ไม่พบผลการค้นหา
การนัดชุมนุมของ “กลุ่มปลดแอก-ราษฎร” 7ส.ค.นี้ ไม่ใช่เพียงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือการจัดกิจกรรมการเมืองตามวงรอบเท่านั้น แต่เป็นวัน “เชิงสัญลักษณ์” ย้อนไปเมื่อปี 2508 เป็นวันที่กองกำลัง “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ได้ตั้งกองกำลังติดอาวุธ “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” เข้าโจมตีกองกำลังของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง”

โดยมีการปะทะกันด้วยอาวุธกับตำรวจครั้งแรกที่ บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม จึงถือว่าวันที่ 7 ส.ค. เป็น “วันเสียงปืนแตก” จึงถูกใช้เป็น “ตัวชูโรง” ในการชุมนุมครั้งนี้

หากดูสถานที่ที่ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” นัดชุมนุม คือบริเวณถนนราชดำเนิน โดยมีเป้าหมายคือพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งข้อเรียกร้องต่างๆ ที่สะท้อนว่า “เพดานการต่อสู่” ได้ขยับขึ้นมาอีกครั้ง หลังการจัดกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมา ในช่วงที่บรรดา “แกนนำปลดแอก-ราษฎร” อยู่ในเรือนจำ เช่น “กลุ่มไทยไม่ทน” นำโดย “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ก็ได้ลดเพนดานข้อเรียกร้องลง มาอยู่ที่การ “ขับไล่ประยุทธ์” เท่านั้น

แม้แต่การจัดชุมนุม “คาร์ม็อบ” ของ “บก.ลายจุด-สมบัติ บุญงามอนงค์” ที่มี “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” มาร่วมด้วยกัน ก็ขับเน้นไปที่การขับไล่นายกฯเป็นหลัก ผ่านการเรียกว่า “เครือข่ายไล่ประยุทธ์” เพราะมีหลายกลุ่มมาร่วมด้วย ที่สำคัญคือการดึงคนที่ “เดือดร้อน” จากรัฐบาล ในสถานการณ์โควิดมาร่วม รวมทั้งการดึงคนที่เคยเห็นต่างมาเป็นแนวร่วม จึงเป็นที่มาของ “สลิ่มกลับใจ” ที่เปิดตัวมากขึ้น ทั้งการมาชุมนุมและบนโซเชียลฯ

ณัฐวุฒิ เสื้อแดง นปช คาร์ม็อบ 848_1110234120648127851_n.jpg

ทั้งนี้ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมหลังการรำลึกครบ 1 ปี ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาชน’

การชุมนุมเมื่อ 1 ปีก่อน ช่วงหนึ่ง “ทนายอานนท์ นำภา” ได้ขึ้นปราศรัยเรื่องการ “ปฏิรูปสถาบันฯครั้งแรก” อันเป็นการ “เปิดประตู” ให้ข้อเรียกร้องการชุมนุมถูกยกระดับขึ้นมา นำมาสู่การชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ผ่าน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน

และการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อ 16 ส.ค. 2563 ที่ชู 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา บนหลักของ 2 จุดยืน ไม่มีการทำรัฐประหาร ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันคือการมี ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างแท้จริง

ดังนั้นวันที่ 7 ส.ค.นี้ ถือเป็น “หมุดหมายสำคัญ” ของการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น ในการ “ขยับเพดาน” ให้กลับมาเช่นเดิม รวมทั้งมีรายงานว่าการชุมนุมอาจ “ดาวกระจาย” ในพื้นที่ถนนราชดำเนิน ได้แก่ การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พระบรมมหาราชวัง และคาร์ม็อบ กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชานเพื่อประชาธิปไตย ที่ ทำเนียบรัฐบาล

คาร์ม็อบ Car mob 1 ส.ค. 64.jpgคาร์ม็อบ Car mob 1 ส.ค. 64.jpg

ในฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เตรียมป้องกันในรูปแบบที่ผ่านมา เช่น การตั้งตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น รวมทั้งการเตรียมรถน้ำ-แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง แต่ในครั้งนี้จะมีการเตรียม “ทรายดับเพลิง” ไว้ด้วย หลังการชุมนุมเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีเหตุปะทะหลังแกนนำยุติการชุมนุม เกิดขึ้นบริเวณดินแดง มีการขว้างเพลิงเกิดขึ้น

สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดมีการจัดกิจกรรม “คู่ขนาน” กับที่กรุงเทพฯ เช่น จ.นครพนม นัดหมาย “เปิดไฟหน้าบีบแตรแห่เก็บเห็ด ไล่ประยุทธ์” - “กลุ่มกระบี่ไม่ทน” นัดหมาย Car Mob กระบี่ “เหยียบยิกยุทธ์” – กลุ่มคนคอนจะไม่ทน – กลุ่มพิราบขาว จัดกิจกรรม “ส่งจดหมายถึงประยุทธ์” เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ออกคำสั่งในฐานะ หัวหน้า ศปม. ห้ามชุมนุม-มั่วสุมทั่วประเทศ ทำให้มีการตีความไปว่าเป็นผลพวงจาก “คาร์ม็อบเอฟเฟกต์” รวมทั้งการรับมือชุมนุมใหญ่ 7 ส.ค.นี้ หรือไม่

ซึ่งฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมคาร์ม็อบ แต่มองปรากฏการณ์คาร์ม็อบที่มีผู้มารวมจำนวนมากเพราะเป็นกิจกรรมที่แมสมากขึ้น และเป็นเทรนด์ใหม่ ทำให้เป็นที่สนใจ แต่ในระยะยาวคาร์ม็อบจะ “คงระดับ” ไว้ได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ติดตามต่อไป และมองว่ากิจกรรม “คาร์ม็อบ” ไม่ได้สร้างเอฟเฟกต์มากนัก เพราะเป็นกิจกรรมที่ “จัดระเบียบ” ได้ง่ายกว่าการชุมนุมเดินขบวนหรือปักหลักชุมนุม แต่เป็นกิจกรรม “เชิงสัญลักษณ์” ที่ฝั่งผู้ชุมนุมนำมาใช้แล้วได้ผลในแง่ภาพที่สื่อสารออกไป

คอนเทนเนอร์ ม็อบ 18 กค ในหลวง สถาบัน

สำหรับเดือน ส.ค.นี้ ถือเป็นเดือน “ชี้ชะตา” พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาโควิดอยู่หมัดหรือไม่ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 2 หมื่นรายต่อวัน รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตหลักร้อยต่อวัน

รวมทั้ง “มาตรการล็อกดาวน์” ที่ยังเข้มข้น ส่งผลในเรื่องเศรษฐกิจ-ปากท้องอย่างมาก ทำให้ “การชุมนุม” ถูกปลุกให้ขยับถี่ขึ้น เพื่อบีบ พล.อ.ประยุทธ์ บนเก้าอี้นายกฯ ไปพร้อมกับกลไกในสภาที่ “พรรคเพื่อไทย-ฝ่ายค้าน” เตรียมยื่นญัตติเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” เดือน ก.ย.นี้ รวมทั้งกระแสข่าว “นายกฯคนใหม่” จะมีในเดือน ต.ค.นี้ ที่ถูกพูดถึงในฝั่งฝ่ายค้าน 

แต่ในฝั่งผู้มีอำนาจต่างยังพูดตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่รอดปี 2564 ไปได้ ส่วนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นช่วงปี 65 แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์โควิด” ที่จะเป็นตัวชี้วัด ในส่วน “พรรคร่วมรัฐบาล” ยังคง “เหนียวแน่น” ไม่ไปไหน แม้จะถูกแรงกดดันให้ “ถอนตัว” ก็ตาม ทั้งหมดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะยังคงได้รับ “ไฟเขียว” ให้ไปต่อ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อย่าได้ประมาทไป

เพราะอะไรก็ไม่แน่นอน !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog