว่า ที่ผ่านมาได้ยึดนโยบายลดความแออัดผู้ต้องขัง ล่าสุดมีจำนวนไม่ถึง 310,000 คน สำหรับการแก้ปัญหาคนล้นคุก กระทรวงยุติธรรมมี 3 ประเด็นหลัก

1.มีการขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังไปแล้วจำนวนหลายหมื่นคน 

2.ใช้กำไล EM เพื่อพักโทษผู้ต้องขังในกรณีพิเศษ อย่างน้อย 50,000 คน 

3.การปรับแก้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ผ่านมาได้นำเสนอไปยังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 ครั้ง ทว่ายังไม่สัมฤทธิ์ผล 

สำหรับประเด็นการดูแลผู้ต้องขัง ตามมารตรฐานสากลผู้คุม 1 คนจะมีหน้าที่ดูแลผู้ต้องขัง 6 คน แต่ของประเทศไทยคือผู้คุม 1 คนต่อผู้ต้องขัง 33 คน สะท้อนให้เห็นว่าเราทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนเริ่มเข้าใจการทำงานของข้าราชการมากขึ้น