ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการอาวุโส ชี้ การตื่นตัวของนักศึกษาอาจไปถึงอาหรับสปริงและฮ่องกงโมเดล เพียงรอการลงถนนและชนชั้นกลางขยับร่วม พร้อมระบุ "รัฐบาลประยุทธ์" อาจจบไม่สวย เทียบยุคป๋าเปรมไม่ได้

ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวงเล็ก “อนาคตทางการเมืองไทยหลังยุบพรรคในยุค Covid-19”นายวีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในช่วงแรก ยืนยันว่า ไทยเผชิญมหาวิกฤติที่เริ่มลุกลามจากวิกฤตเศรษฐกิจ สู่วิกฤตสังคมและการเมือง ขณะที่ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างตลาดภายนอกและภายในประเทศ รวมถึงความสำคัญของการการส่งออก จึงไม่มีทางหยุดยั้งวิกฤตไปได้ ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักถึง 70 % และอาศัยต่างประเทศจีนเป็นตลาดหลักๆ ยิ่งเจอกับ Covid-19 ยิ่งทำให้เจอปัญหาหนัก พร้อมเสนอว่า รัฐบาลควรลดค่าเงินบาทให้ต่ำลง เพื่อให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ส่งออก ได้เงินชดเชยจากการตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลก ดร.โกร่ง เชื่อว่า นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการสืบทอดอำนาจเผด็จการนั้นหมดบุญแล้ว และกลายเป็นตัวปัญหาของประเทศ ท่ามกลางการลุกขึ้นเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ที่เป็นจุดเริ่มการแสดงความอัดอั้นตันใจ ที่ถูกกดทับสิทธิเสรีภาพและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอการระเบิดครั้งใหญ่ หากนายกรัฐมนตรีไม่ลงจากอำนาจ ด้าน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่โดยผู้มีอำนาจเป็นเหมือนการจุดไม้ขีดโยนเข้าไปในเชื้อเพลิงกองมหึมาที่สะสมมานาน และจุดติด โดยเห็นกรณีแฟลชม็อบของนักศึกษา เป็นปรากฎการที่ไม่เคยเห็นมานานมาก ซึ่งเชื่อว่า หากมีการลงบนท้องถนนโดยชั้นกลางในเมืองก็จะมาร่วมด้วย และจะเป็น "อาหรับสปริง" หรือ "ฮ่องกงโมเดล" ได้

โดยหากเปรียบปัญหาการเมืองรอบนี้เป็นการชกมวย ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายประชาธิปไตย ก็เชื่อว่าจะชกไม่ครบ 12 ยก เพราะอาจจะมีการ "ยุบเวที-ยึดเวที-โยนผ้า-ยื้อเวลา" พร้อมขยายความว่า เมื่อรัฐบาลจะแพ้ก็ "ยุบเวที คือ ยุบสภา" , "ยึดเวที คือ รัฐประหาร", "โยนผ้า คือ ยอมแพ้" ส่วนยื้อเวลา คือ วิ่งรอบเวทีไม่ชกด้วย แต่ให้กรรมการขึ้นชกแทนสุรชาติ ยังแนะให้ผู้มีอำนาจหวนดูประวัติศาสตร์ผู้นำทหารที่ครองอำนาจที่เปรียบเหมือนการเสี่ยงเซียมซี 5 แผ่น โดยตั้งเป็นหัวข้อว่า

เซียมซี 1. " นิราศต่างแดน" คือ ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่โกงเลือกตั้งแล้วถูกรัฐประหารต้องลี้ภัย เซียมซี 2. "สุกก่อนตาย" คือ ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจและเสวยสุกก่อนเสียชีวิตในเวลาอันสั้น เซียมซี 3. "นิราศ 3 ชาย" ในยุค 3 ทรราช ที่จบด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เซียมซี 4. "ป๋าพอแล้ว" ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่พาตัวเองออกจากการเมือง โดยไม่ถูกประท้วงใหญ่หรือรัฐประหาร เซียมซี 5. "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ในยุครัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่จบลวด้วยเหตุการณ์ "พฤษภา 35" สุรชาติ กล่าวด้วยว่าในอดีตมี " 3 ทรราช" ปัจจุบันมี "3 ป." ซึ่งให้ย้อนดูอดีตเสี่ยงเซียมซีเอาว่าอยากเห็นแผ่นไหน หาผู้มีอำนาจคิดว่ามีเกียร์ เซียมซีแผ่นที่ 6 "ปราบแล้วชนะ" คือ กรณีอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 2519 แต่ก็อย่าลืมว่ารัฐบาลหลังจากนั้นกูไม่ครบ 1 ปีก็ถูกรัฐประหารเช่นกัน อย่างไรก็ตามมองด้วยว่า ผู้มีอำนาจจากการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด มีการสถาปนาระบอบ "ตุลาการอธิปไตย" จัดการฝ่ายตรงข้ามและขยายอำนาจของทหารอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะใน กอ.รมน.และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งยังมีการผนวกกับกลุ่มทุนผูกขาด เป็น "ทหาร, ตุลาการ, ทุนผูกขาด" ที่ไม่เคยมีในเผด็จการยุคก่อน และแม้เผด็จการทหารลงจากอำนาจ ก็ยังมีองค์กรอิสระ ที่เปรียบเหมือนอำนาจ ม. 44 ที่ยังคงต่อเนื่องมาและอำนาจทหารใน กอ.รมน.และยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวอยู่ในสังคมไทยต่อไป ซึ่งการเมืองที่มีปัญหายิ่งเหมือนระเบิดเวลาที่รอการระเบิดครั้งใหญ่ พร้อมเสนอทางออกหลายข้อ ประกอบด้วย 1.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใน 90 วัน ใช้ ฉบับปี 2540 ไปก่อน และเมื่อประกาศใช้ รัฐธรรมนูญใหม่องค์อิสระก็ต้องยุบไปก่อนเช่นกัน 2.) แก้ไขบทบาทขององค์กรอิสระที่ต้องไม่เป็นตุลาการธิปไตย 3.) ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 4.) นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาตัวเอง 5.) หยุดกระบวนการที่ทำงานไม่เป็นธรรมทั้งหลาย 6.) รัฐบาลเลิกเป็นเบี้ยล่างให้กับทุนใหญ่ 7.)​ ลบล้างคดีการเมืองหลังปี 2557 หรือก่อนหน้านั้น ส่วนข้อเสนอต่อกองทัพ ประกอบด้วย 1.) ตั้ง "คณะกรรมการกลางเพื่อการปฏิรูปกองทัพ" จากทุกภาคส่วน เหมือนตัวแบบในกองทัพประเทศเยอรมนีในการปฏิรูป 2.)​ ทหารออกจากการเมือง 3.)​ ยกเลิก คำสั่ง คสช. 4.)​ ยกเลิกธุรกิจในกองทัพ 5.)​ ทหารออกจากรัฐวิสาหกิจ 6.)​ ยุติการซื้ออาวุธชั่วคราว อย่างน้อยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจนี้ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอด้านการต่างประเทศ โดย ไทยต้องปรับดุลกับประเทศมหาอำนาจ, ปรับภาพลักษณ์สร้างความเชื่อมั่นหลังรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบไม่ถึง 10 ปี, สร้างขีดความสามารถและต่อรองในเวทีโลก ไม่ทำตัวเป็นรัฐอารักขาหรือเขตปกครองของต่างชาติ และสุดท้ายคือ ยกเลิกเมกกะโปรเจคที่เกิดจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย สำหรับช่วงหลังการเสวนาดร.โกร่ง กล่าวว่า ยุคนี้เป็นการยึดอำนาจเพื่อตนเองอย่างแท้จริง ไม่มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการเมือง แตกต่างและเทียบไม่ได้กับยุคพลเอกเปรม ที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อประคองระบบรัฐสภาและแก้ปัญหาลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งจบไปแล้ว แต่ผู้มีอำนาจปัจจุบันได้สถาปนาระบอบเผด็จการโดยกฎหมายขึ้น ซึ่งร้ายกาจกว่าเผด็จการโดยอำนาจปืน เพราะเมื่อลงจากอำนาจแล้ว สังคม สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้แต่เผด็จการโดยกฎหมายยังจะคงอยู่ เหมือนเชื้อโรคไว้ให้ระบบกฎหมายไทยในอนาคต ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ เห็นว่า ผู้มีอำนาจไม่ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคม โดย ให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "ไร้ชัย" คือไม่มีทางชนะ และยังเป็นมรดกบาปของผู้ยกร่าง เป็นตราบาปที่จะถูกบันทึกไว้ในหนังสืองานศพ และจะเรียกประชาธิปไตยครึ่งใบ แบบยุคพลเอกเปรมไม่ได้ เพราะมีความเป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตยซึ่งถ้าจะเทียบการเลือกตั้งปี 2562 จะใกล้เคียงกับการเลือกตั้งปี 2512 ยุคจอมพลถนอมมากกว่า และจบลงด้วยรัฐประหารปี 2514 แต่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวนิสิตนักศึกษาหลังจากนั้นและนำสู่เหตุการณ์ "14 ตุลา 2516" ถ้าผู้มีอำนาจเลือกทางนี้ ตนก็จะรอดูเหตุการณ์ "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ที่ผู้มีอำนาจใช้คอปเตอร์ทางการไปล่าสัตว์แต่เครื่องตกก่อนนักศึกษาไปพบและตีแผ่ผ่านสื่อมวลชน ที่นำสู่การลุกฮือของประชาชน ปี 2516 ในที่สุด