ไม่พบผลการค้นหา
ธ.ก.ส.ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ 'พักต้นพักดอก 3 เดือน อัตโนมัติ' เริ่มงวด เม.ย. กำหนดเงื่อนไขเป็นสินเชื่อจ่ายรายเดือน ลูกค้ามีสถานะการชำระค่างวดปกติ ไม่ค้างจ่ายเกิน 3 งวด ไม่เป็นเอ็นพีแอล ให้ทั้งบุคคลและนิติบุคคล

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือน โดยอัตโนมัติ (เม.ย.-มิ.ย. 2563) ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อที่มีกำหนดชำระเป็นรายเดือน ซึ่งลูกค้าต้องมีสถานะเป็นหนี้ปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (ณ วันที่ 1 มี.ค. 2563) และไม่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ทั้งในส่วนของเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชุน และสหกรณ์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับประเภทของสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน ได้แก่ โครงการสินเชื่อสวัสดิการบุคลากรภาครัฐฯ, โครงการสินเชื่อสวัสดิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 1 และ 2 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท) ที่ผ่อนชำระเป็นรายเดือน ได้แก่ โครงการสินเชื่อสวัสดิการบุคลากรภาครัฐฯ, โครงการสินเชื่อสวัสดิการ สปสช. และสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน และโครงการสินเชื่อ SME เกษตร (วงเงินกู้   ไม่เกิน 20 ล้านบาท) เฉพาะสัญญาที่มีกำหนดชำระเป็นรายเดือน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อที่สาขา

ทั้งนี้ หากครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือนแล้ว ลูกค้ายังมีภาระหนัก ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สามารถติดต่อ ธ.ก.ส. สาขา เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ธนาคารจึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีกระแสเงินสดสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันและบรรเทาปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :