ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติกรอบวงเงินกว่า 5,400 ล้านบาท ระยะ 5 ปี เดินหน้า 'เมืองนวัตกรรม' ในพื้นที่ EECi สร้างระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์-ระบบอัจฉริยะ ฟาก สกพอ.เตรียมชงแผนรถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออกระยะที่ 2 วิ่งยาวจากกรุงเทพฯ ถึงตราด

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ส.ค. 2563 อนุมัติกรอบวงเงิน 5,408.77 ล้านบาท เดินหน้าโครงการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)

ทั้งนี้ โครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ (SI) นักนวัตกร ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้ และการทดลองปฏิบัติจริง ครอบคลุม Industry Assessment Tools, Learning Station/Line และ testbed/sandbox และรวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ บนพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเลย์โซน E (ARIPOLIS Pilot Plant) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

โดยมีโครงการย่อย 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.Reference Architecture and Standards หมายถึง งานบริการทดสอบและจัดทำมาตรฐาน 2.Service & Industry Promotion หมายถึง งานบริการและสนับสนุนอุตสาหกรรม สร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่และสนับสนุนการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีด้วยบริการครบวงจร 3.Workforce Development หมายถึง งานด้านการพัฒนาคน: เตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะแรงงาน สร้างและพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรในภาคเอกชน 4.Pilot Line หมายถึง ศูนย์สาธิต ด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 5.Industry 4.0 Testlabs /Tested bed and R&I หมายถึง งานบริการทดสอบต้นแบบและผลิตภัณฑ์ งานวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม รวมถึง การร่วมวิจัยและนวัตกรรมกับภาคอุตสาหกรรม 

โดยประโยชน์ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ พร้อมให้บริการแก่หน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยตลอดห่วงโซ่การผลิต (Value chain) 2.ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ รวมถึงหน่วยงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสามารถทดสอบการขยายผลการวิจัยพัฒนาไปสู่การลงทุนต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ด้วยความพร้อมทั้งทางเทคนิคและศักยภาพการแข่งขัน 3.ศูนย์กลางเครือข่ายองค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีเพื่อการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการของเขตนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกิดใหม่แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยและพร้อมสู่ระดับสากล ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดนักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยต่างชาติ และนักลงทุน 

ทั้งนี้ ประมาณการรายได้รวมของโครงการและผลตอบแทนจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาใน EECi ในระยะ 10 ปี จะเกิดรายได้สำหรับการพึ่งพาตนเองลดภาระรายจ่ายงบประมาณภาครัฐของโครงการ SMC จะมุ่งเน้นการบริการในกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่และกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนรวม 2,349.25 ล้านบาท

ปีหน้า สนง.อีอีซีจ่อชง 'ไฮสปีดเทรน' ระยะที่ 2 ระยอง-จันทบุรี-ตราด

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงแผนเชื่อมโยงโครงการสำคัญๆ ของอีอีซี ในจ.ระยอง อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยงจากสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ ผ่านฉะเชิงเทราสู่ชลบุรี และระยอง 9 สถานี ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสามารถเดินทางจากสถานีมักกะสัน ถึงอู่ตะเภาได้ภายใน 45 นาที ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้มีการคัดเลือกเอกชนและร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้าง 

ส่วนระยะที่ 2 เส้นทางเชื่อมสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีเป้าหมายเชื่อมโยงกรุงเทพฯ แบบไร้รอยต่อ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่จะจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ และเพื่อความสมบูรณ์ของการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการขนส่งสินค้า ให้เกิดการลงทุนในมิติต่างๆ เชื่อมไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 เป็นส่วนต่อขยายเพื่อเชื่อมโยงระยอง จันทบุรี และตราด มีระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเดินทางจากสถานีอู่ตะเภา ถึงจ.ตราดได้ในระยะเวลา 64 นาที โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และคาดว่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติโครงการได้ในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้ลงทุนได้ในปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2571 ซึ่งจะนำไปสู่โครงการต่อเนื่องคือ โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อยกระดับภาคตะวันออกสู่แหล่งผลไม้หลักของภูมิภาค

นอกจากนี้ โครงการต่างๆ จากอีอีซี ที่จะเกิดขึ้นใน จ.ระยอง มีทั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECCi) ที่จะนำจังหวัดระยองจะก้าวไปสู่ เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ประกอบกับโครองการพัฒนาขนส่งสาธารณะในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่จะมีการศึกษาและจัดทำเส้นทางระบบขนส่งมวลชนใน 6 เส้นทางหลัก ที่เชื่อมต่อจากทั้งสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่ใจกลางเมืองระยองด้วยฟีดเดอร์ และรถเมล์ไฟฟ้าที่ไร้มลพิษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มูลค่าด้านการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกร คู่กับอุตสาหกรรมสะอาด อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะอาร์ดีเอฟที่จะสามารถกำจัดขยะของเมืองได้ถึง 500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ และเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่พร้อมมีงานรายได้มั่นคงรองรับในอนาคต