ไม่พบผลการค้นหา
ดราม่าไอดอลสาว 'แก้ว BNK48' ถูกโจมตีว่าใช้ของก็อปปีสินค้าแบรนด์เนม เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ จนแฮชแท็ก #แก้วชอบของแบรนด์เนมค่ะ ติดอันดับทวิตเตอร์ กระทบภาพลักษณ์วง BNK48 ที่เข้มงวดเรื่องสินค้าลิขสิทธิ์ แต่ก็มีแฮชแท็ก #รู้ใช่ไหมว่ารักแก้ว ตามมาติดๆ

เรื่องราวของนักร้องไอดอลสาว แก้ว BNK48 หรือ ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ ใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่าง กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา หรือ เสื้อผ้า จนชาวโลกออนไลน์ออกมาจับผิด และนำภาพของใช้ของเธอมาเปรียบเทียบ กับของจริง ว่าทั้งหมดนี้ เป็นสินค้าก๊อปปี้ แบรนด์เนมและละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น

ความผิดที่ดูเหมือนน้อยนิด แต่แฝงไว้ถึงความเสียหายระดับประเทศ เพราะวง BNK48 ถือเป็นวงไอดอล ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการปกป้องลิขสิทธิ์ของสินค้าต่างๆ ที่นำออกมาขายแก่แฟนคลับ หากแต่ตัวศิลปิน แก้ว BNK48 กลับใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แทน จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย และความไม่เห็นด้วยของเหล่า 'โอตะ' ผู้สนับสนุนวง ที่ต้องการให้ 'แก้ว' ออกมาชี้แจง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ ทั้งจากตัวแก้ว BNK48 หรือจากทางต้นสังกัด

ทั้งนี้ "แก้ว-ณัฐรุจ าชุติวรรณโสภณ หรือ "ครูแก้ว" วัย 25 ปี มีภาพลักษณ์ในวงว่าเป็นผู้ชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนม โดยครั้งหนึ่ง เธอเคยซื้อสินค้าแบรนด์เนมให้กับสมาชิกในวง แต่โลกออนไลน์ก็ออกมาจับผิดว่า สินค้านั้น ก็เป็นของปลอมด้วย

กระแสต่อต้านการใช้ของปลอมหรือของเลียนแบบที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้แฮชแท็ก #แก้วชอบของแบรนด์เนมค่ะ ติดอันดับเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ช่วงค่ำวานนี้ (18 ส.ค.) อยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งกลุ่มแฟนคลับแสดงพลังให้กำลังใจแก่ 'แก้ว' ด้วยการติดแฮชแท็ก #รู้ใช่ไหมว่ารักแก้ว จนติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยตั้งแต่เช้าวันที่ 19 ส.ค.จนถึงช่วงบ่าย

แก้ว BNK48

การละเมิดลิขสิทธิ์

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ปัจจุบันไม่มีบทกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ซื้อเพื่อนำมาใช้ด้วยตนเอง แม้ผู้ซื้อจะรู้ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ซื้อก็ไม่มีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิด

ดังนั้น ผู้ซื้อของก็อปหรือสินค้าที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงไม่มีความผิด แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการซื้อและใช้ในประเทศเท่านั้น หากเป็นการซื้อของก็อปจากต่างประเทศแล้วนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยหรือส่งออกสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยออกไปนอกประเทศ การกระทำเช่นนี้มีความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของต้องห้าม มีโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของหรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งหากเป็นการนำเข้าสินค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้า ยังมีความผิดตามมาตรา 275 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 110 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อีกด้วย

ประเทศไทย เคยถูกสำนักงานผู้แทนทางการค้าของสหรัฐฯ (US Trade Representative: USTR) จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country - PFC) ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งในขณะนั้นเมืองไทยมีปัญหาการปลอมแปลงเลียนแบบสินค้าอย่างรุนแรง ต่อมาทางการไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไข จนในปี 2537 สหรัฐฯ ได้ปรับลดให้ไทยอยู่ในระดับประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List – WL) จนถึงปี 2549 และปรับเป็น PWL หรือประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ในปี 2550

ปัจจุบัน ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2562 ไปเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าในปีนี้ประเทศไทยสามารถรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch list: WL) ได้อีก หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากบัญชีที่ต้องจับตาพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็น WL เมื่อปี 2560 เป็นต้นมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :