ไม่พบผลการค้นหา
รายงานเปิดเผยว่า บริษัทศูนย์กลางการค้าธัญพืชของโลกต่างรับกำไรอื้อ ในช่วงที่ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นจากภาวะสงครามและอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลต่อความกังวลว่าคนยากจน อาจจะเข้าถึงอาหารได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งกระแสเรียกร้องการเก็บภาษีลาภลอย จากผลกำไรอาหารที่พุ่งขึ้นในช่วงที่ประชาชนต่างตกอยู่ในความยากลำบาก

สี่บริษัทด้านการค้าธัญพืชเจ้ายักษ์ใหญ่สุดของโลก ซึ่งผูกขาดตลาดธัญพืชระดับโลกมานานกว่าหลายทศวรรษ สามารถสร้างผลกำไรหรือการขายได้เป็นประวัติการณ์หรือเกือบเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการซื้ออาจพุ่งแซงหน้าความต้องการขายอย่างน้อยไปจนถึงปี 2567 ซึ่งจะทำให้ยอดขายและผลกำไรของบริษัทด้านธัญพืชเพิ่มมากขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า

จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติพบว่า ราคาอาหารโลกพุ่งขึ้นมากกว่า 20% ในปีนี้ ในขณะที่ผู้คนราว 345 ล้านคนกำลังประสบกับความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน เทียบกับ 135 ล้านคนก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา 

โอลิเวอร์ เดอ ชูตเตอร์ ประธานร่วมของ IPES-Food (คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอาหารที่ยั่งยืน) และผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านความยากจนขั้นรุนแรงและสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า “ความจริงที่ว่ายักษ์ใหญ่ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกกำลังทำกำไรเป็นประวัติการณ์ ในตอนนี้ที่มีผู้หิวโหยกำลังเพิ่มสูงขึ้น และเห็นได้ชัดว่ามันไม่ยุติธรรม และเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต่อระบบอาหารของเรา ที่แย่ไปกว่านั้นคือ บริษัทเหล่านี้สามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิม เพื่อป้องกันวิกฤตความหิวโหยตั้งแต่แรก”

สี่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการค้าธัญพืชโลกอย่าง Archer-Daniels-Midland Company, Bunge, Cargill และ Louis Dreyfus ภายใต้องค์กรร่วมกันอย่าง ABCD ควบคุมตลาดการค้าธัญพืช 70-90% ของโลก “ตลาดธัญพืชทั่วโลกกระจุกตัวมากกว่าตลาดพลังงาน และมีความโปร่งใสน้อยกว่า ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแสวงหาผลกำไร” เดอ ชูตเตอร์ระบุ

เดอ ชูตเตอร์ชี้ว่า ราคาอาหารในปีนี้กลับพุ่งสูงขึ้น ทั้งๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณธัญพืชสำรองทั่วโลกอยู่มาก แต่ด้วยความโปร่งใสที่มีไม่เพียงพอจากบริษัทต่างๆ ในการแสดงจำนวนธัญพืชที่พวกเขามีอยู่ และไม่มีทางที่จะบังคับให้พวกเขาปล่อยขายเมล็ดพืชได้ทันท่วงที “เราต้องเข้าไปดูที่บริษัทค้าธัญพืชเจ้ายักษ์ และถามว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤต และถามถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ในตอนนี้” เดอ ชูตเตอร์ระบุ

มีรายงานพบว่า Cargill มีรายรับเพิ่มขึ้นกว่า 23% นับเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นสุดรอบนับรายรับของปีใน 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่ Archer-Daniels-Midland Company ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 

นอกจากนี้ ยอดขายธัญพืชของ Bunge ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบแบบรายปีในไตรมาสที่สอง แม้ว่าผลกำไรของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็ตาม รวมถึง Louis Dreyfus ที่มีรายงานผลกำไรในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 80% จากปีที่แล้ว โดยเป็นรายรับที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งในสี่ที่ 1.62 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ มีรายงานที่ไม่ได้รับการเปิดเผยของ NGO ที่เปิดเผยโดยสำนักข่าว The Guardian ว่า Archers-Daniels-Midland เพิ่มอัตรากำไรของตนเป็น 4.46% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 3.65% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2564 และ Cargill ที่เพิ่มอัตรากำไรของตนจาก 2.5% ในปีที่แล้วเป็น 3.2% ในปีนี้ อย่างไรก็ดี นักวิชาการเชื่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้ผลประโยชน์จากวิกฤตอาหารและเงินเฟ้อระดับโลก แต่อาจไม่ถึงขั้นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้กำลังรวมหัวกันเพื่อเพิ่มอัตรากำไรของตนเอง ในการเอาเปรียบประชาชนแบบผิดศีลธรรมในช่วงวิกฤตนี้

นอกจากนี้ มีนักวิการเสนอว่า อัตราการทำกำไรที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทค้าอาหารในโลก อาจถูกควบคุมได้ด้วยการออกมาตรการเก็บภาษีลาภลอย เพื่อฟื้นฟูความสมดุลของตลาดอาหารโลก และช่วยเหลือคนจนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารโลกในตอนนี้ เนื่องจากเมื่อความต้องการขายมีต่ำกว่าความต้องการซื้อ ช่องว่างดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการขึ้นราคาสินค้าอาหาร ยังผลให้บริษัทธัญพืชท่ามกลางวิกฤตสงครามยูเครนได้รับผลประโยชน์จากกลไกทางตลาดในครั้งนี้ไปโดยปริยาย

สาเหตุของการขึ้นราคาอาหารระดับโลกมีความซับซ้อนมาก แต่สงครามยูเครนเองเป็นส่วนสำคัญของวิกฤตนี้ เนื่องจากยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตธัญพืช น้ำมันดอกทานตะวัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปุ๋ยชั้นนำของโลก สงครามจึงได้ถีบให้ราคาอาหารทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีราคาที่ลดลงเล็กน้อยตั้งแต่นั้นมา ทั้งนี้ ความขัดแย้งกับรัสเซียในเรื่องการขนย้ายธัญพืชจากยูเครนเพื่อการส่งออกนั้น ได้รับการแก้ไขแล้วบางส่วน แต่การเก็บเกี่ยวธัญพืชจากยูเครนและรัสเซียจะได้รับผลกระทบทั้งในปีนี้และปีหน้าต่อเนื่องกันไป

ราคาพลังงานและปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากการรุกรานของรัสเซียในยูเครน ยังส่งผลกระทบ ในขณะที่ความต้องการขายที่ฟื้นตัวหลังจากการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตอาหารโลกเพิ่มเติม นอกจากนี้ การเก็บเกี่ยวข้าวในยุโรป อเมริกาเหนือ และอินเดียยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดยคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในแคนาดาเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวสาลีในแคนาดา และอุณหภูมิที่สูงขึ้นกับการเกิดไฟป่าในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายต่อธัญพืชเพิ่มขึ้นไปอีก


ที่มา:

https://www.theguardian.com/environment/2022/aug/23/record-profits-grain-firms-food-crisis-calls-windfall-tax?fbclid=IwAR0w_ABvd0iEb5bV3yDcm-KZGhf9ab5o8gwXNp9ahkSBcNoC3VWt7XejsaI