นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจล็อคดาวน์ทั่วประเทศแล้ว และจะทำแบบครึ่งๆกลางๆหรือกลัวๆกล้าๆไม่ได้ ไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าปล่อยไว้ต่อไป สถานการณ์จะเลวร้ายลงอีกมาก โดยรายละเอียดมีดังนี้
ผมเสนอความเห็นให้ “ปิดประเทศ” พร้อมทั้งเสนอนโยบายมาตรการต่างๆไปแล้ว ขณะนี้สถานการณ์ที่มาถึงจุดที่ต้องเสนอให้ใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุดแล้วครับ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19แย่ลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเพิ่มอย่างช้าๆอยู่เป็นเดือน เมื่อเร็วๆนี้เมื่อสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดที่มาจากต่างประเทศเป็นหลักมาสู่การแพร่ระบาดภายในประเทศเองอย่างกว้างขวางและยังคงมีการนำเข้าผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย จำนวนผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมามีคุณหมอหลายท่านได้วิเคราะห์และคาดการณ์ไว้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยจะสูงมาก ล่าสุดจากการคาดการณ์ด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ผสมกับการเปรียบสภาพการณ์ในประเทศไทยกับประเทศอื่นคุณหมอบางท่านรวมทั้งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้คาดการณ์ว่าในวันที่ 15 เมษายนนี้คาดว่า คนไทยเป็นโควิด 351,948 ราย นอนโรงพยาบาล 52,792 ราย นอนไอซียู 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 คน
ความจริงตัวเลขนี้คณะแพทย์ก็ได้รายงานให้นายกฯ ทราบตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว เมื่อสถานการณ์แย่ลง การคาดการณ์นี้จึงเป็นที่สนใจมากขึ้นและมีการนำเสนออีก
ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในจังหวัดต่างๆ ดูจะยืนยันสมมติฐานและการคาดการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
แต่ถ้าพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงในขณะนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์อาจจะเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ก็ได้ เนื่องจากสรรพกำลังและทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขของเราไม่พอ
ขณะนี้โรงพยาบาล เตียง ห้องไอซียู ห้องแยก เวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของแพทย์พยาบาล ทุกอย่างล้วนขาดแคลนหมดแล้ว
การรับมือกับการแพร่ระบาดนี้มีมาตรการหลายด้าน ทุกด้านต้องยกเครื่องทั้งสิ้น แต่ในสถานการณ์ขณะนี้หากปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นอย่างรวดเร็วไม่หยุดหย่อนเช่นที่เป็นอยู่ จะปรับปรุงอะไรก็ไม่ทัน ระบบสาธารณสุขของประเทศจะล่ม ไม่สามารถรับมือได้
ผมเห็นด้วยว่าต้องหาทางจำกัดวงจรการแพร่ระบาดเพื่อให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด
จากเดิมที่มีการเสนอให้กำหนดจังหวัดเสี่ยง เพื่อใช้มาตรการเข้มเป็นจังหวัดๆ แต่ขณะนี้ดูจะกระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีการปิดห้างร้าน สถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และ 6 จังหวัดแล้ว คนออกต่างจังหวัดไปมาก
มาตรการที่ใช้อยู่เช่นการขอให้คนกรุงเทพอยู่บ้านไม่เพียงพอแล้ว ต้องใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุดอย่างที่มักเรียกกันว่า “ล็อคดาวน์” ทั้งประเทศ จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายให้คนอยู่บ้าน อนุญาตให้ออกได้เท่าที่จำเป็น จำกัดการเดินทางระหว่างพื้นที่
ที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ตามหลังเหตุกาณ์หลายก้าวมาตลอด เรื่องนี้ควรจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ขอเสนอให้รัฐบาลสรุปบทเรียนจากการประกาศปิดสถานที่ต่างๆในกรุงเทพและ 6 จังหวัดที่ต่างคนต่างทำและไม่มีมาตรการรองรับจนทำให้เกิดการเดินทางออกจากกรุงเทพครั้งใหญ่ ทำให้ปัญหาซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น
ดังนั้นในครั้งนี้วางแผนมาตรการรองรับ เช่น คนยังออกจากบ้านได้ในกรณีใดบ้าง กิจการใดต้องหยุด กิจการใดต้องส่งเสริมให้ทำต่อไป การหยุดงาน การจำกัดการเดินทาง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม การจัดการเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ การเยียวยาและการดูแลผู้ที่ยากจนเดือดร้อนทั้งระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
นายจาตุรนต์ ระบุด้วยว่า เรื่องเหล่านี้หากสนธิกำลังตั้งทีมงานขึ้นมาวางแผนศึกษาจากหลายประเทศที่เขาทำกัน แล้วประสานร่วมมือกับทุกจังหวัดทั่วประเทศก็น่าจะทำให้รับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น
"รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจแล้ว และจะทำแบบครึ่งๆกลางๆหรือกลัวๆกล้าๆไม่ได้ ไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าปล่อยไว้ต่อไป สถานการณ์จะเลวร้ายลงอีกมาก การใช้มาตรการเข้มข้นขั้นสูงสุดนี้ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกหนีไม่พ้น จะต่างกันก็ตรงที่หากรอช้าไปความเสียหายจะใหญ่หลวงต่างกันอย่างไม่อาจจินตนาการได้" นายจาตุรนต์ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :