นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (4 มี.ค.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท.) และ ธปท.ได้หารือร่วมกันถึงทิศทางการค้าโลก การส่งออกของไทยและค่าเงิน โดยเห็นร่วมกันว่าบรรยากาศการค้าโลกในปีนี้โดยรวมเศรษฐกิจโลกจะท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และโจทย์สำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้อย่างไร
สำหรับการส่งออกของไทยที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะบรรยากาศการค้าโลก (global trade) การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งการปรับลด inventory (สินค้าคงคลัง) ของผู้ประกอบการจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มชะลอลง เช่น การส่งออกของสิงคโปร์ที่ติดลบมากกว่าร้อยละ 10 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ. 2562)
ขณะที่ การส่งออกในบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลงเป็นผลจากสงครามการค้าที่มีผลกระทบเริ่มชัดเจนมากขึ้น และแนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับบรรยากาศของการค้าระหว่างประเทศ และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบของค่าเงินต่อการส่งออกมีไม่มาก และความสัมพันธ์ของสองเรื่องนี้ไม่ชัดเจน ดังที่เห็นได้จากการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ชะลอลง แม้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้แข็งค่าเท่าเงินบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2.3 เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ขณะที่เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่า ดังที่เห็นจากตัวเลขส่วนนี้ว่าเป็นการไหลออกสุทธิ
ภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) และประเทศเพื่อนบ้าน โดยการแข็งค่าและความผันผวนของเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ได้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว ในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ตามความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ดังนั้น ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ด้าน อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำได้หลายวิธี เริ่มจากการเลือกกำหนดราคาสินค้า (invoicing) ในรูปเงินบาทหรือเงินสกุลคู่ค้า แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาผันผวนมาก ส่วนหนึ่งจากนโยบายในเรื่องสำคัญ เช่น สงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังเลือกกำหนดราคาในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบร้อยละ 80 แม้จะค้าขายกับผู้ประกอบการสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 10 กว่าเท่านั้นเอง
สำหรับผู้ประกอบการที่ในอนาคตมีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ก็อาจฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน ซึ่งปัจจุบัน ธปท. ได้เผยแพร่อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD บนเว็บไซต์ ธปท. เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD ระหว่างธนาคารได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลจากการที่ สรท. ได้เข้าหารือกับ ธปท. ในการหารือครั้งที่ผ่านมา
โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อ options ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีโครงการ FX Options ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อ options หรือ lock rate เพื่อประกันความเสี่ยง โดยโครงการในระยะที่ 2 ได้ขยายวงเงินค่าธรรมเนียมที่ภาครัฐสนับสนุน จาก 30,000 บาท เป็น 50,000 บาทต่อราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมได้ ในมูลค่าประมาณ 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.75 ล้านล้านบาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
(วชิรา อารมย์ดี)
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือได้หลากหลาย ธปท. ได้ผลักดันให้มีการเปิดเผยราคา forward บนเว็บไซต์ ธปท. เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิง ในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว และสนับสนุนการต่อรองราคาได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธปท. ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน เช่น ลดขั้นตอนและเอกสารประกอบการทำธุรกรรมรวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนไทยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในไทย ในวงเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และภาคเอกชนที่ต้องการความสะดวกในเรื่องการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศสามารถสมัครเป็น Qualified companies (QC) ได้ ซึ่งจะทำให้คล่องตัวขึ้นในเรื่องการแสดงเอกสารหลักฐาน
สุดท้ายนี้ ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และจะช่วยให้มีอำนาจในการกำหนดราคา (pricing power) ได้ดีขึ้นในระยะยาว
สรท. และ ธปท. เห็นร่วมกันว่า ท้ายที่สุดในระยะยาวไม่มีใครสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะเรื่องนี้เป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้เป็นสำคัญ แต่โจทย์ที่อาจจะสำคัญมากกว่าและต้องร่วมมือกัน คือ การช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะอยู่กับเราอีกนาน
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ หวั่น 'บาทแข็งเร็ว' เขย่าขวัญผู้ประกอบการ ฉุดส่งออกปีนี้ต่ำเป้า
ด้าน น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้หารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท. ถึงแนวทางดูแลผลกระทบจากเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงปีนี้ และกระทบกับการส่งออกนำเข้าของไทย โดย สรท. ขอให้ ธปท. ดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปีนี้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน ซึ่งเป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและอ่อนค่าในบางช่วง รวมทั้งจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2561 ที่ติดลบต่อเนื่องกันมา 3 เดือนจนถึง ม.ค. 2562
อีกทั้ง ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว แม้ยังยอมรับได้ แต่ต้องมองไปในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งหลังจากได้หารือร่วมกับผู้ว่าฯ ธปท.แล้ว ก็มีความเข้าใจมากขึ้น เพราะ ธปท.เองต้องดูแลหลายภาคส่วนไปพร้อมกัน
ประธาน สรท. กล่าวว่า จะย้ำให้สมาชิกของ สรท.ใช้เครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงและซื้อขายเป็นสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.เปิดให้ทำการค้าขายต่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล ประกอบด้วย เงินหยวนของจีน, เงินเยนของญี่ปุ่น, เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และเงินริงกิตของมาเลเซีย
ขณะเดียวกัน ยังต้องการเห็นประเทศในอาเซียนการค้าขายกันโดยใช้สกุลเงินของอาเซียน เพราะการส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนมีสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 25
อย่างไรก็ตาม ประธาน สรท. ยอมรับว่า มีความกังวลว่ามูลการส่งออกปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5 ซึ่งต้องขอดูตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1 นี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะพิจารณาว่าจะทบทวนเป้าส่งออกปีนี้ใหม่อีกครั้งหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :