ไม่พบผลการค้นหา
‘สิริน ก้าวไกล’ ห่วง สธ.กำหนดแนวทางจ่ายยาต้านเอชไอวี ใหม่ กระทบหน่วยให้บริการภาคประชาชน ชี้หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานคนไทย รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนการป้องกันโรค ไม่ใช่ส่งตีความกีดกันการเข้าถึงสิทธิ

วันที่ 14 ม.ค. 2566 สิริน สงวนสิน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 27 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติชะลอการจ่ายเงินงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในส่วนของประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองออกไปก่อน จำนวนเงินรวมกว่า 5,146.05 ล้านบาท และ แนวทางการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของกระทรวงสาธารณสุข ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคเอชไอวี (HIV) ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากข้อมูลจากศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทย ที่ระบุว่า สถิติของผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ลดลงจากปี 2557 ที่ประชาชนเริ่มรู้จัก ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ HIV หรือ ยา PrEP และ ยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อ HIV หรือ ยา PEP จากจำนวน 11,747 คน คงเหลือ 6,103 คน ในปี 2565 

สิริน กล่าวต่อว่า ผลมาจากความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคมที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน และเป็นศูนย์ให้บริการเวชภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อ HIV ฟรี แก่ประชาชนที่ไม่สะดวกเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาล หรือต้องการปกปิดตัวตนจากสาธารณะ ภายใต้การสนับสนุนเวชภัณฑ์ป้องกันโรคจากงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่า 20,000 คนต่อปี ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ที่รับยาทั้งหมด แต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้กำลังถูกทำลายโดยแนวทางปฏิบัติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำให้สถานให้บริการของภาคประชาสังคมไม่สามารถทำงานได้ ผลักภาระให้กับพี่น้องประชาชน และยังเป็นการเพิ่มภาระความรับผิดชอบให้กับบุคคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

"การที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ การจัดบริการเวชภัณฑ์ป้องการการติดเชื้อ HIV ต้องดำเนินงานภายใต้ความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เป็นการปิดกั้นโอกาสในการให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมใช้บริการจากหน่วยงานของภาคประชาสังคมมากกว่าการเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว สบายใจ และมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า"สิริน กล่าว

สิริน กล่าวต่อว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขปล่อยให้เกิดสุญญากาศและความไม่ชัดเจนในการให้บริการประชาชน ซึ่งกินเวลามานานหลายเดือนแล้ว ก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากจากภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ รวมทั้ง สร้างความสับสนและยุ่งยากในการใช้บริการของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง หรือแม้กระทั่งผู้มีสิทธิบัตรทองแต่อยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาลตามที่สิทธิระบุไว้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังหาทางออกไม่ได้ในประเด็นการแจกจ่ายเวชภัณฑ์และการอนุมัติงบประมาณเพื่อรองรับในกรณีดังกล่าวในอนาคต

 “กระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างความชัดเจนให้กับสังคมโดยเร็ว ในเรื่องการอนุมัติงบประมาณส่งเสริมการป้องกันโรคสำหรับประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์บัตรทอง และมาตรการในการแจกจ่ายเวชภัณฑ์ป้องกันโรค HIV โดยสถานบริการภาคประชาชน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนในวงกว้าง และอาจส่งผลถึงเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนโดยรวม อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาระให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ที่งานล้นมือมากพออยู่แล้ว โดยส่วนตัวคิดว่าการมัวมานั่งตีความว่าใครเข้าข่ายหรือใครไม่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับบริการจากกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ไร้สาระ เพราะประชาชนคนไทยทุกคนย่อมได้รับสิทธิ์นี้เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว เพียงแต่หากได้รับสิทธิ์อื่นที่ดีกว่าก็ให้ใช้สิทธิ์นั้นก่อน ก็เท่านั้นเอง การส่งไปตีความทางกฎหมายว่ากองทุนดังกล่าวจะสนับสนุนการให้บริการใครบ้าง จึงเสมือนเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสิทธิ์การสนับสนุนดังกล่าว ” สิริน กล่าว