ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมสรรพากร เปิดตัวเลข ปชช.ยื่นภาษีเงินได้แล้ว 10 ล้านคน ขณะบริษัทยื่น 2 แสนราย ย้ำ ใครยังไม่ยื่นให้รีบยื่นก่อนสิ้นเดือน ส.ค. เพื่อเลี่ยงเบี้ยปรับ 1.5% ของฐานภาษีต่อเดือน

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงตัวเลขการจัดเก็บภาษี ประจำปีภาษี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นแบบฟอร์มเสียภาษีเงินได้ฝั่งบุคคลธรรมดาแล้วทั้งสิ้น 10 ล้านคน จากยอดรวม 11.5 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขฝั่งภาษีเงินได้นิติบุคคลมีผู้ยื่นแล้วทั้งสิ้น 2 แสนราย จากยอดเดิมในปีก่อนที่ 3 แสนราย 

อธิบดีฯ ชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ยอดจัดเก็บภาษีปีนี้จะไม่ตรงตามเป้าที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ให้ แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะยอดที่กำหนดมานั้นเป็นตัวเลขก่อนที่จะเกิดวิกฤตโรคระบาด อีกทั้ง ที่ผ่านมากรมสรรพากรก็เร่งช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการการยืดระยะเวลายื่นแบบฟอร์มภาษีเงินได้ ซึ่งตามปกติของบุคคลธรรมจะอยู่ที่เดือน มี.ค. และแบบนิติบุคคลจะอยู่เดือน พ.ค. มาเป็นสิ้นเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้ทั้ง 2 ประเภท ทั้งยังปรับลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิมที่ 3% ลงมาเหลือ 1.5% 

สัมนาภาษี
  • เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

นอกจากนี้ในกลุ่มของประชาชนผู้ยื่นแบบฟอร์มของรับเงินคืน กว่า 95% กรมสรรพากรเร่งจ่ายคืนให้กับประชาชนเพื่อให้มีสภาพคล่องแล้วทั้งสิ้นเป็นเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 3 ล้านราย เช่นเดียวกับฝั่งนิติบุคคลที่กรมฯ โอนเงินชำระภาษีส่วนเกินกลับไปให้บริษัทในมูลค่าทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท

เอกนิติ ย้ำว่า ตอนนี้ กรมฯ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การจัดเก็บภาษีตามตัวเลขที่ตั้งเอาไว้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นผลกระทบจะกลับไปตกอยู่กับประชาชน สิ่งที่กรมฯ พัฒนาในขณะนี้คือรูปแบบการให้บริการและให้ความรู้ในการเสียภาษีกับประชาชนให้ดียิ่งกว่าเดิม โดยมีการจับมือกับทั้งสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาช่วยในการกรอกแบบฟอร์มที่ง่ายขึ้น รวมไปถึงการเข้าไปพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องกับธุรกิจต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม เอกนิติ ย้ำว่า สำหรับประชาชนหรือบริษัทที่ยังไม่ได้ยื่นแบบฟอร์มภาษีเงินได้นั้น ยังมีเวลาจนถึงวันที่ 31 ส.ค. ที่จะถึงนี้ และแม้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันจะทำให้มีความยากลำบากเรื่องสภาพคล่อง แต่อธิบดีกรมสรรพากรก็แนะนำว่าให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เข้ามาก่อน เพราะกรมฯ มีระบบผ่อนจ่าย 3 เดือนโดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฟอร์ม ที่อาจโดนคิดเบี้ยค่าปรับ เดือนละ 1.5% ของฐานภาษี