ไม่พบผลการค้นหา
วงเสนา ชี้ 87 ปี รธน.ในการเมืองไทย นักวิชาการสะท้อนเป็นการต่อสู้ของฝ่ายเลือกตั้ง และฝ่ายแต่งตั้ง ชู รธน. 3 ฉบับพัฒนาประชาธิปไตย แต่ฝ่ายเลือกตั้งได้มีบทบาทสั้นกว่าช่วงยึดอำนาจ พร้อมชี้ รธน.ปัจจุบันเป็นระบอบทหารอำพรางผ่านเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต รัฐธรรมนูญไทย" ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ ม.รังสิต


87 ปี ฝ่ายเลือกตั้ง งัด ฝ่ายแต่งตั้ง

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 10 ธ.ค. เป็นวันที่ถูกยกย่องให้เป็นวันรัฐธรรมนูญแต่เป็นยกย่องหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยการยกย่องให้ 10 ธ.ค. เป็นวันรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในปี 2482 ซึ่งมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามปฏิทินของฝ่ายขวา ได้จดจำวันที่ 10 ธ.ค. ว่าเป็น “วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งนี่ถือเป็นปมปัญหาของการเมืองไทย และรัฐธรรมนูญไทยมาถึงปัจจุบัน

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยทั้งหมด 20 ฉบับ มีเพียง 5 ฉบับเท่านั้นที่เป็นรัฐธรรมนูญของฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนที่เหลืออีก 15 ฉบับเป็นของฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายประชาธิปไตย พยายามทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่สร้างประชาธิปไตย เพื่อประชาชน คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐธรรมนูญ 27 มิ.ย. 2475 ที่กำหนด อำนาจของอธิปไตยเป็นของราษฎรทุกคน นอกจากนอกจากนี้ยังมีรัฐธรรมนูญปี 2475 ฉบับปี 2489 ฉบับปี 2517 และ 2540 ที่ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของฝ่ายประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ มีลักษณะในทิศทางเดียวกันของความเป็นประชาธิปไตยคือ 1.นายกรัฐมนตรี เป็น ส.ส. 2. สภาใช้อำนาจแทนประชาชน ในการควบคุมสถาบัน ศาล ทหาร ข้าราชการ 3.มีการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่ ฉบับแรกจนถึง ฉบับปี 2540 คือ ต้องการให้ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจด้วยการสร้างเทศบาลทั่วประเทศ

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ระบุว่า ปัจจุบันจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 มักจะถูกทำให้ลืมเลือน และถูกทำให้เห็นว่า ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นความชั่ว ความเลว เราจึงเห็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งครองอำนาจยาวนาน

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า วงจรอุบาทว์ของรัฐประหารของไทย เริ่มจาก คณะรัฐประหารต้องการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพื่อรักษาอำนาจ ผู้ที่อยู่ในอำนาจได้ยาวที่สุดในสังคมไทย จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วน คสช. เมื่อทำการรัฐประหารแล้วก็อยากอยู่แบบนั้นเช่นกัน แต่ไม่อาจอยู่ได้ต้องสร้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ในความเป็นจริงมันอยู่ยาวมาก เพราะอยู่ถึง 5 ปี โดยรัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจ คณะรัฐประหารอย่างเบ็ดเสร็จคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2502 ซึ่งมีมาตรา 17 รัฐธรรมนูญของ คสช. เองก็มี มาตรา 44 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ต่างกัน

”มาตรา 44 คือลูกของ มาตรา 17 มาตรา 17 คือพ่อของมาตรา 44 เวลาเราทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญชั่วคราว ย้อนกลับไปยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ใช่สิ่งใหม่ เขาเอาสิ่งเก่ามาใช้หมดเลย แม้แต่เพลงปลุกใจ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนจะถาวร แต่ชั่วคราวหมดเลย เข้าสภาไม่นาน แต่คณะรัฐประหารบอกว่าชั่วคราว แต่อยู่ถาวร” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าว



ธำรงศักดิ์ 0350.jpg

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังกล่าวว่า 87 ปี ของการเมืองไทย คือการต่อสู้ 2 ระบอบ คือ ฝ่ายที่ ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งทุกระดับ (Election) แต่ชีวิตของการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ มีแค่ 26 ปี ของ 87 ปี ที่เหลืออยู่ที่ฝ่ายแต่งตั้ง (Selection) รัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐประหาร ออกแบบมาให้มีลักษณะที่เห็นว่าพวกเขาไม่ต้องการอยู่เพียวแค่ชั่วคราว เช่น มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีต้นแบบมาจากการรัฐประหาร 2501 เพื่อออกกฎหมายต่างๆ ที่ต้องการ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้ไทยพาย้อนกลับไปเมื่อ 61 ปีที่แล้ว โดยใช้การแต่งตั้งทหารทุกเหล่าทัพเข้ามาทำหน้าที่ โดยคนเหล่านี้จะพยายามทำตัวให้เงียบที่สุด ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกกันเอง ซึ่งคล้ายกับหลังการรัฐประหาร 2490 คนพวกนี้มีลักษณะชอบโวยวายแสดงอำนาจข่มขู่ ส.ส. ตลอดเวลา


'ประจักษ์' ยก รธน. 3 ฉบับพัฒนาประชาธิปไตย

ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญในอดีต 3 ฉบับ คือ 2489, 2517, 2540 เปรียบเทียบถอดบทเรียนจาก 3 ฉบับ รัฐธรรมนูญ กับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เกี่ยวข้องอย่างไร กับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า การที่ประเทศหนึ่งมีรัฐธรรมนูญไม่ได้เท่ากับมีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญกับระบอบเผด็จการก็ไปด้วยกันได้ แต่รัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการ เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเพื่อส่งเสริม ค้ำจุนการครองอำนาจนิยมให้อยู่คงทนยาวนาน เช่น รัสเซีย จีน กัมพูชา มีรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่กลับส่งเสริมการผูกขาดอำนาจของผู้นำ

ผศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า ในช่วงหลังวงรัฐศาสตร์พูดถึงการเรียนรู้และปรับตัวของอำนาจนิยม พบว่ามีความฉลาดมากขึ้นในการที่จะปรับใช้สถาบันทางการเมืองแบบ ประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การประชามติ การร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการใช้กระบวนการเหล่านี้ ส่งเสริมอำนาจของตน เราจะพบปรากฏการณ์ในหลายประเทศ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

"ศ.เสน่ห์ จามริก ราษฎรอาวุโส นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน สรุปว่า รัฐธรรมนูญ คือตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคม อ่านรัฐธรรมนูญ เห็นความสัมพันธ์อำนาทางการเมือง" ผศ. ประจักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ในบรรดา รัฐธรรมนูญ ทั้งหมด มีเพียง 3 ฉบับ ที่พอเรียกได้ว่า เป็น ประชาธิปไตย ทั้งในแง่ กระบวนการ และเนื้อหา และไม่ได้เป็นผลผลิตจากการยึดอำนาจ 2489, 2517, 2540 มีลักษณะร่วมดังต่อไปนี้

หนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่มีรัฐบาลพลเรือน

สอง ถือกำเนิดขึ้นประเทศมีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โดยการต่อสู้ของประชาชน

สาม เป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และสภา


รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ.JPG

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2489 เป็น รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 ของประเทศ เปลี่ยนผ่านจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ที่น่าสนใจ คือ เสนอเป็นญัตติในสภา ในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ กับนายปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นผู้สำเร็จราชการมีการเสนอมาจากบุคคลที่มาจากหลายขั้วอุดมการณ์ มีคนสนิทของนายปรีดี คือ ศ.ดิเรก ชัยนาม รายชื่อผู้เสนอญัตติ มี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์หลายคน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นการร่วมกันของคนมากกว่าคนหลายขั้วอุดมการณ์

"พรรคประชาธิปัตย์ มีบทบาทหลายครั้งในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ตอน 2489 เกิดขึ้นโดยพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนร่วมด้วย"

ผศ.ดร. ประจักษ์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างเสร็จตอนในช่วงรัฐบาลนายปรีดี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีนายปรีดีเป็นประธาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการ มีลักษณะของการประนีประนอมในการสร้างฉันทามติ มีความเป็นประชาธิปไตยสูง มีการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพอย่างกว้างขวาง มีการบัญญัติสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้มีพฤติสภา ต่อมาเรียกว่าวุฒิสภา ก่อนหน้านี้ใช้สภาเดี่ยว การที่มี ส.ส. ออกมาบอกว่าประเทศไทยไม่เคยมีสภาเดี่ยว จริงๆ ประเทศไทยมี แต่พฤฒสภา มาจากการเลือกตั้ง ออกแบบให้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง ตั้งองค์คณะเลือกพฤฒสภา ห้ามข้าราชการประจำ เป็นข้าราชการทางการเมือง

"สมมติว่า เป็น ผบ.ทบ. มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ เช่น เป็น ผบ.ทบ. เป็นวุฒิสภา ไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้อายุสั้น เพราะถูกเลิกใช้หลังการรัฐประหาร 2490 และตามประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยจะอายุสั้นเสมอ" ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

รัฐธรรมนูญ 2517 เป็นผลผลิต หรือ ผลพวงของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งร่างใหม่ทั้งฉบับ แล้วเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีกระบวนการที่น่าสนใจ คือ เป็นการร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมีที่มาจากการคัดเลือกกันเอง ของสภาสนามม้า เหลือ 299 คน กล่าวคือ เป็นการตั้งสภาขึ้นมาใหม่เพื่อร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่ไว้ใจสภาชุดเดิม ที่มาจากการแต่งตั้งของจอมพลถนอม กิตติขจร ในแง่ของกรรมการที่มาร่างมีความหลากหลายสูงมาก บันทึกการประชุมมีถกเถียงกันร้อนแรงเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการ ระบบเลือกตั้ง ถือว่ามีกระบวนการถกเถียงที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย คล้ายๆ กับ 2489 คือ ไม่ได้เป็นผลผลิตของคนกลุ่มใดกลุ่มเดียว มีตั้งแต่ เสรีนิยม ฝ่ายซ้าย ไปจนถึงชนชั้นนำบางส่วน อยู่ในกลุ่มที่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ฉันทามติ คือ ประเทศไทย มีประชาธิปไตย ที่พ้นจากอำนาจของทหาร มีรัฐสภา ที่คนทุกกลุ่มสามารถมาต่อสู้บนพื้นที่ตรงนี้ได้ มีบทบัญญัติ ที่นายกมาจากการเลือกตั้ง แยกข้าราชการออกจากการเมือง แต่สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกฉีกทิ้ง โดยกลุ่มการเมืองที่เป็นทหารขวาจัด

รัฐธรรมนูญ 2540 หลายคนบอกว่าเป็น รัฐธรรมนูญ ที่ดีที่สุด ที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่มีข้อถกเถียงหลายมาตรามีปัญหา เช่น ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีวุฒิปริญญาตรี แต่ถ้าพูดเฉพาะกระบวนการ กระบวนการมีส่วนร่วมกว้างขวางที่สุดมากกว่า รัฐธรรมนูญ 2489 และ รัฐธรรมนูญ 2517 แน่นอนเป็นผลมาจากกระแสการปฏิรูปทางการเมือง รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เปิดช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในโจทย์คล้ายๆ กัน แต่ไม่มีทางสำเร็จถ้าไม่มีขบวนการธงเขียว บทบาทภาคประชาสังคม กับวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เกิดฉันทามติทางการเมืองว่า การเมืองล้มเหลว ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง มีงูเห่าทางการเมือง เกิดขึ้นในช่วง 2535-2540 รัฐธรรมนูญ 2540 คล้ายกับ รัฐธรรมนูญ 2489 และรัฐธรรมนูญ 2517 คนที่ผลักดันก็มาจากหลากหลายสายการเมือง สายชุมชน เอ็นจีโอ และบทเรียนที่สำคัญ เงื่อนไขที่สำคัญ คือ

1.การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย พอบทเรียนเป็นแบบนี้นำมาสู่ความท้าทายในปัจจุบัน ที่มีความผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกันออกไป เราต้องการสร้าง รัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตย บนเงื่อนไขที่ยากมาก เพราะมันไม่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย มีแต่เผด็จการเต็มตัว สู่เผด็จการครึ่งใบ มันเลยยากที่จะก่อเกิด รัฐธรรมนูญ ที่เราคาดหวังว่าจะเป็น ประชาธิปไตยได้ถ้าถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จในอดีต อย่างน้อยต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

2. มีฉันทามติ และเป็นฉันทามติที่เป็นกระแสกดดัน ให้กลุ่มที่ไม่ต้องการแก้ไข ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย ที่ไม่สามารถฝืนกระแสสังคมได้ 2540 มีคนต้านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือ กระทรวงมหาดไทย เจ้าพ่อนักการเมืองท้องถิ่นเดิม แต่พอเกิดฉันทามติในสังคม บวกกับปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชั่น และความไร้ประสิทธิภาพ ทุกคนต่างก็ต้องยอมรับ

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า เราจะสามาถสร้างฉันทามติชึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ ภายใต้ภาวะที่ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เงื่อนไขอีกอย่างที่ต้องดูก็คือ เศรษฐกิจ และสภาพรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การเล่นการเมืองงูเห่า ความสามารถในการแก้ไขของรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้สังคมรู้สึกว่ามันไปไม่รอดแล้ว

แต่ครั้งนี้โจทย์ยากกว่าโจทย์ที่มีก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ถ้าทำสำเร็จ จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และครั้งนี้การทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดี จะพากลับไปอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้ ก่อนหน้านี้เราต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ดีก่อน จึงจะนำไปสู่นำไปสู่รัฐธรรมนูญที่ดี แต่การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้หากสำเร็จ จะเป็นการนำไปสู่ประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า ปีหน้าจะมืดมัว ทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง คือไม่มีดัชนีบวก สิ่งที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญคือพฤติกรรมการใช้อำนาจของคนที่มีตำแหน่งเป็นทางการและไม่เป็นทางการจะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ของคนในสังคม

"พฤติกรรมการใช้อำนาจในปัจจุบัน ดูเหมือนไม่ค่อยสนใจอารมณ์ของคนในสังคมเท่าไหร่ โนแคร์ โนสน ฉันไม่แคร์ไม่สนใจ ฉันจะใช้อำนาจแบบนี้ อันนี้แหละเป็นชนวนที่อันตรายที่สุด" ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว


ชี้ระบอบทหารที่อำพรางด้วยการเลือกตั้ง

ขณะที่ รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาที่เรียกได้ว่า "ระบอบทหารที่อำพรางด้วยการเลือกตั้ง โดยการดูดบังคับการสนับสนุน" หรือ ระบอบทหารอำพราง ที่มีเลือกตั้งที่ไม่ตรงไปตรงมา ทั้งนี้ ตัวแสดงในรัฐธรรมนูญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการสร้างระบอบใหม่ขึ้นมาคือ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาของ ส.ว. การตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ระบบราชการเป็นใหญ่ องค์กรอิสระมีอำนาจมาก ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างระบอบใหม่ขึ้นมา


รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี.JPG

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการกระทำที่แตกต่างไปจากอดีตได้ เช่น ส.ส. โหวตสวนมติพรรคได้ ถ้า ส.ส. โหวตสวนมติพรรค พรรคสามารถขับออกได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2540 และปี 2550 พรรคสามารถขับออกได้ แต่ ส.ส. สามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ จะเห็นว่ามีการเปิดช่องให้แตกต่างไปจากเดิม เพื่อเปิดให้มีการดูดบังคับตัวแสดงทางการเมือง แม้จะมีการบอกว่าเขียนแบบนี้เพื่อต้องการลดการครอบงำของพรรคการเมือง แต่ถ้าเรามองในประเด็นนั้น ต้องให้มี ส.ส. อิสระไปเลย แต่ที่น่าสนใจคือความย้อนแย้งของตัวระบบเลือกตั้ง กับการไม่อยากให้พรรคการเมืองครอบงำ คือการที่ให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว มันขัดแย้งกับการอนุญาตให้ ส.ส. โหวตสวนมติพรรคได้

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า จะเห็นว่าเป้าหมายเหล่านี้ถูกสร้างมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยส่วนตัว ประเมินว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้มเหลว 4 ประการ

1.ล้มเหลวเพราะไม่อาจสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีความเข้มแข็ง

2.ปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ความรับผิดชอบในการใช้อำนาจรัฐ ความล้มเหลวของ ส.ว. ในการทำหน้าที่แทนประชาชน

3.ไม่สามารถสร้างความเสมอภาค บรรเทาความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนได้ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทุนผูกขาดฉกฉวย

4.ไม่สามารถสร้างความมีฉันทามติ เอกภาพทางการเมือง กลายเป็นชนวนของความขัดแย้ง ระบบเลือกตั้งใช้ไปนานๆ พรรคการเมืองทะเลาะกันเอง ตัวระบบแบบนี้ทำให้เกิดความอ่อนแอในระบบพรรคการเมือง

เธอกล่าวต่อว่า การสถาปนารัฐธรรมนูญไม่สำคัญว่าใครมีอำนาจในการสถาปนา สิ่งที่สำคัญ คือ มีประชาชนอยู่ในนั้นรัฐธรรมนูญหรือไม่ รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ร่างโดยชนชั้นนำกลุ่มเดียว แต่อยู่ได้ยาวนานที่สุดในโลก

80091742_1079648845716299_7979103290895892480_n.jpg

แนะ รธน.ใหม่ต้องสมดุล - ไม่เมินอำนาจประชาชน

ด้าน ผศ.ดร.วรรณภา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่สอดคล้องกับภูมิสังคมของประเทศ เพราะตั้งอยู่บนฐานที่ไม่ไว้วางใจนักการเมือง เราอาจมีประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายกับนักการเมือง เลยเขียนออกมาบนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจกัน และรัฐธรรมนูญกลายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ผู้มีอำนาจจะตีความอย่างไร ถูกเขียนออกมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจ ตีความและอธิบายได้

เธอกล่าวด้วยว่า ในอนาคต รัฐธรรมนูญควรเป็นเครื่องมือ 2 ลักษณะ คือ

1.รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออย่างเป็นทางการ ทำให้ดุลยภาพทางการเมืองได้ดุล โดยต้องไม่ละเลยอำนาจของประชาชน การออกแบบรัฐธรรมนูญควรจะมีเนื้อหาที่ไม่กลายเป็นเงื่อนไขวิกฤติความขัดแย้ง รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดในอดีตได้ด้วย

2.รัฐธรรมนูญ ควรจะเป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นทางการเมือง สิ่งหนึ่งที่สำคัญ เวลาฟังนักการเมือง นักวิชาการพูด เรามักจะพูดว่าบทบัญญัติไหนควรจะแก้ไขอย่างไร แต่ในบริบทแวดล้อมยังมีเงื่อนไขหลายอย่าง สิทธิพลเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง เอาเข้าจริงฝ่ายประชาธิปไตย ก็ไม่ฟังคนอื่นเช่นกัน ถึงเวลาคุณก็เป็นเผด็จการในคราบของประชาธิปไตย สังคมไทยไม่ค่อยนิยมคนเห็นต่าง

เธอกล่าวต่อว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นคำตอบเดียวในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย สร้างความมเป็นเจ้าของร่วมกัน ให้คนที่มีความหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้เราผลักคนอีกกลุ่มไม่ให้มีที่ยืนในสังคม ฉันทามติเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เรายังไม่ได้พูดถึงฉันทามติกันเลยว่า เราต้องการการปกครองแบบไหน

"การออกแบบรัฐธรรมนูญเหมือนการชักเย่อ ทำอย่างไรให้มันมีความสมดุล ทำอย่างไรให้สิทธิเสรีภาพ ปัจเจกบุคคล และความมั่นคงให้มันสมดุล ทำอย่างไรไม่ให้มีฝ่ายไหนแพ้ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่อยู่รอดโดยไม่มีการปรับปรุง"

ด้าน ผศ.ดร.วรรณภา ระบุว่า ในประเทศฝรั่งเศส 1958 ใช้มา 60 กว่าปี สิ่งที่ฝรั่งเศสทำ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเมืองเหมือนชักเย่อ ดึงไปดึงมา เมื่อไหร่ที่ได้จุดสมดุล เราจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และมันต้องต่อสู้ไม่มีวันสิ้นสุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง