เวลา 14.40 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การชุมนุม
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การใช้เครื่องตัดกุญแจและพังประตูเข้าไปในสถานที่ที่เจ้าของมิได้อนุญาต ถือเป็นความผิด เรื่องการบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์
ส่วนการจะดำเนินคดีหรือไม่ต้องแยกเป็น 2 กรณี หากเป็นการบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ ถ้าทรัพย์นั้นมีเจ้าของ ถือเป็นความผิดส่วนตัว ต้องรอให้เจ้าของพื้นที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ถ้าเป็นกรณีทำความผิดอาญาต่อรัฐ เป็นหน้าที่ของตำรวจในท้องที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อไป โดยเบื้องต้นทาง ม.ธรรมศาสตร์ ยังไม่ได้เข้ามาแจ้งความ
"ในอนาคตถ้าท่านถูกดำเนินคดีท่านก็ต้องรับในส่วนที่ท่านได้กระทำผิด"
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวถึง การที่ผู้ชุมนุมเข้าไปยังพื้นที่สนามหลวงว่า สนามหลวง เป็น โบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน พ.ศ.2504 อยู่ในความดูแลของ กรุงเทพมหานคร ซึ่ง อนุญาตให้เฉพาะการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมตามกำหนดในประกาศปี 2555 การกระทำใดๆ ต้องเป็นกิจกรรมที่กำหนดเท่านั้น ส่วนการกระทำอื่นๆ เข้าข่ายการบุกรุก ตาม ม.34 หรือไม่ต้องดูองค์ประกอบและพฤติกรรม
เตือนอย่าบิดเบือน ละเมิดสถาบัน
ด้าน พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สั่งการให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตั้งห้องวอร์รูมติดตามสถานการณ์การประท้วงในวันนี้ (19 ก.ย.) อย่างใกล้ชิด โดยห้องติดตั้งตามข่าวสารตั้งอยู่ที่สำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ
พุทธิพงษ์ กล่าวว่า การร่วมชุมนุมสามารถทำได้ตามหลักสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความผ่านทางโซเชียลทุกช่องทาง ขอให้กระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่เผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนหรือข่าวปลอม รวมถึงต้อง ไม่ยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในสังคม ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ
“ที่สำคัญ ต้องไม่ละเมิดสถาบันหลักของประเทศ เพราะการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระทรวงดีอีเอส จะติดตามและเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน หากมีการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการในทางคดีอย่างจริงจัง”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: