ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' มองร่าง พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา กัญชง ไม่ได้ควบคุมจริง แต่กลับยิ่งส่งเสริมให้ใช้ทางสันทนาการ ทำเยาวชนอันตราย กมธ.แก้จนหละหลวมกว่าเดิม แนะถอนร่างกลับไป หรือเตรียมเจอโหวตคว่ำสถานเดียว

ที่อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ เลขานุการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ภาคอีสาน ร่วมกันแถลงข่าวแสดงท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และพยายามนำเข้าสู่วาระการประชุมสภาในวันนี้

นพ.ชลน่าน ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ถูกเสนอต่อสภาด้วยหลักการให้มีกฎหมายว่าด้วยพืชกัญชงกัญชา ให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ เป็นเหตุผลที่เราโหวตรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อพิจารณา ในช่วงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทางด้านการแพทย์ การศึกษา และอีกหลายฝ่าย ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการปลดพืชกัญชาออกจากความเป็นยาเสพติด มีผลมาสู่ท่าทีของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ดูรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว 

"เราหวังอย่างยิ่งว่าตัวกฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ มาตรการควบคุมต้องชัดแจ้งชัดเจน แต่หลังจากที่คณะกรรมาธิการได้เข้าพิจารณา มีการปรับเปลี่ยนมากมาย สิ่งที่ได้มาไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ได้ตอบคำถามว่าจะมีการควบคุมอย่างชัดเจนในเรื่องที่เราเป็นห่วง โดยเฉพาะการนำกัญชามาใช้ในการสันทนาการ ไม่ได้มีการควบคุมลูกหลานเยาวชนที่มีภาวะเสี่ยงภัย" นพ.ชลน่าน ระบุ

ขณะที่ สุทิน กล่าวว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยอยากให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจถือเป็นผลพลอยได้ แต่เมื่อดูประกาศของสาธารณสุขเรื่องการนำกัญชาไปสู่การใช้แบบสันทนาการอย่างไม่มีข้อจำกัด จนมาถึง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง จึงตั้งความหวังไว้กับการควบคุมโดยกฎหมายฉบับนี้ แต่กลับพบหลายมาตราที่นอกจากไม่ควบคุมแล้ว ยังส่งเสริมให้นำไปใช้ทางสันทนาการอย่างออกไปไกลมาก

เช่น มาตรา 18 อนุญาตให้ครอบครัวได้ปลูกกัญชาได้ ไม่เกิน 15 ต้น ซึ่งมากกว่าที่เคยหาเสียงไว้ระบุว่า 6 ต้น และคณะกรรมาธิการไม่ได้ระบุว่า มีวัตถุประสงค์ให้ครอบครัวปลูกเพื่อจำหน่าย แต่เพื่อให้บริโภคกันในครอบครัว ซึ่งเป็นจุดที่เป็นห่วงมาก เพราะสามารถนำไปทั้งประกอบอาหาร ประกอบเป็นยา หรือไปเสพไปพี้ ซึ่งมีความอันตรายทางการแพทย์ เพราะในทางปฏิบัติ ประชาชนไม่สามารถแยกสารอันตรายในพืชกันตรงกัญชาออกได้ และไม่เชื่อว่าทางการแพทย์จะสามารถลงไปดูแลได้อย่างเพียงพอในทุกครัวเรือน

สุทิน ยังชี้ว่า ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่มีมาตราใดที่บอกว่าการเสพกัญชาผิดกฎหมายเลย การระบุว่าห้ามจำหน่ายให้คนที่อยู่ต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่ได้ระบุว่าห้ามเสพ จึงไม่ถือเป็นการออกกฎหมายเพื่อควบคุมอย่างแท้จริง เท่ากับเป็นการนำกัญชาไปสู่ครัวเรือนและเยาวชนมากขึ้น ยิ่งประกอบกับความเห็นทางการแพทย์ของสังคมอีกหลายด้าน ซึ่งเราต้องรับฟัง ไม่ว่าจะแพทยสภา วิทยาลัยการแพทย์เฉพาะทาง ครู ผู้ปกครองต่างๆ เห็นไปในทางเดียวกันคือมีความกังวลแล้วไม่สบายใจ พรรคเพื่อไทยจึงนำข้อกังวลของทุกฝ่ายมาประมวลแล้ว เห็นว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านคณะกรรมการเข้าสู่สภา เราไม่สามารถรับได้

"มีทางเดียวก็คือให้เจ้าของร่างถอนออกไป ถ้าไม่ถอนเราก็โหวตคว่ำ" สุทิน เน้นย้ำ

สำหรับข้อกังวลว่า หากคว่ำร่างนี้ไปแล้วก็จะทำให้เกิดสุญญากาศต่อไปอีก สุทิน เสนอว่า ก็ให้กลับไปแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขก่อน จนกว่าจะแก้ไขกฏหมายใหม่อีกครั้งให้สมบูรณ์จริงๆ แล้ว ค่อยแก้ไขกลับมาใหม่ก็ยังไม่สาย แต่ละเรื่องล้วนมีมาตรการรองรับอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นกังวล

ด้าน นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า กัญชา กัญชง มีผลเสียต่อสุขภาพอนามัยโดยเฉพาะระบบประสาท ยับยั้งความเจริญเติบโตและการทำงานเยาวชนเกิดความผิดปกติทั้งเรื่องระบบสมอง การใช้กัญชาทางการแพทย์ที่นำมาอ้าง ได้ผลจริงๆ คือการรักษาโรคลมชักเรื้อรัง แบบต้องใช้ประกอบกับยาอื่นๆไม่ได้ใช้ยาตัวเดียว รวมถึงผู้ป่วยอื่นๆ ที่ใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ในปัจจุบันมีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาในโรงพยาบาลในช่วง 1-2 เดือนนี้มากขึ้นกว่า 10%

ทั้งนี้ นโยบายกัญชาเสรียังส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยมากกว่าเดิม เนื่องจากประเทศอื่นๆ การเสพพืชกัญชายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ รวมทั้งยังเป็นทางเชื่อมไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นด้วย