ไม่พบผลการค้นหา
ผู้หญิงข้ามเพศเมืองพัทยาร้องเรียนว่าเธอกำลังถูกเลือกปฏิบัติ ห้ามเข้าร้านอาหารและโรงแรมบางแห่ง โดยคำปฏิเสธเหล่านั้นได้สร้างความอับอายและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเธอ

“ขอโทษนะครับ คุณเป็นกะเทยหรือเปล่า ถ้าเป็นห้ามเข้า” ประโยคคำถามและป้องปรามจากพนักงานประจำร้านอาหารที่กล่าวกับ ‘เบลล่า’ นฤเบศ ศรียงยศ ขณะเดินเคียงข้างแฟนหนุ่มชาวต่างชาติ สร้างความผิดหวัง อับอาย ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับเธอ

สถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ฉากในละครแต่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เมืองพัทยาและไม่ได้มีเพียงแค่ ‘เบลล่า’ เท่านั้นที่กำลังเผชิญกับการถูกกีดกันทางเพศจากร้านอาหาร ผับบาร์ และโรงแรม


กะเทยห้ามเข้า

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา เบลล่า เดินควงแขนแฟนหนุ่มชาวต่างชาติอย่างหวานชื่นตามแบบฉบับของคนรัก เตรียมก้าวเข้าร้านพิซซ่าริมชายหาดพัทยา ก่อนจะถูกเบรกโดยพนักงานประจำร้าน 

“ขอโทษนะครับ เป็นกะเทยหรือเปล่า” คำถามจากพนักงาน 

“เป็นค่ะ” เบลล่ายอมรับ

“ถ้าเป็น เข้าไม่ได้นะครับ” พนักงานอธิบายว่าเป็นกฎของร้านที่ห้ามเพศที่สามหรือกะเทยย่างกรายเข้ามา

สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความแปลกใจและความอับอายให้กับกะเทยวัย 22 ปีรวมถึงแฟนหนุ่มเป็นอย่างมาก

“เราเสียใจและน้อยใจนะ ไปเที่ยวมาหลายประเทศไม่มีปัญหา แต่บ้านตัวเองเรากลับเข้าไม่ได้” 

เธอกล่าวว่าไม่ควรมีธุรกิจใดเอาเรื่องเพศมากีดกันโอกาสของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างพัทยา 

1291134.jpg

(เบลล่า นฤเบศ ภาพจาก Patricia Mazzera , Naruebet Isabella Thai Sriyongyot)

ไม่ต่างจาก ‘แอนนา’ อัญชณาภรณ์ พิลาสุตา สาวข้ามเพศที่อาศัยอยู่เมืองพัทยามามากกว่า 10 ปี ถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นประจำจากร้านอาหาร ผับบาร์และโรงแรม เธออ้างว่า ปัจจุบันเมืองพัทยามีร้านอาหารราว 4-5 ร้าน สถานบันเทิง 5-6 แห่ง และโรงแรมอีก 5 แห่ง ที่เลือกปฏิบัติและกีดกันคนข้ามเพศ  

“กะเทยก็คนป่ะ ฉันใช้เงินซื้อกินนะ ไม่ได้เข้ามานั่งเฉยๆ” เธอแสดงความผิดหวัง

“บางที่ปฏิเสธตรงๆ เลย กะเทยห้ามเข้าครับ บอกเป็นกฎระเบียบของร้าน ขณะที่บางแห่งต้องจ่ายเงินค่าเข้า มีตั้งแต่ 100 - 1000 บาท บางแห่งชาร์จค่าเครื่องดื่ม ผู้หญิง 100 บาท กะเทย 150” แอนนาเล่า

คำอธิบายที่พนักงานมักใช้กับกะเทยคือ เกรงว่าจะเข้าไปเข้าความเสียหาย เช่น ทะเลาะวิวาท รบกวนลูกค้า รวมถึงค้าประเวณี 

“อย่าเหมารวมทุกคนได้ไหม เพศอื่นก็มีโอกาสทำผิด ไม่ใช่แค่กะเทย” สาวข้ามเพศวัย 33 ปีบอกด้วยน้ำเสียงดุดัน  


ความผิดไม่เกี่ยวกับเพศ 

“เฉพาะกะเทยที่มีรูปลักษณ์เป็นหญิงเท่านั้น พวกหัวโปกไม่เกี่ยว” ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เมืองพัทยา

เธอบอกว่า การไม่ให้กะเทยเข้าร้านหรือโรงแรม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรงและชัดเจน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่ได้รับสมญานามว่า ไทยแลนด์แดนสวรรค์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ศิริศักดิ์ ระบุว่า ประเทศไทยตอบรับเป็นภาคีในอนุสัญญาจาก Universal Periodic Review หรือ UPR ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) โดยมีการกำหนดและข้อเสนอแนะทั่วไปเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติที่ครอบคลุมเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีหลักการให้ยึดถือตามคำชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) โดยได้รับข้อเสนอแนะในประเด็น “ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ซึ่งไม่ใช่การมองเพียงแค่เรื่องค่าแรงที่เท่าเทียม การไม่ใช้แรงงานเด็ก ฯลฯ แต่ยังรวมถึงการเคารพในศักดิ์ศรีทางเพศอย่างเท่าเทียม ซึ่งหมายถึงทั้งระบบของธุรกิจจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าเรื่องพนักงาน แรงงาน เอกสาร การรับสมัครงาน การเลื่อนตำแหน่ง และการให้บริการ เป็นต้น

ทั้งนี้ประเทศไทยยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่มีบทบัญญัติว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และมีโทษทั้งจำคุกและปรับ

“เห็นชัดเลยว่าธุรกิจร้านอาหารนี้ที่ไม่รับลูกค้าที่เป็นกะเทย ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด รวมถึงผิดกฎหมาย”  


เพศ

(ภาพโดย Wokandapix จาก Pixabay )

นักกิจกรรมอิสระบอกต่อว่า เหตุการณ์เลือกปฏิบัติเกิดขึ้นหลายครั้งหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพัทยาและกรุงเทพฯ ผับบาร์บางแห่งให้กะเทยจ่ายค่าเข้า 100 บาทต่อ 1 คน บางโรงแรมให้จ่ายสูงถึง 1,000 บาท ทั้งๆ ที่มากับเพื่อนหรือจะเข้าไปหาเพื่อนที่พักภายในโรงแรมนั้น โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เป็นกฎระเบียบของสถานประกอบการ แต่พนักงานบางแห่งยอมรับตามตรงว่า กลัวกะเทยก่ออาชญากรรม , ขโมยของลูกค้า และแอบขายตัวในร้าน

หากพิจารณาอย่างยุติธรรมแล้วเหตุผลเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่กะเทย ซึ่งวิธีจัดการปัญหาควรเอาเรื่องเป็นรายบุคคล ไม่ใช่เหมารวมกะเทยว่าเป็นอาชญากรทั้งหมด

“มันไม่ยุติธรรมเลย บุคคลไหนผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่ใช่เหมาเพศสภาพทั้งหมดแบบนี้”

เธอมองว่า การเหมารวมที่เกิดขึ้นเป็นการตอกย้ำความคิดที่สั่งสอนกันมานานในสังคม ทั้งในสถานศึกษา ศาสนา ครอบครัว ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีว่า “เป็นกะเทยแล้วไม่ดี อย่าเป็นกะเทยเด็ดขาด ขนาดร้านอาหารเขายังไม่ให้เข้าเลย” 

1291172.jpg

(ศิริศักดิ์ ไชยเทศ)


คนไม่ใช่ผีห่าซาตาน 

นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรียกร้องให้กลุ่มผู้ประกอบการกำหนดนโยบายในการดำเนินการธุรกิจ โดยคำนึงถึงการเคารพคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีการอบรมพนักงานทุกคนให้เข้าใจประเด็นความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชน และต้องสร้างหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเช่นนี้อีก 

“ทุกวันนี้พวกเขาต้องหลีกเลี่ยง ไม่อยากวุ่นวาย และหนีปัญหา ทั้งๆ ที่ไม่ควรเป็นปัญหา เราต้องการทวงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกเหยียบย่ำกลับคืนมา”  

ศิริศักดิ์ เชื่อว่าแนวทางปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทัศนคติของคนในชาติ การปรับทัศนคติเป็นเรื่องยากแต่เป็นเรื่องใหญ่ และต้องใช้เวลา ทุกคนต้องเข้าใจและตระหนักว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเพศไหน การกระทำความผิดไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นเพศ ขณะที่ในภาคธุรกิจการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ จะได้รับการชื่นชมและยกย่องในฐานะมนุษย์ที่ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม 


วอล์คกิ้งสตรีทไม่กีดกันเรื่องเพศ  

ผู้สื่อข่าวสอบถามร้านอาหารเเห่งหนึ่งในพื้นที่ใกล้ชายหาดเมืองพัทยาที่ตั้งกฎไม่รับกะเทยเข้าร้าน ผู้จัดการของร้านระบุผ่านโทรศัพท์ว่า เป็นเหตุผลด้านการใช้ห้องสุขาร่วมกับเพศหญิง ไม่ใช่เจตนากีดกันความหลากหลายทางเพศ 

ด้าน เมธากฤษณ์ สุนทรรส ประธานชุมชนวอล์คกิ้งสตรีทพัทยาใต้ เชื่อว่าพื้นที่วอล์คกิ้งสตรีทและเมืองพัทยาไม่มีการนำเรื่อง "เพศ" มากีดกันหรือปิดกั้นไม่ให้เข้าร้านอาหาร ผับ บาร์หรือโรงแรมเเต่อย่างใด 

การปฏฺิเสธไม่ให้ผู้ใดเข้าใช้บริการ คาดว่าเกิดขึ้นเพราะปัญหาในอดีตและการกระทำของคนบางกลุ่ม เช่น รบกวนแขก ขโมยทรัพย์สินหรือค้าประเวณี จนกระทบกับผู้บริสุทธิ์อื่นๆ ตามมา 

"เดือนหนึ่งค่าเช่าเป็นเเสน คนเอาเงินมาให้ ทำไมเขาจะไม่เอา"

เขาบอกต่อว่า สถานการณ์ในพื้นที่จริง มีกลุ่มค้าประเวณีจำนวนมาก หลายคนรบเร้าให้ลูกค้าซื้อบริการตามสถานที่ต่างๆ จนสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับบาร์ หรือโรงแรม 

"บางคนเข้าไปดึงเเขกออกมาจากร้านทั้งๆ ที่ลูกค้าอยากกินต่อ ภาพแบบนี้ก็มีให้เห็น" เมธากฤษณ์บอก 



kieu-lin-1076800-unsplash.jpg

(ภาพโดย Kieu Lin on Unsplash)

ในฐานะประธานชุมชนวอล์คกิ้งสตรีทพัทยา เขายืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ และโดยสภาพในพื้นที่ก็ชัดเจนอยู่เเล้วว่าเปิดโอกาสให้กับความหลากหลาย ประเด็นสำคัญคือ ถ้าทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีใครปิดกั้นหรือกีดกันอย่างแน่นอน 

"ทุกวันนี้ทุกเพศเท่าเทียมกันหมด ความรัก ความชอบเป็นเรื่องรสนิยม ไม่ใช่เรื่องน่าเกียจ พัทยาเสรีอยู่แล้ว เเต่อย่าทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน" เขาแสดงความเห็น  

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog