ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะให้ความเห็นเฉพาะ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เท่านั้น เนื่องจากคดีนี้ไม่ใช่การพิจารณาคดีอาญา ทั้งนี้ อิสราเอลปฏิเสธข้อกล่าวหาจากแอฟริกาใต้อย่างรุนแรงว่า "ไม่มีมูลความจริง" โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะเปิดให้แอฟริกาใต้นำเสนอคดีในวันพฤหัสบดี (11 ม.ค.) และอิสราเอลจะแถลงค้านในวันศุกร์นี้ (12 ม.ค.)
ในเอกสารการยื่นคำร้อง แอฟริกาใต้กล่าวว่าการกระทำของอิสราเอลในฉนวนกาซา "มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายล้างกลุ่มชาติ เชื้อชาติ และชาติพันธุ์ปาเลสไตน์" ด้วยการกระทำอันได้แก่ "การสังหารชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ทำให้พวกเขาได้รับอันตรายร้ายแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ และก่อให้เกิดสภาพชีวิตที่คำนวณได้ว่าจะนำความเสียหายมาสู่พวกเขา"
คำร้องของแอฟริกาใต้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ยังเรียกร้องให้ศาลบังคับใช้ "มาตรการชั่วคราว" เป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งรวมถึงการสั่งให้อิสราเอลยุติกิจกรรมทางทหารทั้งหมดในฉนวนกาซา
ไอแซค เฮอร์ซอก ประธานาธิบดีอิสราเอล ระบุว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวจากแอฟริกาใต้นั้น "เลวร้ายและน่ารังเกียจ" เฮอร์ซอกระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า “เราจะอยู่ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และเราจะนำเสนอกรณีการใช้การป้องกันตนเองของเราอย่างภาคภูมิใจ ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรม”
ประธานาธิบดีอิสราเอลระบุเสริมว่า กองทัพอิสราเอล "พยายามอย่างเต็มที่ภายใต้สถานการณ์ภาคพื้นดินที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดผลที่ตามมาโดยไม่ตั้งใจ และไม่มีพลเรือนได้รับความสูญเสีย"
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถออกคำตัดสินได้อย่างรวดเร็วตามคำขอของแอฟริกาใต้ เพื่อเรียกร้องให้อิสราเอลระงับการรณรงค์ทางทหารในฉนวนกาซา แต่การตัดสินขั้นสุดท้ายว่าอิสราเอลกำลังก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่นั้นอาจต้องใช้เวลาหลายปี
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีผลผูกพันทางกฎหมายในทางทฤษฎีกับฝ่ายต่างๆ ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงอิสราเอลและแอฟริกาใต้ด้วย แต่คำตัดสินไม่สามารถบังคับใช้ได้ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2565 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้สั่งให้รัสเซีย "ระงับปฏิบัติการทางทหารทันที" ในยูเครน ซึ่งเป็นคำสั่งดังกล่าวถูกเพิกเฉยโดยรัสเซีย
แอฟริกาใต้วิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาอย่างรุนแรง และพรรครัฐบาลของแอฟริกาใต้แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์มายาวนาน เนื่องจากพวกเขามองว่าสิ่งที่ชาวปาเลสไตน์กำลังประสบ คล้ายคลึงกับการต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งเป็นนโยบายการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติที่บังคับใช้โดยรัฐบาลชนกลุ่มน้อยผิวขาวในแอฟริกาใต้ เพื่อต่อต้านคนผิวสีส่วนใหญ่ของประเทศ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 2537
ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซามีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลแล้วกว่า 23,350 คน นับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นหลังจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งการโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,300 ราย และอีกประมาณ 240 รายถูกจับเป็นตัวประกัน
ที่มา: