สุรนาถ แป้นประเสริฐ วัย 35 ปี กลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ซึ่งว่าด้วยการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินี หลังจากเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา เขาเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุม "คณะราษฎร" ชูสามนิ้วและตะโกนโห่ร้องขณะที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเคลื่อนที่ผ่านถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล
“ผมแปลกใจมาก ทราบเรื่องนี้จากเพื่อนๆ และคนรู้จัก เขาบอกว่าเห็นผมในโทรทัศน์และสื่อออนไลน์”
สุรนาถ ได้ติดต่อไปยังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อปรึกษา และเตรียมเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 9.00 น. ที่ สถานีตำรวจนครบาลดุสิต
“ผมจะเข้ามอบตัวและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ผมไม่มีเจตนาเหมือนที่ถูกกล่าวหา”
ช่วงเย็นวันที่ 14 ต.ค. หลังจากเลิกงาน สุรนาถ ขับมอเตอร์ไซค์หวังไปร่วมชุมนุมกับเพื่อนๆ เขาจอดรถบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ
ตอนนั้นผู้ชุมนุมกำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเบรกไม่ให้วางแบริเออร์ปิดเส้นทางเดินม็อบ
“ผมและน้องๆ เข้าไปเจรจา อย่ากั้นๆ ให้คนเดินหน่อย เราก็เถียงกันว่ายังไงพี่ๆ มีการดึงดันเกิดขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ”
สุรนาถเล่าว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้บอกกับผู้ชุมนุมว่า “ขอผ่านเลนหนึ่ง” แต่ไม่ได้แจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จแต่อย่างใด
“ไม่มีใครรู้ และตำรวจก็ไม่ได้ประกาศว่าจะมีขบวนเสด็จ” เขาบอกและประเมินว่าตอนนั้นมีผู้ชุมนุมราวๆ 200 ราย
เมื่อถามว่า คุณได้ร่วมชู 3 นิ้วและกล่าวประโยคที่ว่า “ภาษีกู” ตามที่ปรากฏในคลิปซึ่งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางด้วยหรือไม่
“ใช่ครับใช่” สุรนาถบอก “ผมไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้าย เรารู้ว่าเราไปร่วมชุมนุมเพื่ออะไร ไม่มีใครคิดจะไปใช้ความรุนแรง”
ตอนนี้เขาพยายามตั้งสติภายใต้ความกังวลใจ อยู่ระหว่างจัดการอารมณ์และสื่อสารให้ครอบครัวเกิดความสบายใจมากที่สุด
“ผมยังมีความหวังและมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง”
การถูกตั้งข้อหาร้ายแรงที่มีโทษมากกว่าสิบปี จากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทำให้สุรนาถผิดหวังและเห็นว่า อนาคตทุกคนมีสิทธิโดนเอาผิดได้เช่นกัน จากเรื่องที่เหนือความคาดหมาย
“ทำไมต้องมาเป็นผม ผมก็งงเหมือนกัน ผมใช้สิทธิเสรีภาพแบบที่ทุกๆ คนมีและใช้กัน ไม่ได้จ้องจะเข้าไปปะทะกับใคร ข้อหานี้ผมก็ไม่เคยได้ยินและบางคำยังไม่เข้าใจเลย”
สุรนาถ ถือเป็นผู้ต้องหาตามความผิด ม.110 รายที่ 3 จากกรณีขบวนเสด็จบนถนนพิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ต่อจาก เอกชัย หงส์กังวาน และ บุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักกิจกรรมทางการเมือง โดยบุญเกื้อหนุน ได้รับการประกันตัว ส่วน เอกชัย ศาลไม่อนุญาต
สุรนาถบอกว่าเขาคิดเหมือนกับ ‘กลุ่มราษฎร’ ที่หวังให้ประเทศชาติและคุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น มีกติกาที่เป็นธรรม และบังคับใช้อย่างเท่าเทียม
“ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองที่ดีขึ้น เห็นน้องๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้ มันทำให้ผมเห็นความหวัง เราทำทุกอย่างก็ต้องมีความหวังทั้งนั้น”
สุรนาถ เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active Youth) หนึ่งในเครือข่ายรณรงค์ด้านเด็กและเยาวชน รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ “บางกอกนี้...ดีจัง” ที่เปิดพื้นที่และโอกาสให้กับเด็กๆ ได้สร้างสรรค์ ออกแบบความคิด และพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อพาให้เขาห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเป็นปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด อบายมุข เป็นต้น
“ผมรู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันสนุกนะ ให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขโดยใช้ความเป็นธรรมชาติของเขา ใช้ทักษะบางอย่างที่เขามีในด้านบวก เช่น งานรณรงค์ กิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านตัวประเด็นปัจจัยเสี่ยงชุมชน” สุรนาถ บอกกับเว็บไซต์ happinessisthailand
โดยแรงบันดาลใจในการตั้งกลุ่มมาจากปัญหาที่ตัวเขาเองก็เคยเป็นต้นเหตุ “ผมโตมาจากชุมชนที่มีปัญหา และผมเองก็เคยสร้างปัญหาให้กับชุมชน ผมติดยา ผมค้ายา”
ทั้งนี้โครงการ “บางกอกนี้...ดีจัง” มีมาแล้วถึง 7 ปี ทำงานร่วมกับเครือข่าย ชุมนุม และโรงเรียนต่างๆ
มาตรา 110 ประมวลกฎหมายอาญา ระบุไว้ดังนี้