ไม่พบผลการค้นหา
หลังแผ่นดินไหวย่อมเกิดอาฟเตอร์ช็อกฉันใด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็สร้างแรงสะเทือนต่อการเมืองภาพใหญ่ฉันนั้น ด้วยเงื่อนไขที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาบนเก้าอี้นายกฯ เหลืออยู่เพียง 2 ปี เท่านั้น

เมื่อมีเงื่อนไขดังกล่าว บรรดาพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็สามารถหยิบฉวยมาเป็นอาวุธ ‘ทิ่มแทง’ หรือ ‘ปัดป้อง’ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทั้งนั้น แต่ใครจะคาดคิดว่า เหล่า ส.ว.จะลงมาเล่นเกมนี้ด้วย?

เพราะอยู่ดีๆ ส.ว.ตัวตึงอย่าง กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 158 ให้ยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ของนายกรัฐมนตรี เสีย หรือว่าง่ายๆ คือจับเลข 8 หงายลง ให้เป็นนายกฯ ได้แบบอินฟินิตี้!

กิตติศักดิ์ วุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา  ประท้วง สว สภา 0190726_22.jpg

ล่าสุด เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ตัวตึงอีกคน ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว ก็ได้แจงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป และ “ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่ทุกพรรคการเมืองก็ได้ประโยชน์ หาก แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ ก็ได้เป็นยาว”

ทันทีที่ข่าวนี้สะพัด พรรคการเมืองต่างๆ ก็เริ่มแบะท่าคัดค้าน แต่หากย้อนมองดูให้ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำได้จริงๆ หรือเป็นเพียงอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการเมืองกันแน่?


4 ด่านสุดหิน

‘วอยซ์’ ได้สอบถามไปยัง ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ผู้เป็นรองประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ และนักกฎหมาย ซึ่งมาช่วย ‘ดับไฟ’ ด้วยการบอกว่า ข้อเสนอแก้ไขวาระนายกฯ นั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ ส.ว. 2 ท่าน เท่านั้น และเมื่อมองไปยังข้อปฏิบัติจริง ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายดาย

เมื่อกางรัฐธรรมนูญออกมาดูแล้ว ก็พบว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว.นั้น ต้องเผชิญอย่างน้อย 4 ด่านสำคัญ คือ

1) รวมชื่อเสนอญัตติ มาตรา 256 กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือจาก ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาฯ หรือจาก ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ในสองสภา

จากหลักเกณฑ์นี้จะเห็นได้ว่า ส.ว.ไม่สามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยเสียง ส.ส. มาร่วมได้ เท่ากับว่าต้องใช้พลังล็อบบี้พอสมควรเพื่อให้ได้รายชื่อ 1 ใน 5 ของสองสภา หรืออย่างน้อย 136 คน จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 680 คน (ส.ส. 432 8น ส.ว. 248 คน) ของสองสภาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

กิตติศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา  แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชุมรัฐสภา -8451-C9D68C357D8D.jpeg

2) ระยะเวลา หาก ส.ว.สามารถชวน ส.ส.มาลงชื่อเสนอญัตติจนได้บรรจุในวาระการประชุม แต่ต้องไม่ลืมว่าสภาฯ ชุดปัจจุบันก็ใกล้จะหมดวาระเต็มทีในวันที่ 23 มี.ค. 2566 และสมัยประชุมรัฐสภาครั้งสุดท้ายของปีที่ 4 ก็จะปิดสมัยในวันที่ 28 ก.พ. 2566 กว่าจะได้พิจารณาต้องรอกฎหมายที่คั่งค้างอยู่ให้ผ่านไปก่อน ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ในสภา ‘3 วันหนี 4 วันล่ม’ นี้

หรืออีกทางคือต้องรอหลังเลือกตั้งทั่วไป และได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เอี่ยม ทว่าถึงคราวนั้นก็จะต้องลุ้นว่านายกฯ คนใหม่คือใคร และเมื่อนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังเป็นไปตามเจตนาของผู้เสนออยู่หรือไม่

3) ลงมติ ในการลงมติขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา หรือ 342 เสียง โดยต้องใช้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือ 83 คน ซึ่งก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

แต่ความยากจะอยู่ที่การลงมติในวาระสุดท้าย ซึ่งต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% ของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (พรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภาฯ) และ ส.ว. 1 ใน 3 เสียงของทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก ในเมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันตั้งแง่ประเด็นปลดล็อกวาระ 8 ปีนายกฯ กับ ส.ว.ถึงขนาดนี้

4) ต้องทำประชามติ มาตรา 256 ยังกำหนดไว้ด้วยว่า ในกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังที่ประชุมรัฐสภา ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ก่อนนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องให้ประชาชนทั่วประเทศลงคะแนน และเมื่อผลประชามติเห็นชอบจึงจะดำเนินการต่อได้

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติแต่ละครั้งก็ถือเป็นเรื่องยุ่งยาก ที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณสูงทีเดียว ทั้งยังไม่มีใครรับประกันได้ว่าคนไทยจะเห็นชอบด้วย


ละครตบตา?

เจอ 4 ด่านมหาโหดเหล่านี้ไป คงดูออกไม่ยากว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อาจจะตกไปอย่างรวดเร็ว หรือถึงอย่างไรก็ต้องใช้เวลานาน และอาจจะนานจน 2 ปีสุดท้าย ของ พล.อ.ประยุทธ์ หมดไปแล้วด้วยซ้ำ ซึ่ง ส..ว.เสรี เองก็เหมือนจะตระหนักถึงเรื่องนี้ดี แต่ก็ยังแสดงความเห็นแบบนี้ออกมา เพื่ออะไรกันแน่?

ขณะที่ ดิเรกฤทธิ์ มองว่า การเสนอยกเลิกระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้น เป็นเรื่องของระบบ มากกว่าตัวบุคคล กล่าวคือหากนายกฯ เป็นคนเก่ง คนดี แต่ถูกจำกัดสิทธิด้วยระยะเวลา 8 ปี ก็น่าเสียดาย พร้อมยกตัวอย่างว่าในบางประเทศมองการจำกัดเวลาเช่นนี้เป็นเรื่องล้าสมัยเสียด้วยซ้ำ เพราะในประเทศที่ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง จะไม่มีเรื่องการผูกขาดอำนาจเพราะ ‘อยู่นาน’ เหมือนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกังวลอยู่

ประยุทธ์ ประวิตร อภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชุมสภา  1AA273E16C4.jpeg

อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่า การจุดประเด็นต่ออายุนายกฯ ขึ้นมาเวลานี้ อาจเป็นใบสั่งจาก 1 ใน 2 ป. ผู้กุมเสียง ส.ว. เพื่อให้สอดคล้องกับการสวมเสื้อ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พลิกโฉมมาเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ว่าจะเป็นใบสั่ง จาก ป.ไหน เท่านั้นเอง?

หากมาจาก ป.ประยุทธ์ นี่คงเป็นการ ‘ปั่นราคา’ ให้ตัวเอง โดยกลบจุดอ่อนคือเวลาที่เหลืออยู่เพียง 2 ปี และบงการ ส.ว.ให้หาทางแก้กฎหมายให้ตัวเองอยู่ยาวได้ พร้อมกันนั้นก็แสดงบารมีดึงดูดให้บรรดา ส.ส.ที่ยังชั่งใจว่าจะเข้าซุ้ม ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ดีหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘ลุงตู่’ ยังมีโอกาส ‘อยู่ยาว’

แต่หากมาจาก ป.ประวิตร ก็คงเป็นการ ‘เตะตัดขา’ น้องรัก พยายามดิสเครดิตให้เห็นสภาพดันทุรังอยากเกาะเก้าอี้นานๆ ของนายกฯ (เกือบ) 8 ปี

แต่ไม่ว่าจะมาจากทางไหนก็ตาม ก็สะท้อนความจริงได้ว่า ท้ายที่สุด ส.ว. ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็น ‘อาวุธ’ ทำลายฝั่งตรงข้าม ก็กลับถูก 2 ป. ใช้ ‘ทิ่มแทง’ กันเอง เพื่อผูกรัดอำนาจไว้กับตัวให้ยาวนานที่สุด

สมาชิกวุฒิสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  นายก ประยุทธ์ เสรี สุวรรณภานนท์ -D328-44BC-BAC0-790F09362C9A.jpeg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog