วันที่ 5 ส.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พรรคก้าวไกล นำโดย รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และพล.ต.ต.เชาวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลได้มายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีร่วมอนุมัติงบกลางให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จ่ายค่าหนี้ให้การบินไทย
โดยการมาร้องต่อ ป.ป.ช. ครั้งนี้ ต่อเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ครม.ทั้งคณะ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองบินตำรวจที่มีการเกี่ยวพันกับทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ รวมถึงผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) บางคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วย
ชัยธวัช กล่าวว่า เป็นกรณีแรกที่มายืานหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ และนายกไม่สามารถชี้แจงขอกล่าวหาได้ จุงได้ดำเนินการเอาผิด และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนที่ยื่นในวันนั้นเป็นคำร่องที่เอาผิด นายก และตำรวจระดับสูง เนื่องจากปล่อยให้ทำประพฤติไม่ชอบ และเตะถ่วงกระบวนการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ส่อทุจริต และร้ายกว่านั้นคือ คณะรัฐมนตรีกลับอนุมัติงบกลางไปช่วยเหลือในกรณีที่ใช้งบประมาณอย่างทุจริต รวมถึงกรณีที่ปล่อยปะละเลยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในบังคับบัญชาประพฤติในสิ่งไม่ควร คือ ขอความเมตตาให้ตนมีตำแหน่งในการถวายความปลอดภัยพระราชพาหนะ
ด้าน รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า กระบวนการในการยื่นข้อกล่าวหามี 3 เรื่องคือ การอนุมัติงบกลางเพื่อชำระหนี้การบินไทยจำนวน 965 ล้านบาท การแลกอะไหล่ และตั๋วช้าง เพื่อกราบบังคมทูลขอเป็นผู้อำนวยการการบิน ทั้งที่ไม่ได้เป็นนักบิน ส่วนคำยื่นที่แนบมานั้นแบ่งเป็น 2 คำร้อง คือเรื่องทุจริตคอรัปชั่น และเรื่องตั๋วช้าง โดยสาเหตุที่ต้องแบ่งเป็นเพราะความสะดวกในการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.
ส่วนของบุคคลที่กล่าวหาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายนั้น ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสำคัญในการใช้ภาษีของพี่น้องประชาชน ด้วยการอนุมัติงบฯ ย้อนหลังทำให้เกิดการผูกพันต่องบฯ ปี 2563 และกระทำในปี 2565 โดยอ้างความเร่งด่วน
รังสิมันต์ โรม กล่าวอีกว่า นอกจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังมี พล.ต.ต. กำพล กุศลสถาพร อดีตผู้บังคับการกองบินตำรวจ และพวกที่ได้เกี่ยวข้องการทุจริตดังกล่าว โดยการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เกิดวงเงินงบประมาณ และได้กล่าวหา พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และพล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะที่ไม่เร่งรัดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตรวจสอบภาระหนี้ จนแจ้งปฏิเสธหนี้ไม่ทัน รวมถึง พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์ม่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะผู้ลงนามอนุมัติแผน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องแต่งตั้ง พล.ต.ต.กำพล ให้เป็นเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ
รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ในส่วนข้อหา คือ การกระทำทั้งหมดมีความผิดในเรื่องของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามทุจริต 2561 มาตรา 172 ฐานละเว้นการปฏิบัติงาน และผิดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และพ.ร.บ.การถวายการรักษาความปลอดภัย 2560 และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
"ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลนี้ไม่กระทำในสิ่งที่ควรกระทำ คือ ทำให้การเมืองการปกครองโดยเฉพาะในเรื่องการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง เชื่อว่า เอกสารหลักฐานที่มี สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน" รังสิมันต์ โรม กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.เชาวลิต เลาหอุดมพันธ์ กล่าวว่า จากการที่พรรคก้าวไกลมอบหมายให้ตนดูเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ให้องค์กรตำรวจดีขึ้นในเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นอำนาจที่เป็นต้นตอของการทุจริต โดยตนเป็นกมธ.เสียงข้างน้อย ที่ถูกสกัดกั้นในข้อเสนอมาตราต่างๆ เนื่องจากเสียงในสภาไม่เพียงพอ และกฎหมายตำรวจที่ผ่านมาก็ยังปกป้องคนในองค์กรที่ออกมาเปิดโปงการกระทำผิด นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำไมองค์กรตำรวจจึงมีเรื่องอื้อฉาวมากมาย
"เรื่องนี้เป็นประเด็นเกิดจาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สังคมให้ความสนใจอย่างมาก สามารถเอาผิดต่อบุคคลที่ใช้อำนาจในการส่อทุจริตจริงๆ หรือไม่ ยอมรับว่า หลายปีผ่านมา ป.ป.ช. ถูกประชาขนมองส่าเป้นเครื่องมือผู้มีอำนาจ และฟอกขาวผู้มีอำนาจ" ชัยธวัช เสริม
ด้านตัวแทนจาก ป.ป.ช. ที่ออกมารับมอบหนังสือนั้น กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ในประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เลขา ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้สำนักสอบสวนติดตามทุกประเด็น และมีกรอบเวลา 180 วัน นอกจากหลักฐานที่ได้มาแล้ว ทาง ป.ป.ช. จะดำเนินการสอบสวนคู่ขนานไปด้วย