กลายเป็น “แผ่นดินไหว” ระดับ 9 ริกเตอร์ ที่ทำเอาพรรคเก่าแก่ 76 ปี แทบพังทลาย ย่อยยับ
นับว่าเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดในรอบหลายทศวรรษของพรรคประชาธิปัตย์ แม้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่อง “ตัวบุคคล”
อาจเป็นเพราะ core value ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่พยายามฉายให้สังคมเห็นมาตลอดคือ “พรรคคนดี” และยังถือคติ “ประชาธิปไตยสุจริต” เป็นแกนหลัก ในการทำงานการเมือง
จุดใต้ตำตอ คนที่นำ “ปริญญ์” เข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ มิใช่ใครอื่น หากเป็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน
“เทพไท เสนพงศ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนปักหลักอยู่ฝ่ายตรงข้าม “จุรินทร์” เปิดเผยว่า ปริญญ์ เป็นบุคคลภายนอก ซึ่งเพิ่งเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ การเข้าสู่ตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค ต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค ข้อ 31 ระบุว่า สมาชิกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับเลือกตั้ง เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
เว้นแต่สมาชิกที่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค (2) เป็นหรือเคยเป็นคณะกรรมการสาขาพรรค (3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค (4) เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรีในนามพรรค (5) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง (6) สมาชิกที่ประชุมใหญ่ มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมใหญ่ มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค
ถ้าพิจารณาตามข้อบังคับพรรค ปริญญ์ ขาดคุณสมบัติการเข้าเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้นายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ใช้สิทธิเสนอตามข้อ 31(6) ขอให้ที่ประชุมใหญ่ มีมติยกเว้นคุณสมบัติ
เพื่อให้ ปริญญ์ มีคุณสมบัติเป็นรองหัวหน้าพรรคได้ จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ จุรินทร์ ที่เป็นผู้เสนอชื่อ ปริญญ์ ให้ที่ประชุมใหญ่รับรองเข้าเป็นรองหัวหน้าพรรคภารกิจ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้ให้การรับรอง เปรียบเสมือนการล็อกสเปกตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค จากโควตาของหัวหน้าพรรค
ดังนั้น “จุรินทร์” ในฐานะที่เป็นผู้ “เว้นข้อบังคับพรรค” ให้ “ปริญญ์” แจ้งเกิดในพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการแถลงข่าวขอโทษหลังเกิดเหตุอื้อฉาว เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า “ผมมีส่วนสำคัญในการพาคุณปริญญ์เข้ามาในพรรค แม้ว่าต้องผ่านขั้นตอนในพรรค ต้องมีการลงมติให้ความเห็นชอบ แต่สุดท้ายผมก็ต้องรับผิดชอบ”
จุรินทร์ ประกาศลาออกจาก ประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ
แต่ปฏิเสธการลาออกจากหัวหน้าพรรค!
เรื่องราวดำเนินมาถึงการประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ควันหลงจากกรณี “ปริญญ์” รวมถึง แชทไลน์ในห้องกรรมการบริหารพรรคที่เถียงกันเรื่อง “ปมชู้สาว” หลุดสู่ภายนอก ยังไม่จางหาย อย่างน้อย “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง ก็จี้สปิริตให้ “จุรินทร์” ลาออก
“ทั้งสองกรณีนี้ เชื่อมโยงถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้นำพรรค ผมรู้ว่าตำแหน่งนี้ได้มายาก แต่ตำแหน่งไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับเกียรติภูมิและอุดมคติ กับจุดยืนทางจริยธรรมของพรรค” สาทิตย์ กล่าว
แม้ว่าหัวหน้าพรรค ยังไม่ตัดสินใจ “ไขก๊อก” แต่ก็มีคนที่ชิงลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปก่อนหน้านี้แล้ว หลายสิบราย ทั้งที่เป็นบุคคลเก๋าเกมในสนาม
อาทิ “กษิต ภิรมย์” อดีต รมว.การต่างประเทศ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก “วิฑูรย์ นามบุตร” อดีต ส.ส.อุบลราชธานี นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “นาถยา แดงบุหงา-เบ็ญจศิริวรรณ” อดีต ส.ส.กทม. “ศิริศักดิ์ อ่อนละมัย” อดีต ส.ส.ชุมพร “สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช “ถวิล ไพรสณฑ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช
“อภิชัย เตชะอุบล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” อดีต ส.ส.กทม.“กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลัง “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” อดีต ส.ส.กทม.
คนล่าสุดคือ “วิทยา แก้วภราดัย” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พร้อมกับทิ้งประโยคสั่งลาว่า
“อย่าให้พรรคช้ำจนไม่เหลือชื่อประชาธิปัตย์ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่เหลือพรรค คำว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะเราถูกสอนมาว่าต้องรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้สึกของประชาชน ไม่ใช่เกาะเกี่ยวเหนียวติดอยู่กับตำแหน่ง ผมถูกฝึกมาอย่างนั้น พรรคเป็นของทุกคน พรรคก็เป็นของผม แต่ผมต้องหาคนรับผิดชอบให้ได้ เมื่อไม่มีใครรับผิดชอบ ผมต้องเลือกปกป้องพรรค”
อีกทั้งยัง แนะนำให้คณะกรรมการบริหารพรรค 36 คน ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ถ้อยคำของ “วิทยา” อาจวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเปิดหน้า - ท้าชน ยุให้มีการเร่งเกมเขี่ยหัวหน้าพรรค
ในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 37 ข้อ กรรมการบริหารพรรคพ้นตำแหน่งทั้งคณะเมื่อ
1.หัวหน้าพรรคลาออกจากตำแหน่ง 2.ครบวาระ 4 ปี 3.ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 4.ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ขององค์ประชุมของที่ประชุมให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
ด้วยเหตุนี้ หากกรรมการบริหารพรรคลาออกเกินครึ่ง ก็จะต้องมีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ ทำนองเดียวกับการเขี่ย 4 กุมาร พ้นพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2563
เพื่อให้พรรคประชาธิปัตยไม่ตกต่ำ – ต่ำร้อยมากไปกว่านี้
พรรคประชาธิปัตย์ อยู่บนเส้นทางการเมืองไทยมาถึง 76 ปี ผ่านสนามเลือกตั้งมาแล้ว 19 ครั้ง
1. 26 ก.พ. 2500 ได้ ส.ส.30 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 160 คน
2. 15 ธ.ค. 2500 ได้ ส.ส.39 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 160 คน
3. 30 ม.ค. 2501 ได้ ส.ส.13 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 26 คน
4. 10 ก.พ. 2512 ได้ ส.ส. 55 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 219 คน
5. 26 ม.ค. 2518 ได้ ส.ส. 72 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 269 คน
6. 4 เม.ย. 2519 ได้ ส.ส.114 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 279 คน
7. 22 เม.ย. 2522 ได้ ส.ส.35 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 301 คน
8. 18 เม.ย. 2526 ได้ ส.ส.56 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 324 คน
9. 27 ก.ค. 2529 ได้ ส.ส. 100 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 347 คน
10. 24 ก.ค. 2531 ได้ ส.ส.48 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 357 คน
11. 22 มี.ค. 2535 ได้ ส.ส. 44 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 360 คน
12. 13 ก.ย. 2535 ได้ ส.ส. 79 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 360 คน
13. 2 ก.ค. 2538 ได้ ส.ส.86 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 391 คน
14. 17 พ.ย. 2539 ได้ ส.ส. 123 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 393 คน
15. 6 ม.ค. 2544 ได้ ส.ส. 130 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 500 คน
16. 6 ก.พ. 2548 ได้ ส.ส.96 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 500 คน
17. 23 ธ.ค.2551 ได้ ส.ส. 164 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 480 คน
18. 3 ก.ค. 2554 ได้ ส.ส.160 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 500 คน
19. 24 มี.ค. 2562 ได้ ส.ส.52 คน จากที่นั่ง ส.ส.ในสภา 500 คน
พรรคประชาธิปัตย์ ผ่านยุคตกต่ำ ยุครุ่งเรืองมาแล้วหลายหน ทว่าหลังเจอแผ่นดินไหวระดับ 9 ริกเตอร์ อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ เหลือแต่โครง....
ข่าวที่เกี่ยวข้อง