ไม่พบผลการค้นหา
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคว้ารางวัล 2022 Prix Voltaire จากสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (IPA) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะสำนักพิมพ์ที่ยืนยันในหลักการเสรีภาพในการตีพิมพ์ และการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก

คณะกรรมการเสรีภาพในการตีพิมพ์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ ได้มีมติเลือกสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน (Same Sky) จากสำนักพิมพ์ที่ได้เข้ารับการพิจารณา 5 แห่ง เพื่อเข้ารับรางวัล 2022 IPA Prix Voltaire

เอกสารข่าวของสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติชี้แจงเหตุผลว่า คณะกรรมการทุกคนต่างยอมรับในความกล้าหาญอันเป็นแบบอย่าง ในการรักษาเสรีภาพในการตีพิมพ์เผยแพร่ และส่งเสริมผู้อื่นให้สามารถใช้สิทธิในหลักการเสรีภาพในการแสดงออกได้

สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติกล่าวถึงประวัติอย่างย่อของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันว่า สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย โดย ธนาพล อิ๋วสกุล, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, และ ชัยธวัช ตุลาธน อดีตนักกิจกรรมนักศึกษา โดยนับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ตีพิมพ์วารสารวิชาการ และหนังสือด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาจำนวนมาก ผ่านมุมมองในความคิดเชิงวิพากษ์เป็นหลัก

สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติระบุว่า คณะกรรมการบางรายชี้ว่า ด้วยตำแหน่งแห่งที่ของการวิพากษ์ของสำนักพิมพ์ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนมายังผู้ที่อุปถัมภ์ค้ำชูการเมืองและสถานะเดิมในสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ของความผันผวนทางการเมืองไทยได้ขัดขวางเสรีภาพทางคำพูดของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวข้อเกี่ยวกับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหัวเรื่องบางสิ่งที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันพยายามหยิบชูประเด็นดังกล่าวขึ้นมา ส่งผลให้ธนาพลซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ต้องอดทนต่อการถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยายามจะกลั่นแกล้งเขาจากข้อหาการยุยงปลุกปั่น

คริสเตน ไอนาร์สสัน ประธานคณะกรรมการเสรีภาพในการตีพิมพ์ของสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของผู้จัดพิมพ์ ที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของพวกเขา ด้วยการยืนหยัดต่อการถูกข่มขู่ และเผยแพร่ผลงานที่พวกเขาเชื่อต่อไป”

สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติเปิดเผยว่า ตัวแทนของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จะเดินทางเข้ารับรางวัล Prix Voltaire ประจำปี 2565 ด้วยตัวเองในที่ประชุมผู้จัดพิมพ์นานาชาติครั้งที่ 33 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 11 พ.ย.นี้

สำหรับรางวัล Prix Voltaire ในปีนี้ มีผู้เข้าท้าชิงรางวัลดังกล่าวนอกจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้แก่ VK K arthika จากอินเดีย Raul Figueroa Sarti จากกัวเตมาลา Nahid Shahalimi จากอัฟกานิสถาน/แคนาดา และ Ukrainian Publishers and Booksellers Association จากยูเครน

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Prix Voltaire เป็นได้ทั้งผู้จัดพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่ยืนหยัดในเสรีภาพในการตีพิมพ์เผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกป้องคุณค่าเหล่านี้มาเป็นเวลายาวนาน หรือเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ผลงาน แม้จะถูกกดดัน ข่มขู่ คุกคาม หรือล่วงละเมิดด้วยวิถีทางใดๆ ก็ตาม

สมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติระบุว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อมักจะตีพิมพ์ผลงานที่ถูกโต้เถียง ท่ามกลางแรงกดดัน การข่มขู่ การคุกคาม หรือการล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาล หน่วยงานอื่นๆ หรือผลประโยชน์ของเอกชน โดยในอีกทางหนึ่ง พวกเขาอาจเป็นผู้จัดพิมพ์ที่มีประวัติที่โดดเด่น ในการส่งเสริมค่านิยมของเสรีภาพในการตีพิมพ์เผยแพร่และเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ สำหรับวัตถุประสงค์ของรางวัล IPA Prix Voltaire มีคำจำกัดความของ 'ผู้จัดพิมพ์' คือ บุคคล กลุ่ม หรือ องค์กร ที่ให้วิธีการแบ่งปันความคิด แก่ผู้อื่นในรูปแบบลายลักษณ์อักษร ซึ่งรวมถึงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย

รางวัล IPA Prix Voltaire ซึ่งจะถูกมอบพร้อมกับเงินจำนวน 10,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 3.88 แสนบาท) ได้รับการเอื้อเฟื้อจากผู้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้สนับสนุนทั้งหมดนี้เป็นสำนักพิมพ์และองค์กรยึดถือคุณค่าที่ IPA Prix Voltaire มีร่วมกัน ได้แก่ สำนักพิมพ์ Albert Bonniers Förlag จากสวีเดน Bonnier Media Deutschland จากเยอรมนี Holtzbrinck จากเยอรมนี Norstedts จากสวีเดน Samlaget จากนอร์เวย์ และ Verlag C. H. Beck จากเยอรมนี

ธนาพล ในนามสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันระบุบนเพจเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์ว่า “ในวันที่ 27 กันยายน 2565 วันเดียวที่จดหมายประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการเดินทางมาถึง ได้มีหมายเรียกจากศาลอาญามาติดที่ประตูรั้วสำนักงาน แจ้งให้ผมไปไต่สวนมูลฟ้องที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม วุฒิสมาชิกผู้ที่ได้มาซึ่งอำนาจด้วยการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารฟ้องหมิ่นประมาท”

“สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้นั้นแยกไม่ออกจากสถานการณ์ที่รัฐไทยพยายามปิดปากผู้ที่เห็นต่าง จนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกลุ่มคนที่มุ่งทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมานับจากการก่อตั้ง เราเผชิญกับการคุกคามหลายรูปแบบ ทั้งการจัดตั้งมวลชนจะมาบุกสำนักพิมพ์ การมา “เยี่ยม” ของตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสม่ำเสมอเพื่อสอดส่อง ข่มขู่ ยึดหนังสือ หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ด้วยข้อหาที่แทบไม่มีอะไรเลย และล่าสุดในรูปแบบ “นิติสงคราม” ผ่าน “กระบวนการยุติธรรม” ด้วยการฟ้องปิดปาก” ธนาพลระบุ

ธนาพลชี้ว่า ตนและสำนักพิมพ์ “เผชิญนั้นถือว่ายังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่ถูกคุกคามและจองจำอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องพูดถึงคนที่ถูกอุ้มหาย ทำร้าย หรือพรากชีวิตไปเพียงเพราะพวกเขาแสดงความเห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ความผิดปกติของการใช้อำนาจเผด็จการในรูปแบบต่างๆ รางวัลที่ฟ้าเดียวกันได้ในครั้งนี้ จึงเป็นรางวัลของพวกเขาเหล่านั้นด้วย” ก่อนกล่าวในตอนท้ายว่า “ผมมุ่งหวังอยากเห็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยทุกคน และเมื่อถึงวันนั้นการมีอยู่ของรางวัลนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น ”