ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) รายงานว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 และหดตัวมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/2554 โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว (technical recession) หลัง GDP หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส
สำหรับปัจจัยสำคัญที่เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2563 ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ผ่านการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่ภาครัฐมีการเบิกจ่ายล่าช้าทำให้รายจ่ายด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐปรับลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งกระทบด้วย
ทั้งนี้ EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากสุดในช่วงไตรมาส 2 จากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทั่วโลก โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการภาครัฐและมาตรการเปิดเมืองบางส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญคือหากมีการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในระดับที่น่ากังวล ก็อาจทำให้เศรษฐกิจหดตัวเพิ่มเติมได้
ดังนั้นสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวโน้มการหดตัวที่น่าจะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 2 รวมถึงการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก EIC จึงยังคงมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในไตรมาสที่ 2/2563 ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค. นี้