น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายค้านวันนี้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับญัตติล้วนๆ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ และการไม่ชี้แจงที่มาของงบประมาณในการดำเนินนโยบาย ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจในการผลักดันนโยบาย และนายกรัฐมนตรีเองก็มีโอกาสในการชี้แจง ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามยังไม่มีการชี้แจง แต่ก็ยังไม่ได้ตอบตรงตามญัตติ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่นายกรัฐมนตรีไม่ชี้แจง
โดยเฉพาะประเด็นถวายสัตย์ หลังจากนี้ก็จะติดตัวนายกรัฐมนตรีไปเรื่อยๆ เรื่องดังกล่าวการที่จะใช้มาตรา 151 อภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่ค่อยแสดงให้เห็นว่าเคารพรัฐธรรมนูญ และมีความเป็นไปได้สูงว่าในอนาคตก็จะอาจจะละเมิดรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน
ส่วนกรณีคำวินิจฉัยของศาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ศาลวินิจฉัยมามีผลผูกพันกับ พล.อ.ประยุทธ์ และถือว่าเป็นข้อยุติ ดังนั้นเรื่องเหมืองทองอัครา ฝ่ายค้านต้องให้ความสนใจ และอาจจะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้ด้วย ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ที่พรรคเพื่อไทยรับผิดชอบ
เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวหรือเรื่องใกล้เคียงก็จะมีการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งในการนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในประเทศ คสช. ได้มีการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษความผิดไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบทางกฎหมายได้ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการกระทำ
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราห่วงว่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ และท้าทายต่อกฎหมายและสภา เราต้องการสร้างบรรทัดฐาน แต่กลับได้บรรทัดฐานที่ผิด ส่วนคำว่า "หมาเยี่ยวใส่ศาล" ตนมีความสุจริตใจ เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลเอาสถาบันมาเป็นต้นทุนให้กับตัวเอง และยกพระเกียรติยศให้สูงขึ้น หลังจากนี้ฝ่ายค้านจะปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนในบรรทัดฐานเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ
ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส. เพื่อไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่นายกรัฐมนตรีไม่ตอบคำถาม และให้นายวิษณุ เครืองาม มาตอบแต่แย้งกับตำราของตัวเอง ถ้าเป็นแบบนี้อายุของรัฐบาลก็อาจจะสั้นลงได้
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เห็นว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายปม ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ทำได้ดี ใช้เวลากระชับและเก็บครบทุกประเด็น ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในรัฐธรรมนูญ เสียดายตรงที่ว่า 10 กว่าคำถามที่ถามไป ไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดแจ้งจากคณะรัฐมนตรี ส่วนเรื่องการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบ แต่มีพระราชดำรัสตอบ แล้วจะถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตนสมบูรณ์ ถือเป็นบรรทัดฐานต่อจากนี้หรือไม่
นายปิยบุตร กล่าวว่า ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แม้ตนและนายสุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ถามซ้ำไปแล้วแตาก็ไม่ได้คำตอบ ว่าหลังจากนี้หากถวายสัตย์ปฎิญาณไม่ครบ แต่ได้รับพระราชดำรัสตอบก็ถือว่าสมบูรณ์หรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และรองนายกรัฐมนตรีคือ นายวิษณุ ตลอดไป ต้องมีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ถ้าปล่อยให้คลุมเครืออย่างนี้ ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมาก เป็นเพียงอาการของโรค แก้ไขได้ง่าย แต่นายกรัฐมนตรีหนีปัญหา ถ้ายอมรับตั้งแต่วันแรกแล้วพยายามหาทางแก้ไขมันก็จบ
แต่ท่านไม่ได้พิสูจน์ว่าท่านเป็นผู้นำ ไม่ได้พิสูจน์ว่าท่านรับผิดชอบตามที่ท่านได้พูดไว้ อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้รับผิดชอบเอง แต่กลับมาตอบบ้าง ไม่มาตอบบ้าง หนีสภาบ้าง แล้วก็ยังไม่ได้ข้อเท็จจริง ไม่ได้บรรทัดฐาน ว่าอะไรทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยิบกระดาษแข็งแผ่นนั้นขึ้นมาจากกระเป๋าและคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านยังไม่ได้คุยกันว่าจะดำเนินการต่อไปคือยื่น ป.ป.ช. หรือศาลฎีกา พิจารณาหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้น่าจะพอสังเขป และเชื่อว่าประชาชนประเมิณได้ว่าฝ่ายค้านพยายามเต็มที่แล้วในการยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
ส่วนนายกรัฐมนตรีก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ได้แยแสรัฐธรรมนูญ และเรื่องนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาภาพรวมทั้งหมด แล้วไม่ลืมว่าวันข้างหน้าสามารถอภิปรายตามมาตรา 152 แบบนี้ได้อีก 1 ครั้ง และอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อีก 1 ครั้งต่อปี กำลังตัดสินใจกันว่าหลังจากเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ แต่หลังจากนี้หากทุกคนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับข้อยกเว้นจากรัฐธรรมนูญและทุกองค์กร มันก็จะเป็นเรื่องใหญ่กว่าฝ่ายค้านแต่เป็นเรื่องของสังคมและประชาชนทุกคนว่าถ้าอย่างนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้กับทุกๆคน แต่พอถึง พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อยกเว้นให้ท่านเสมอหรือเปล่า