ไม่พบผลการค้นหา
'อนาคตใหม่' จัดเวทีฟังปัญหา 20 จังหวัดภาคอีสาน ประชาชนร้องปัญหาที่ดิน-จัดสรรทรัพยากร "ธนาธร -พิธา" ร่วมลงสัตยาบัน 98 เครือข่าย - ชูธงกระจายอำนาจ - คืนสิทธิ์จัดการ "ท้องถิ่น"

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 ที่วัดป่าสระแก้ว ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร พรรคอนาคตใหม่ ยโสธร จัดเวทีรับฟัง "ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" โดยบรรยากาศในช่วงเช้ามีประชาชนทยอยเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการเปิดเวทีให้พูดถึงปัญหาของแต่ละพื้นที่ อาทิ ปัญหาถูกขับไล่จากที่ดินทำกินที่อยู่มาเนิ่นนานจากนโยบายทวงคืนผืนป่า, ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่, ปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น

โดยเวทีดังกล่าว เป็นการรวมตัวของประชาชน 20 จังหวัดภาคอีสาน รวมแล้วกว่า 3,000 คน เข้าร่วม

ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีดังกล่าว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธาน รวมถึง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในพื้นที่ภาคอีสานร่วมพบปะประชาชน อาทิ นายคารม พลพรกลาง, นายองค์การ ชัยบุตร, นายสำลี รักสุทธี, นายทวีศักดิ์ ทักษิณ, นายสุรวาท ทองบุ โดยทั้งหมดเดินทางมาร่วมฟังปัญหาและรับหนังสือร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนด้วยกัน 

"ธนาธร" ลั่นต้องยุติรัฐรวมศูนย์-ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการ

นายธนาธร กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่ จะไม่สามารถแก้ไขได้เลยถ้าเรายังอยู่ในรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กับนายกรัฐมนตรีที่่ไม่ศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ นโยบายทวงคืนผืนป่า การใช้มาตรการรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดำเนินคดี ขับไล่ รื้อถอน ตัดโค่นพืชผลเกษตรของพี่น้องนั้น เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เราไม่มีตัวแทนประชาชน เพราะถ้ามี ประชาชนจะออกมาบอก ส.ส.เพื่อให้นำไปตั้งกระทู้ถาม หรือยื่นญัตติได้ เพราะ ส.ส.มาจากประชาชน พวกเขาย่อมต้องฟังเสียงประชาชน ด้วยการหาทางแก้ไขให้ปัญหาทุเลาเบาจากลง

แต่รัฐบาลชุดนี้เขาไม่ได้มีฐานที่มาอย่างนั้น เพราะฐานค้ำยันของเขาคือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแจกกล้วย มาจากซื้องูเห่า เขาต้องเอาใจสิ่งหล่านี้โดยที่ไม่เห็นหัวประชาชน

"ฐานอำนาจเดียวของนักการเมือง ความชอบธรรมเดียวของนักการเมืองที่มีคือ เสียงของประชาชน ดังนั้น ในเบื้องต้น กมธ.สามัญจะทำหน้าที่ศึกษาและทำข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาผลกระทบ ส่วนระยะกลาง และระยะยาว เราจะจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้ประชาชน ให้มีสิทธิออกแบบ กำหนดอนาคตตัวเองได้ ซึ่งต้องทำจากท้องถิ่น ตรงไหนจะปลูกพืชอะไร ใช้น้ำอย่างไร ใช้ไฟอย่างไร ขนส่งมวลชนทำอย่างไร คนกรุงเทพฯ ไม่เกี่ยว นี่คือการยุติรัฐรวมศูนย์ นี่คือความฝันของเราในการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ"

เสนอ "แก้ 3 โครงสร้าง" - แต่สิ่งแรกต้องทำคือไล่รัฐบาล

นายธนาธร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ก็จะเดินต่อไปข้างหน้าอีก เรามีข้อเสนอการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 3 เรื่อง ซึ่งต้องทำให้ได้ นั่นคือ 1.พาประเทศไทยกลับเป็นประชาธิปไตย แก้รัฐธรรมนูญให้มีที่มาจากประชาชน 2.ปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำงานรับใช้ประชาชน และ 3.ยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้กับท้องถิ่นจัดการตนเอง

แต่จะเกิด 3 ข้อนี้ได้ อย่างแรกสุดที่ต้องทำคือ ไล่รัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งในเดือนหน้าจะมีกิจกรรมใหญ่นั่นคือ วิ่งไล่ลุง ให้พ่อแม่พี่น้องเตรียมตัวไว้ เพื่อที่จะออกมาวิ่งพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อบอกว่าพอกันทีกับอำนาจอยุติธรรม บอกว่าเราจะไม่ถอยไม่ทนอีกแล้ว เอาอำนาจของเรากลับคืนมา

"วันนี้ ผมขอให้กำลังใจกับทุกกลุ่มปัญหาที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคม และขอให้ท่านใช้พวกเรา อะไรที่ในฐานะที่พวกเราซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพอจะช่วยให้บรรเทาเบาลงได้ให้บอกมา เราจะพยายามทำให้เต็มที่ ส่วนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องเดินกันไปยาวๆ เอาประชาธิปไตยกลับคืนมา นั่นคือสิ่งที่เราจะทำและขอให้พี่น้องประชาชนเดินไปด้วยกัน" นายธนาธร กล่าว  

"พิธา" ปลุก ปชช.อย่ายอมรัฐทวงคืนที่ดินฝ่ายเดียว

นายพิธา กล่าวว่า วันนี้มีเครือข่ายพี่น้องประชาชนมาร่วมสะท้อนปัญหา อาทิ ปัญหาเขตป่าหรือเขตอุทยานทับที่ ข้อพิพาทประชาชนกับที่สาธารณประโยชน์ เพราะขณะที่ประชาชนโดนทวงคืนผืนป่า โดนทวงคืนที่ทำกิน แต่กลับมีเหมืองแร่ มีโรงงานน้ำตาล มีโรงไฟฟ้าชีวมวล ของนายทุนเกิดขึ้นมา ซึ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ ประชาชนบางพื้นที่ต่อสู้ในประเด็นปัญหาของพวกเขามาไม่ต่ำกว่า 30 ปี อย่างเช่นใน จ.ยโสธร เราพบว่าก็มีความพยายามเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวชั้นดีของประเทศ 6 ล้านไร่ แล้วไปเพิ่มโรงงานน้ำตาล ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน และทำให้เกิดมลพิษ

"เรื่องทวงคืนผืนป่ากับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะขณะที่พี่น้องประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตบนที่ดินทำกินของพวกเขา ซึ่งอยู่มาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคนได้ แต่พวกนายทุนสามารถเข้ามาได้ เปิดโอกาสให้แสวงหากำไรบนคนทุกข์คนยาก พวกเขาทำกับคนจนเหมือนเป็นอาชญากร โดนทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเขาไปรื้อถอน ตัดโค่นผลผลิตการเกษตรประชาชน ทำเหมือนอยู่ในภาวะสงคราม ดังนั้น ผมเลยอยากมาชวนประชาชนทวงคืนผืนป่าจากรัฐและนายทุน ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐทวงคืนผืนป่าจากคนจนฝ่ายเดียว" 

"ยุติธรรมทางเลือก" -ใช้หลัก "รัฐศาสตร์-สังคม-ปวศ." ร่วม

นายพิธา กล่าวว่า สำหรับงาน กมธ.การที่ดินฯ ที่ตนเป็นประธาน ตอนนี้ในระยะสั้น เรามีคณะทำงานทุเลาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน โดยเน้นทีมงานที่ใช้หลักยุติธรรมทางเลือก มีอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัย และภาคประชาชนเข้าร่วม เราเริ่มหาวิธีว่าทำอย่างไรไม่ให้แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยทางนิติศาสตร์หรือใช้การดำเนินคดีอย่างเดียว แต่ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ รวมถึงประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเคยทำสำเร็จแล้วในปี 2554 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงยุติธรรม ได้ส่งหนังสือเวียนในการชะลอคดี ไม่สั่งฟ้องประชาชน เพื่อที่จะเอาเรื่องของนโยบายมาคุยกัน 

"การรวมตัวของพี่น้องวันนี้ เป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง การรวมตัว แสดงพลัง สะท้อนปัญหาก็เป็นสิ่งที่ควรทำต่อเนื่อง ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วจบไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราด้วยที่มารับฟังปัญหา และมาเล่าให้พี่น้องประชาชนฟังว่าการทำงานของเราเป็นอย่างไร เรื่องร้องเรียนที่รับไป เอาไปทำอะไร ผลักดันอย่างไร โดยการตั้งกระทู้ ปรึกษาหา หรืออย่างไรก็นำมาบอกเล่า เพื่อให้พี่น้องได้เข้าใจระบบรัฐสภา ทั้่งนี้ ยังเป็นการเชื่อมข้อมูลระหว่างประชาชนกับเราในฐานะตัวแทนประชาชนด้วย เอาปัญหา เอาข้อมูลที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต การรวมตัวกันเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมึ และเป็นสิ่งที่เขาพึงจะทำกับพรรคการเมืองที่เป็นพรรคมวลชนของเขา" นายพิธา กล่าว  

"อภิชาติ" ชูปัญหาที่ดินเป็น "วาระแห่งชาติ" 

นายอภิชาติ กล่าวว่า ตลอดการทำงานของ กมธ.การที่ดินฯ ชุดปัจจุบัน มีปัญหาของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาแล้ว ราว 200-300 เรื่อง มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 12 ล้านคน โดยส่วนใหญ่มาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช. ซึ่งเรื่องนี้ไม่เฉพาะแต่ในภาคอีสานเท่านั้น แต่กระทบไปทั่วประเทศ มีคดีความเกี่ยวข้องกว่า 9 หมื่นคดี และที่สำคัญมีการใช้มาตรการรัฐที่เข้มข้นในการจัดการ ทั้งจับกุม ดำเนินคดี ไล่รื้อถอน ตัดโค่นพืชผลทางการเกษตร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก ซึ่งในส่วนของ กมธ.การที่ดินฯ การแก้ปัญหา ระยะสั้น เราจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทุเลาการบังคับเรื่องคดีความ ตลอดจนผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ขณะที่ระยะยาว มีความจำเป็นต้องศึกษาให้เห็นถึงปัญหา โดยเฉพาะปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน ซึ่งมีอยู่หลายฉบับมาก และกระจายอยู่กับหลายกระทรวง ไม่มีความเป็นเอกภาพ อีกทั้งต้องรับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริงด้วย

"ผมคิดว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ เราต้องทำให้เรื่องปัญหาที่ดินเป็นวาระแห่งชาติ ส.ส.ในฐานะตัวแทนของประชาชนต้องพูดเรื่องนี้ให้มากขึ้น ดังขึ้น พรรคอนาคตใหม่ มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เสียดายที่เรายังไม่มีอำนาจบริหาร แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้ใช้กลไกของ กมธ.ทำการศึกษา โดยเฉพาะที่เราได้เสนอญัตติให้ สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจาก ม.44 และประกาศคำสั่ง คสช. ซึ่งน่าเสียดาย แม้ว่าเราจะชนะจนจะได้ตั้ง กมธ. อยู่แล้ว แต่ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม ใช้กลไกพลิกแพลงโหวตใหม่จนไม่มีการตั้ง กมธ.วิสามัญ ดังนั้น ผมคิดว่า ประชาชนต้องออกมาส่งเสียงให้ดังขึ้นอีก ให้ ส.ส.ที่ไม่ฟังเสียงประชาชนเหล่านี้ได้ยิน ทำให้เขารู้ว่า อำนาจที่พี่น้องประชาชนมอบให้กับเขาไปนั้น เขาต้องใช้ทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อใช้รักษาความมั่นคงหรือสืบทอดอำนาจให้กับใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" นายอภิชาติ กล่าว 

ลงนาม 98 เครือข่าย- ปชช.ร้องขอความช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของกิจกรรม นายธนาธร นายพิธา และนายเลื่อน ศรีสุโพธิ์ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน 98 เครือข่ายได้ลงนามสัตยาบันร่วมกัน ในการผลักดักการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดขึ้น

จากนั้น นายธนาธร นายพิธา และ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้พบปะกับพี่น้องประชาชนที่มาร่วมสะท้อนปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ ได้มีนายบอง ศรีบุตรตา อายุ 73 ปี และ นางบังอร ษรจันทร์ อายุ 56 ปี ซึ่งเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ในพื้นที่ บ้านน้ำพุ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เข้ามากอดและร้องไห้ เนื่องจากสวนยาง 20 ไร่ ของนายบอง ซึ่งลงทุนปลูกหมดเงินไปกว่า 1 แสนบาท ต้นยางมีอายุ 7-8 ปี สามารถกรีดน้ำยางได้ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตัดทิ้งเกลี้ยง ปัจจุบันไม่มีที่ดินทำกินเหลือ ต้องประกอบอาชีพรับจ้าง ขณะที่นางบังอร บอกว่า ที่ทำกินราว 50 ไร่ ปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ ถูกเจ้าหน้าที่ยึดและนำต้นไม้มาปลูกแทน จนวันนี้ไม่หลงเหลือที่ทำกินแล้วเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :