นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึง กรณีที่มหาวิทยาลัยขอความร่วมมือนักศึกษากลุ่มสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่ให้รายงานข่าวบรรยายพิเศษ การเกณฑ์ทหารเเละความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งนายเมธาเป็นหนึ่งในวิทยากร
โดยนายเมธา ให้ความเห็นว่าเป็นภาพสะท้อนถึงภาวะที่สังคมไทยยังอยู่ใต้ความกลัว ไม่แตกต่างจาก 5-6 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล คสช.แม้ว่าผู้มีอำนาจผันตัวเองเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากว่า 1 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และน่าเห็นใจที่อาจารย์หรือทางมหาวิทยาลัย อาจกลัวจะมีปัญหากับผู้มีอำนาจ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายกับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะของเอกชนในการจัดงานวิชาการได้ก็ตาม และโดยส่วนตัวมองว่า มหาวิทยาลัยควรจะเปิดพื้นที่วิชาการให้นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะการพูดถึงประเด็นสาธารณะและไม่ควรปิดกั้นสื่อมวลชนด้วย แม้เป็นสิทธิ์ ของมหาวิทยาลัยเอกชนที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ก็ตาม
นายเมธา กล่าวถึง การเกณฑ์ทหารเเละความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 ตามหัวข้อที่จะถูกเชิญไปบรรยายครั้งนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหารเพราะเป็น ระบบการเกณฑ์แรงงานยุคเก่า ที่มีกฎหมายที่ล้าหลังเป็นตัวกำหนด แต่ควรให้รับราชการทหารด้วยความสมัครใจของแต่ละคน เนื่องจากการเกณฑ์ทหารไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและสถานการณ์ความมั่นคงในยุคปัจจุบันทั้งของไทยและของโลก ที่สำคัญยังส่งเสริมระบบอำนาจนิยมและให้กองทัพมีอำนาจในสังคม ขณะที่ผู้สนับสนุนการเกณฑ์ทหาร มักอ้างถึงประเทศเกาหลีใต้ ทั้งที่เมื่อไม่นานมานี้กองทัพเกาหลีใต้เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพและลดจำนวนนายพล
ดังนั้น กองทัพไทยควรดูเป็นเยี่ยงอย่างด้วย เพราะหากไม่ปฏิรูปตัวเอง ประชาชนก็จะเรียกร้องให้ปฏิรูปอยู่ดี สำหรับ ประเทศไทยทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร จะมีการกระชับอำนาจเข้าไปสู่กองทัพ โดยหลังในปี 2549 มี พ.ร.บ.กลาโหม ที่เป็นการทำให้กองทัพเป็นรัฐ 2 รัฐ ที่ให้อำนาจการเลือกผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นของกองทัพเอง ทั้งที่กองทัพควรอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน และหลังการรัฐประหาร 2557 มีการแก้ไขกฎหมายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาย ในให้อำนาจหน่วยงานนี้อย่างล้นหลาม
เลขาธิการ ครป. ยังกล่าวถึงประเด็นการคงไว้ ซึ่งระบบการเกณฑ์ทหาร ภายใต้ระบบอำนาจนิยมของไทย เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้นำไปใช้พัฒนาศักยภาพกองทัพหรือสร้างทหารอาชีพและให้สวัสดิการ ซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไรนัก โดยมีภาระค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณโดยอ้างกำลังพล เป็นเงินหลายหมื่นล้านหรือกว่าแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งขาดความโปร่งใสไม่ได้รับการตรวจสอบและเป็นช่องทางให้มีการรั่วไหล หรือมีส่วนต่างในส่วนนี้ด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ให้ผู้มีอำนาจต้องการรักษาระบบอำนาจนิยมและระบบเกณฑ์ทหารในกองทัพไว้ และประเด็นนี้ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบและความความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สัมพันธ์กับเรื่องงบประมาณของกระทรวงกลาโหมและฝ่ายความมั่นคงด้วย
อ่านเพิ่มเติม