ไม่พบผลการค้นหา
'มาริษ' ขึ้นโพเดียมประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต ประกาศปฏิรูปยูเอ็น มุ่งคำนึงประเทศกำลังพัฒนา เอาชนะอาชญากรรมข้ามชาติ ชูบทบาทเยาวชนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ยกเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงของไทย ในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future)

นายมาริษ กล่าวว่า ปัจจุบันมนุษยชาติยืนอยู่บนจุดเปลี่ยน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของเราเอง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้โลกใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ข้อมูลที่ผิดพลาดและข้อมูลบิดเบือน กลับทำให้เราห่างเหินกันมากขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกและความมั่งคั่งของโลกกำลังขยายตัว แต่ความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมยังคงมีอยู่ ภัยคุกคามต่อสันติภาพและสิ่งแวดล้อมมีอยู่ทุกหนแห่ง อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการแก้ไขปัญหาก็มีอยู่เช่นกัน

การประชุมสุดยอดแห่งอนาคตครั้งนี้ มอบความหวังให้เราได้กำหนดเส้นทางของเราไปสู่อนาคตที่ดีกว่า การประชุมครั้งนี้ ทำให้เรามีโอกาสที่จะสร้างอนาคต ซึ่งไม่ใช่แค่อนาคตที่เราต้องการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตที่มนุษยชาติต้องการอีกด้วย อนาคตแบบไหนที่ผมกำลังพูดถึง ?

ประการแรก คือ อนาคตที่ทุกคนสามารถได้รับการปกป้อง ซึ่งการปกป้องนั้น เริ่มต้นจากการตอบรับข้อเรียกร้องใน “คำมั่นเพื่ออนาคต” (Pact of the Future) เพื่อการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นสำหรับแนวทางที่เราดำเนินการเพื่อการเติบโตต่อไป ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยท้องถิ่น มีคนและโลกเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างยั่งยืน สอนให้เราใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนและสมดุลกับธรรมชาติ เพราะหากไม่มีความยั่งยืนก็จะไม่มีอนาคต

นายมาริษ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางการเลือกปฏิบัติและการแบ่งแยก หรือผ่านการทำลายล้างในความขัดแย้ง ดังนั้น ประเทศไทยมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อให้องค์การสหประชาชาติ สามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของทุกประเทศได้อย่างแท้จริง และคณะมนตรีจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ 

นอกจากนี้ เรายังต้องเอาชนะความท้าทายของยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงอาชญากรรมทางไซเบอร์ เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกฝ่าย เพื่อเสริมสร้างบทบาทขององค์การสหประชาชาติ ในฐานะที่เป็นจุดยึดของสันติภาพและความยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา

ประการที่สอง คือ อนาคตที่ทุกคนสามารถเจริญรุ่งเรืองได้ หัวใจสำคัญของความเจริญรุ่งเรือง คือ การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน การศึกษาที่มีคุณภาพ การดูแลสุขภาพ และโอกาสในการจ้างงานต้องพร้อมสำหรับทุกคน ซึ่งรวมถึงการลดช่องว่างทางเพศและการลดช่องว่างทางดิจิทัล เพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยี มีส่วนสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองอย่างครอบคลุม ดังนั้น ประเทศไทยจึงสนับสนุนการเรียกร้องของคำมั่นด้านดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Compact) ที่จะลดช่องว่างด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างประเทศและภายในประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยตระหนักดีว่า สิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานในการสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองสำหรับทุกคน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเสนอชื่อเพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำหรับวาระปี 2025-2027 เรามุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อความรุ่งเรืองและยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเรามองไปยังอนาคต เราต้องมั่นใจว่าจะไม่มีใครหรือประเทศใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่แข็งแรงหรือเปราะบาง เราก็ต้องก้าวไปด้วยกัน

ประการที่สาม คือ อนาคตที่สดใสสำหรับทุกคน เริ่มต้นด้วยการตระหนักถึงบทบาทของเยาวชน ซึ่งเป็นผู้แบกรับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เราต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของพวกเขา ส่งเสริมเสียงของพวกเขา และลงทุนในศักยภาพของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงภูมิใจที่มีตัวแทนเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งในคณะผู้แทนของเราในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดอนาคตที่พวกเขาวาดหวังไว้สำหรับตัวเอง เพราะท้ายที่สุดแล้ว อนาคตนั้นก็เป็นของพวกเขาเอง

กระนั้นก็ดี ความมุ่งมั่นของเราต่ออนาคตที่สดใส ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปัจจุบันเท่านั้น ประเทศไทยยินดีกับ “ปฏิญญาว่าด้วยอนุชนรุ่นหลัง” (Declaration on Future Generations) เพราะปฏิญญานี้เตือนว่า เราต้องรับผิดชอบต่อคนที่กำลังจะเกิดมา ซึ่งถูกกำหนดให้สืบทอดโลกใบนี้ต่อไปอย่างไร การกระทำของเราในวันนี้จะหล่อหลอมการดำรงชีวิตของพวกเขา ดังนั้น เราจึงต้องสร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสเหนืออุปสรรค มีคำสัญญาอยู่เหนืออันตราย มีความหวังเหนือความยากลำบาก เพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป

นายมาริษ กล่าวว่า อนาคตทั้งสามมิตินี้ จะบรรลุได้ด้วยเจตจำนงทางการเมืองเท่านั้น เพื่อเปลี่ยนวิสัยทัศน์นี้ให้เป็นจริง เราต้องมีความสามัคคีและความมุ่งมั่น ประเทศไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคตและข้อเสนอในการฟื้นฟูระบบพหุภาคีและสถาบันระดับโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ซึ่งความไว้วางใจในระดับโลก และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ความสำเร็จของการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ไม่เพียงขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาทางออกในระบบพหุภาคีเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองของประเทศสมาชิก ที่จะร่วมมือกันและผลักดันให้ก้าวหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความร่วมมือในกรอบพหุภาคีไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งจำเป็น

“ขอให้การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของเราสู่อนาคตที่ทุกคนสามารถได้รับการปกป้อง อนาคตที่ทุกคนสามารถเจริญรุ่งเรือง และอนาคตที่คำสัญญาของเราสำหรับวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าจะกลายเป็นจริง ด้วยความพยายามร่วมกันและเจตจำนงทางการเมืองของเรา ขอให้เราสามัคคีและทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายของวันนี้ และมอบวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าให้กับทุกคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว