โค้งสุดท้ายก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของไทย มีสื่อต่างประเทศหลายสำนักติดตามรายงานบรรยากาศอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดในวันที่ 19 มี.ค. สำนักข่าวเอเอฟพีได้เผยแพร่รายงานชื่อว่า Deaths, jail and cyber spies: The dangers of dissent in Thailand กล่าวถึงชะตากรรมของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทหารไทย ทั้งที่ลี้ภัยการเมืองไปพำนักที่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกรัฐบาลทหารจับตามอง โดยสะท้อนว่า ไทยยังถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต้องเผชิญกับชะตากรรมหลายอย่าง ทั้งความตาย โทษจำคุก และการสื่อสารในโลกไซเบอร์ถูกจับตามองหรือสอดส่องจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เอเอฟพีรายงานว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค.2557 เป็นต้นมา ผู้ต่อต้านรัฐประหารหลายรายต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุมและตั้งข้อหา โดยผู้ลี้ภัยการเมืองไทยจำนวนหนึ่งเลือกจะไปพำนักยังประเทศลาว แต่เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว มีการพบศพ 3 ศพในแม่น้ำโขงที่เชื่อมต่อระหว่างฝั่งลาวกับไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2 ใน 3 ศพได้รับการชันสูตรจากทางการไทย และยืนยันได้ว่า คือ นายไกรสรณ์ ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) และนายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) คนสนิทของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ 'สุรชัย แซ่ด่าน' อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและกลุ่มแดงสยาม ซึ่งคาดว่าจะเป็นศพแรกที่มีผู้พบเห็นในแม่น้ำโขงก่อนจะสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย
ขณะเดียวกัน เดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของลูกชายนายชัชชาญ ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พ่อของเขาและสหายอีก 2 คนถูกฆ่า เพราะทั้งหมดยังคงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารและสถาบันหลักของไทยอย่างต่อเนื่อง และในความเห็นของเขามองว่าการตายที่เกิดขึ้น เปรียบได้กับการส่งสัญญาณไปยังกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้วิพากษ์วิจารณ์ขั้วอำนาจในปัจจุบันให้ตระหนักว่า ประเทศไทยไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเขา
ส่วน 'ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์' หรือ 'ป้าน้อย' ภรรยาของสุรชัย เชื่อว่าสามีของตนไม่มีคู่ขัดแย้งอื่นใดอีกนอกเหนือจากรัฐบาลทหาร และตนเองรู้สึกเศร้าเสียใจอย่างมาก เพราะสามีของตนไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแค่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาล และสิ่งที่มีผู้กระทำต่อเขานั้น โหดร้ายเกินไป
ทั้งนี้ ศพทั้งสามศพที่พบในแม่น้ำโขง อยู่ในสภาพถูกมัดมือไพล่หลัง ใบหน้าเละจนไม่สามารถระบุตัวตนได้ และช่วงท้องถูกคว้านเพื่อยัดแท่งปูนเอาไว้ โดยคาดว่าผู้ก่อเหตุจะทำเช่นนั้นเพราะไม่ต้องการให้ศพลอยขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม การ์เดียนรายงานว่า สุรชัยเป็นผู้มีรางวัลนำจับที่ออกโดยทางการไทย คิดเป็นเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูง ทำให้การลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านของไทยไม่ปลอดภัยอีกต่อไป และแม้จะยังระบุไม่ได้ว่าผู้ที่ลงมือสังหารผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใด แต่ก็เชื่อว่าพวกเขาต้องถูกบังคับพาตัวไปจากที่พัก เพราะรถของพวกเขายังจอดที่เดิม ประตูและหน้าต่างถูกเปิดกว้างเอาไว้ และยารักษาโรคประจำตัวของสุรชัยก็ถูกทิ้งไว้ที่โต๊ะตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติถ้าหากจะพูดว่าพวกเขาออกจากที่พักไปเองในสภาพนี้
นอกเหนือจากสุรชัย ไกรสรณ์ และชัชชาญ ยังมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยพำนักอยู่ในลาวอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในลาวหายตัวไปแล้ว 2 ราย ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น หรือ 'ดีเจซุนโฮ' หายตัวไปตั้งแต่ปี 2559 และวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ 'โกตี๋' หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง หายตัวไปเมื่อปี 2560 ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายแห่งได้เรียกร้องให้ทางการลาวตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อกรณีทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ส่วนความกดดันอื่นๆ ที่ผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทหารในประเทศไทยต้องเผชิญไม่ต่างกับผู้ลี้ภัยในต่างแดน ได้แก่ การใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจับกุมและดำเนินคดีผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือ พ.ร.บ.ไซเบอร์ ซึ่งมักถูกนำไปใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อมูลหรือโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ จับกุมและตั้งข้อหานักกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ โดยเอเอฟพียกตัวอย่าง 'ณัฏฐา มหัทธนา' นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาหลังจากออกมารณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองและการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งตามสัญญา
ขณะที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งรัฐบาลทหารนำมาใช้จับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐบาลนับร้อยคนช่วงปี 2557-2560 กลับมีจำนวนลดลงจนเหลือศูนย์คดีในปี 2561 แต่ 'ไทเรล ฮาเบอร์คอน' นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงทางการเมืองไทย ระบุว่า กฎหมายนี้อาจจะไม่ถูกนำมาใช้ในช่วงนี้ แต่ก็จะไม่มีทางถูกยกเลิกไปอย่างแน่นอน
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการวางกรอบกติกาภายใต้รัฐบาลทหาร ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันกลับมาอยู่ในอำนาจอีกครั้ง และ กฎหมายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมจะถูกนำมาใช้ปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐบาลต่อไปในอนาคต รวมถึง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฉบับต่างๆ ที่ผ่านออกมาในสมัยของรัฐบาลทหาร
ที่มา: AFP/ CNA/ The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: