เริ่มจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้เชิญ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เปิดอาคารรับรองของพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ที่ บก.ทบ. ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจจะปรับปรุงตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้สานเจตนารมณ์นี้ เดิมเป็นอาคารสรรพาวุธ ของ ร.11 รอ. และ ร.1 รอ. จึงมีการติดป้ายชื่อหน่วยไว้ที่ทางขึ้นด้านหลัง แต่ที่ฮือฮาคือป้ายชื่อห้องที่มีการตั้งขึ้นโดย ทบ. ทั้ง 2 ห้อง
ชั้นล่างชื่อห้อง ‘ศรีสิทธิสงคราม’ หรือ พระยาศรีสิทธิสงคราม หรือ ‘ดิ่น ท่าราบ’ โดยมีการติดตั้งภาพถ่ายไว้ในห้องด้วย ทั้งนี้ ‘ดิ่น ท่าราบ’ มีศักดิ์เป็นคุณตาของ ‘บิ๊กแอ้ด’พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ด้วย
ส่วนชั้นบนชื่อห้อง ‘บวรเดช’ ที่มาจากชื่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งชื่อนี้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็คือเหตุการณ์ ‘กบฎบวรเดช’ โดยทั้ง ‘พระยาศรีสิทธิสงคราม’ และ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช’ เป็นนายทหารที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ‘คณะราษฎร’
โดยเหตุการณ์กบฏวรเดชเกิดขึ้นเมื่อ 11 ต.ค.2476 ถือเป็นกบฏแรก หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ที่นำโดย ‘คณะราษฎร’ ในการต่อต้านระบอบเก่า แล้วสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมา หากสังเกตจะพบว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีกลุ่มนายทหารเข้าร่วม
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2476 ฝ่ายคณะราษฎร นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังมาปราบปราม ‘คณะกู้บ้านเมือง’ ทำให้ฝ่ายพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามพ่ายแพ้ จนเป็นที่มาของ ‘กบฎบวรเดช’ รวมทั้งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่กำลังฝั่งคณะราษฎรที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกบฎ แต่ในช่วงหลังได้เรียกกันว่า ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ แทน โดยอนุสาวรีย์ดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายหายไปกลางดึก 28 ธ.ค. 2561 ซ้ำรอยหมุดคณะราษฎร
อย่างไรก็ตาม ชื่อของทั้ง 2 ห้อง มาจากการตั้งโดย ทบ. ไม่ได้มาจาก พล.อ.ประยุทธ์แต่อย่างใด ทั้งนี้ตามปกติแล้ว ทบ. จะตั้งชื่ออาคารและห้องที่เป็นชื่อนายทหารที่ได้รับการยกย่องและที่เป็นเกียรติแก่ ทบ. รวมทั้งชื่อทหารในประวัติศาสตร์กองทัพไทยด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อห้องว่า ‘บวรเดช’ โดยไม่มีคำว่า ‘กบฎ’ รวมทั้ง ‘ศรีสิทธิสงคราม’ สะท้อนถึงการบันทึกประวัติศาสตร์ของ ทบ.
รวมทั้งแนวคิดของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ควบคุมโครงการปรับปรุงอาคารมาตั้งแต่ต้น โดยที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ ได้มาตรวจการปรับปรุงด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ จึงต้องจับตาการชำระล้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่กำลังดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสิ่งที่ผูกโยงกับตัวเลขเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 นั่นเอง
ต่อมากับการขึ้นเวทีบรรยายพิเศษของ พล.อ.อภิรัชต์ ในหัวข้อ‘แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง’ ที่ บก.ทบ. ก็ได้ขับเน้นตัวเลข 2475 ขึ้นมาอีกครั้ง โดย พล.อ.อภิรัชต์ พยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน รวมทั้งผูกโยงกับเหตุการณ์ ‘คอมมิวนิสต์’ เมื่อสมัย 40-50 ปีก่อนด้วย พร้อมชี้ถึงแนวคิด ‘ซ้ายจัด’ ที่เกิดขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นถึง ‘ขบวนการล้มล้างระบอบการปกครองของไทย’ ผ่านทฤษฎี Hybrid Warfare หรือ สงครามลูกผสม มาใช้ในการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งการใช้โซเชียลในการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) แนวคิดต่างๆ ให้กับคนรุ่นใหม่
“พวกนักวิชาการ อาจารย์บางคน ที่คบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์เดิม เป็น Mastermind เป็นคลังสมอง ร่วมกับ นักเรียนนอก ซ้ายจัดดัดจริต ไปเรียนในประเทศที่เคยล่าอาณานิคม อบรมสั่งสอน ไร้จรรยาบรรณ ชอบอ้างตัวเลข 2475 เป็นตัวชี้นำ อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่มีวาทกรรมจาบจ้วง” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวเมื่อวันที่ 11ต.ค.62
“พวกคอมมิวนิสต์หลงผิดเข้าป่า แต่คิดได้ว่าระบบคอมมิวนิสต์ไม่ดีอย่างไร สอนให้คนเป็นอย่างไร ถามพี่สนธิญาณ (ชื่นฤทัยในธรรม) ได้ มีคนกลับตัวกลับใจ แต่ยังคงมีไอ้คนหัวเดิมๆ มาเป็นนักการเมือง นักวิชาการ ฝังชิปเรื่องความเป็นคอมมิวนิสต์อยู่” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว 11ต.ค.62
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ปรับหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ขึ้นใหม่ โดยจำนวน นศท. ชั้นปี 1-5 มีกว่า 3.1 แสนคนทั่วประเทศให้เป็นระบบ Active Learning ขึ้น โดยปรับสัดส่วนวิชาทหารจากเดิม 70 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือ 55 เปอร์เซ็นต์ โดยบางวิชาสามารถไปเรียนรู้ในภาคสนาม เพื่อการลดความซ้ำซ้อนของเวลาและเนื้อหา
สำหรับวิชาทั่วไปจาก 30 เปอร์เซ็นต์ จะขยายเป็น 45 เปอร์เซ็นต์โดยเพิ่มเนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์ สถาบันพระมหากษัตริย์ บทบาททหารกับความมั่นคง พร้อมทั้งการฝึกทำกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน การปฐมพยาบาล และการบรรเทาสาธารณภัย
ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ให้ความสำคัญกับ นศท. เป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ไปกับกับ นศท. ตามกองทัพภาคต่างๆด้วยตนเอง โดยเฉพาะที่ บก.ทบ. เมื่อ 21 มิ.ย.62 ได้เปิดให้ นศท. เข้าพบพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยภายหลังการพูดคุย พล.อ.อภิรัชต์ ได้ออกมาเปิดเผยตอนหนึ่งถึงการเพิ่มเติมวิชาประวัติศาสตร์ไทย พร้อมทั้งมี นศท. มาขอถ่ายภาพและกอด พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย
“น้องๆ หลายคนอยากให้โรงเรียนต่างๆ มีการสอนประวัติศาสตร์มากขึ้น เพราะทุกคนตระหนักว่ามีชาติไทยทุกวันนี้เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว 21 มิ.ย.62
“นักศึกษาวิชาทหารเขากำลังเติบโตมาแล้วมีการเลือกตั้ง และยอมรับมาด้วยตัวเองหลังแลกเปลี่ยนความเห็น เขาบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญยิ่งกับประเทศไทย ใครก็ตามไม่นึกถึงแผ่นดินเกิด บุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่สมควรจะอยู่เมืองไทย นี่คือคำพูดเขา (นศท.)” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว 21มิ.ย.62
หากต่อจิ๊กซอว์จะพบว่าเป็นการจัดการและสร้าง ‘ชุดความคิด’ ทางประวัติศาสตร์ไทยของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยการปลูกฝังชุดความคิดผ่าน นศท. ตามแบบฉบับประวัติศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งการชำระล้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ เช่นในกรณี ‘กบฎบวรเดช’ รวมทั้งการเชื่อมโยงขบวนการต่างๆ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่าต้องการล้มระบอบการปกครองฯ ขึ้นมา ผ่านเวทีการบรรยายพิเศษ ที่แม้ไม้ระบุชื่อบุคคลหรือพรรค ก็รู้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ ต้องการสื่อสารไปถึงฝ่ายใด
ทั้งหมดนี้เป็น ‘มหากาพย์’ การต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว การออกมาพูดของ พล.อ.อภิรัชต์ ถือเป็นการ ‘เปิดศึกอย่างเป็นทางการ’ โดยเหตุการณ์เหล่านี้หากเทียบเคียงในอดีตก็คือ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ นั่นเอง ที่ต้องอาศัยมวลชนที่หลากหลาย โดยเฉพาะเยาวชนและชนชั้นนำในสังคมโดยมีกองทัพเป็นแกนนำหลักนั่นเอง