นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมร้านจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ หรือ ฟู้ดทรัค มีจำนวนรถฟู้ดทรัคกว่า 1,500 คันทั่วประเทศ แบ่งเป็นอาหารคาวร้อยละ 57 อาหารหวานร้อยละ 14 และเครื่องดื่มร้อยละ 29 ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯกว่าร้อยละ 70 ที่เหลือ ร้อยละ 30 อยู่ในส่วนภูมิภาค
โดย กสอ.ได้ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย กรมการขนส่งทางบก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในการส่งเสริมและพัฒนาให้ฟู้ดทรัคมีมาตรฐานสากลที่เรียกว่า "สมาร์ทโฟร์ฟู้ดทรัค (SMART4 Food Truck)" เน้นความมีมาตรฐาน ความปลอดภัย และชีวอนามัย ทั้ง คน ครัว รถ และ ตลาด
ที่ผ่าน กสอ. ได้ฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้ได้มาตรฐาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม จำนวน 104 ราย และมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 2 รุ่น รวมจำนวนทั้งสิ้น 44 ราย รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวและสนับสนุนกันเป็นเครือข่ายของผู้ประกอบการฟู้ดทรัคเป็นฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทยขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมคลัสเตอร์จำนวน 136 ราย ซึ่งยังมีฟู้ดทรัคอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าร่วมการพัฒนาของ กสอ.
สำหรับกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ ว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะถูกไฟฟ้าดูด ขณะไปรับประทานอาหารที่ร้านฟู้ดทรัค เมื่อคืนวันที่ 2 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา นั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนข้อเท็จจริงอยู่ แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากรถฟู้ดทรัคหรือไม่ แต่ กสอ. ได้ตระหนักและเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการทุกรายเห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานสมาร์ทโฟร์ โดยเฉพาะในด้านของรถที่นอกจากจะมีความปลอดภัยตามกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ จาก กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม แล้ว ระบบไฟฟ้า ระบบแก๊สต่างๆ ที่ถูกติดตั้งจะต้องอยู่ในลักษณะมีความปลอดภัย ทั้งสำหรับตัวผู้ขายเอง รวมถึงผู้บริโภค
ซึ่งการตรวจสอบความปลอดภัยเบื้องต้นของรถฟู้ดทรัค คือ 1. มีสายดิน 2. ใช้สายไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มอก. 3. มีอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้ารั่วอัตโนมัติ 4. หมั่นตรวจสอบสภาพรถฟู้ดทรัค
ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจ กสอ. ได้ร่วมกับการฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ประเทศไทยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการฟู้ดทรัคเองยังสามารถนำฟู้ดทรัคไปตรวจสภาพ และขอคำแนะนำได้จากบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกคลัสเตอร์ฟู้ดทรัคประเทศไทย เช่น บริษัทสยามออโต้อีเวนต์คาร์จำกัด บริษัทมีโชครุ่งเรืองกิจจำกัด หรือ บริษัทเชิดชัยกลการ จำกัด ฯลฯ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ตรวจสอบสภาพรถ ระบบไฟฟ้า สายไฟและเบรคเกอร์ ให้พร้อมกับการใช้งาน จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการฟู้ดทรัคทั่วประเทศเข้ามาร่วมพัฒนาให้ได้มาตรฐานสมาร์ทโฟร์และเข้าร่วมกับเครือข่ายคลัสเตอร์ฟู้ดทรัคที่จะช่วยกันดูแลฟู้ดทรัคทุกคันให้มีความปลอดภัย และมีอาชีวอนามัยที่ดี
นอกจากนี้ กสอ. ยังมุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยล่าสุดได้เปิดอบรมหลักสูตรพัฒนานักธุรกิจฟู้ดทรัคหน้าใหม่ หรือ Startup Food Truck ร่วมกับสถาบันอาหาร จำนวน 2 รุ่นๆ ละ 50 คน พบว่ามีสนผู้ใจสมัครเป็นจำนวนมากจนเต็มแล้วทั้ง 2 รุ่น และ กสอ. ยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการเครือข่ายฟู้ดทรัคให้โอกาสแก่ผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจนี้มาเช่าและทดลองขายบนรถฟู้ดทรัค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในช่วงแรก ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจกว่า 40,000 ราย ภายใน 2 วัน ปัจจุบันคิวจองทดสอบตลาดเต็มยาวไป 2 เดือน จึงปิดรับสมัครและกำลังเตรียมการที่จะเพิ่มจำนวนรถฟู้ดทรัคมาให้ทดลองทดสอบตลาดเพิ่มเติมในไม่ช้า
ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ทั้งมาตรการการพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เข้มแข็ง ผ่านการอบรมบันได 5 ขั้น สู่ความสำเร็จในธุรกิจฟู้ดทรัค มาตรการการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคในระดับประเทศ มาตรการการเชื่อมโยงสู่ตลาดฟู้ดทรัค รวมถึง มาตรการเตรียมความพร้อมทางด้านเงินทุนทุกมาตรการดังกล่าว จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคได้มากกว่า 3,500 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,260 ล้านบาท อีกทั้งยังทำให้ฟู้ดทรัคอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและสังคมไทยได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน