วันที่ 31 พ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วนวาระการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายยืนยันไม่รับหลักการ โดยอภิปรายด้านคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า โครงสร้างงบประมาณที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตลอด 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562 คิดเป็นเพียง 8.16% ที่มีการพัฒนา
สำหรับงบลงทุนด้านคมนาคม สูงสุดแบบทิ้งห่างแทบทุกปี เช่นเดียวกับปีนี้ที่กระทรวงคมนาคมรับงบลงทุนไป 1.68 หมื่นล้านบาท สูงสุด 34% ขณะที่หลายๆ กระทรวงได้งบต่ำกว่าหมื่นล้าน ทั้งยังมีการกระจุกตัวของงบประมาณอยู่ที่กรมทางหลวง (กล.) และกรมทางหลวงชนบท (กช.) ซึ่งมีแต่ประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีในประเทศอื่น ทั้งยังมีความล้มเหลวในการใช้งบประมาณ เห็นได้จากการเลื่อนเปิดใช้ทางด่วนบางปะอิน-โคราช ซึ่งเดิมตั้งเป้าเปิดใช้ เม.ย. 2565 แต่กลับเปิดได้เพียงบางส่วน
สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เมื่อไล่ย้อนดูประวัติของงบประมาณฯ แล้ว ตั้งแต่ปี 2562 โครงการมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-โคราช (ช่วงที่ 5) เริ่มล่าช้ามาตั้งแต่ปี 2563 งบฯเริ่มปูดขึ้นในปี 2564 ซึ่งวางกำหนดแล้วเสร็จ ทว่าปี 2565-2566 กลับไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารอย่างมีเงื่อนงำ เนื่องจากงานมีปัญหาแต่ไม่เปิดเผย อีกทั้งยังมีการตั้งงบผูกพันไปถึงปี 2567 ซึ่งไม่แน่ว่าโครงการจะแล้วเสร็จหรือไม่
ในส่วนของการกระจายงบประมาณเองก็เห็นความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างชัดเจน เพราะภาคท้องถิ่นขาดงบที่แม้จะซ่อมบำรุงถนน แต่หน่วยงานส่วนกลางกลับมีงบไปสร้างเมกะโปรเจกต์ และสร้างถนนเพิ่มมากมาย เป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยเฉพาะงบในภาคจังหวัด จะเห็นได้ว่า จ.บุรีรัมย์ นำโด่ง ได้งบมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.29 เท่า ตามมาด้วย จ.สุรินทร์ 3.58 เท่า แต่ยังมีจังหวัดที่ได้รับงบต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอีกมากมาย ไม่สะท้อนการกระจายงบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
สุรเชษฐ์ เสนอว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรแยกบริบทของการคมนาคมเป็น ในเมือง และระหว่างเมือง ส่วนกลางควรดูแลคมนาคมระหว่างเมือง และส่วนท้องถิ่นควรดูแลคมนาคมในเมือง ทำท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สร้างและวางผังเมืองให้ดี และควรเลือกตั้ง มากกว่าแต่งตั้ง และพรรคก้าวไกลยังได้เสนอ พ.ร.บ.กระจายอำนาจขนส่ง เพื่อกระจายอำนาจ ยุติระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา กระจายเม็ดเงินไปสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง