รายงานของยูนิเซฟระบุว่า มีเด็กประมาณ 463 ล้านคน ที่ขาดแคลนการเข้าถึงอุปกรณ์และไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเรียนทางไกล โดย ‘เฮนเรียตตา ฟอร์’ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟระบุว่า การที่มีเด็กจำนวนมากที่เผชิญการหยุดชะงักของการศึกษาเป็นเวลาหลายเดือนต่อเนื่องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการศึกษาระดับโลก และอาจส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นเวลาหลายทศวรรษข้างหน้า
ยูนิเซฟประเมินว่ามีเด็กประมาณ 1,500 ล้านคน ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์หรือการปิดโรงเรียนจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยรายงานนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาทางไกลของเด็ก เช่น ในยุโรปได้รับผลกระทบน้อยกว่าในแอฟริกาและหลายพื้นที่ของเอเชีย ซึ่งรายงานของยูนิเซฟมาจากการรวบรวมข้อมูลจากประมาณ 100 ประเทศ ประเมินจากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางไกลและเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุของประชาชน
อย่างไรก็ตาม รายงานยูนิเซฟระบุว่า แม้แต่เด็กที่สามารถเข้าถึงการศึกษาทางไกลได้ก็เผชิญกับอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการขาดพื้นที่ทำงานที่บ้าน ความกดดันจากการต้องทำงานอื่นๆ เพื่อครอบครัว หรือขาดการเข้าถึงการสนับสนุนด้านเทคนิคเมื่อเกิดปัญหาด้านคอมพิวเตอร์ขึ้น
โดยในจำนวนนักเรียนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนเสมือนจริงๆ ได้ มี 67 ล้านคน อยู่ทางตะวันออกและทางใต้ของแอฟริกา, 54 ล้านคน อยู่ในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก, 80 ล้านคน อยู่ในแปซิฟิกและเอเชียตะวันออก, 37 ล้านคน อยู่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, 147 ล้านคน อยู่ในเอเชียใต้ และ 13 ล้านคนในอเมริกาใต้และแคริบเบียน แต่ไม่มีการเผยตัวเลขจำนวนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
ทั้งนี้ ยูนิเซฟเรียกร้องให้มีการลงทุนอย่างเร่งด่วนเพื่ออุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล พร้อมเรียกร้องรัฐบาลต่างๆ ให้ความสำคัญกับการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยเป็นอันดับแรกเมื่อเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์