ไม่พบผลการค้นหา
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงในกรณีที่ สส. ได้พูดถึงเรื่องของแรงงานโดยเฉพาะการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทยังไม่ได้ตรงตามเป้าของนโยบาย เศรษฐา ทวีสิน โดยแจงว่า เป็นมติไตรภาคี-แค่บันไดก้าวแรกในปีนี้

วันที่ 4 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติตาม ม.152

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงในกรณีที่ สส. ได้พูดถึงเรื่องของแรงงานโดยเฉพาะการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทยังไม่ได้ตรงตามเป้า ของนโยบาย เศรษฐา ทวีสิน แต่ตนเชื่อว่า การที่ตนได้มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทใน 10 จังหวัด ในอาชีพโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ถือว่า การขึ้นค่าแรงเราต้องดูในหลายมิติ ทำไมถึงต้องเลือกแต่ละสาขา ทำไมถึงต้องปฏิบัติที่ 10 จังหวัดก่อน

พิพัฒน์ กล่าวว่า แน่นอนวันนี้โดยเฉพาะบริษัทต่างๆ ถือครอง โดย SME เรามีผู้ถือครองสัดส่วน ของ SME มีทั้งหมดประมาณ3,202,002 ราย ถือครองโดย SME 71% และถือครองโดย Micro 2,727,186 ราย Small 416,628 ราย Medlum 43,564 ราย การที่ตนจะประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ทุกมิติในทุกจังหวัดทั้งประเทศไทย คงไม่กล้ากระทำในขณะนี้ และเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ ได้มีการประชุม และตั้งคณะอนุกรรมการไตรภาคีเพื่อทำการศึกษาว่า ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยเราควรจะเริ่ม จากจุดตรงไหนก่อน

พิพัฒน์ กล่าวว่า แน่นอนวันนี้ทางรัฐบาลของ เศรษฐา เรามีการขับเคลื่อนในเรื่องของการท่องเที่ยวซึ่งก็เห็นอยู่ใน 3 เดือนแรกเรามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาประมาณ 9,400,000 คน เมื่อปีที่แล้วเราไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมายขนาดนี้ ก็เป็นผลพวงจากการประกาศเรื่องของวีซ่าฟรี หรือการเชิญชวนของนายกฯ ที่ได้เดิน ทางไปต่างประเทศหลายๆ ประเทศ ให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ประกอบกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราก็ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ซึ่งตรงส่วนนี้ก็เป็นตัวจุดประกายให้ตัวผมเองคิด ว่า หมวดของการท่องเที่ยวควรจะเป็นเป้าหมายแรกที่เราจะประกาศขึ้นค่าแรงเมื่อทำการศึกษา

พิพัฒน์กล่าวต่อว่า การประชุมเมื่อวันที่ 26 ก.พ. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ ซึ่งเรามีคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมใน 2 กระทรวงก็คือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในอดีต 2 กระทรวงนี้ไม่ได้เป็นคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งผลการศึกษาในวันที่ 26 มีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง มติเป็นเอกฉันท์ ทั้งตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้างและฝ่ายข้าราชการ เห็นด้วยตามข้อเสนอของอนุกรรมการให้ขึ้นค่าแรงเฉพาะโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวที่ยกระดับคือ 10 จังหวัด ซึ่งตัวผมเองก็คิดว่านี่คือบันไดก้าวแรกของการที่เราจะก้าวเข้าไปสู่ในปีนี้อีก

ทั้งนี้ คณะกรรมการไตรภาคี เราจะมีการประชุมทุกเดือน โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งตนก็ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงว่าให้ทำการศึกษาโดยผ่านคณะอนุกรรมการว่าสุดท้ายแล้วในแต่ละครั้งที่มีการประชุมจะมีการขับเคลื่อนหรือการประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่จะก้าวสู่ 400 บาท ในอาชีพใดอีก ซึ่งแน่นอนเราจะไม่มีการประกาศค่าแรงว่าการประกาศค่าแรงขั้นต่ำในอดีตที่ผ่านมา 1 ปีเราประกาศเพียงครั้งเดียว

แต่ในยุคของ เศรษฐา ตนได้หารือนายกฯ ว่า จะขออนุญาตในแต่ละปีเราอาจจะมีการประกาศหลายครั้ง แต่การประกาศเราจะขยายเรื่องธุรกิจต่างๆว่าธุรกิจใดควรจะเป็น 400 และมีความมั่นใจต่อไปว่าหากเรากระทำการไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2570 เป้าหมายของรัฐบาลนี้หรือนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา เป้าหมายที่ 600 บาท ตนมีความมั่นใจถ้าหากเศรษฐกิจของเราสามารถเติบโตจากปีนี้ไปจนถึงปี 69- 70 คำว่า 600 บาท ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไกลเกินความฝัน

ส่วนทำไมประกาศเฉพาะหมวดท่องเที่ยว พิพัฒน์ กล่าวว่า ตนได้มีการหารือกับสมาคมและหอการค้าสภาอุตสาหกรรม ฝ่ายนายจ้าง ถ้าหากประกาศเป็นภาพรวม 400 บาททั้งหมด อาจจะมี SME ที่ล้มหายตายจากไปประมาณ 30-40% แน่นอนคือคนที่รอดก็ดี แต่คนที่ไม่รอดก็คือล้มหายตายจาก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ประกาศโดยไม่ได้ทำการศึกษาเลย แล้วเกิดการล้มหายตายจากของ SME ตรงนั้น ตนถามว่าความรับผิดชอบจะอยู่ที่ใคร ตนเข้าใจที่ สส.ถามมาด้วยความหวังดี ว่าฝนตกหย่อมๆ การที่ฝนตกเป็นหย่อมๆเป็นเรื่องปกติแต่ถ้าในอดีตการที่บอกว่าฝนตกทั่วฟ้าทีเดียว แล้วเกิดการชะงักงัน เหมือนในอดีต ที่ผ่านมาโดยไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยติดต่อกันถึง 4 ปีตนไม่อยากเห็นภาพอย่างนั้น ตนอยากเห็นภาพว่าปีนี้เราขึ้นเท่าไหร่ ปีต่อๆ ไปเราควรจะขึ้นเท่าไหร่

ส่วนกรณีที่ ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ที่ได้อภิปรายว่า มีความกังวลในเรื่องของแรงงานชาวเมียนมาหรือเพื่อนบ้านของเรา ที่ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีการสู้รบกัน จนมีการลักลอบหรือเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย เพราะฉะนั้นการลักลอบเข้ามาตนเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ต้องกังวลกระทรวงแรงงานเราตอนนี้เตรียมความพร้อมในการที่จะรับแรงงานที่เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และกำลังคิดว่าเมื่อเข้ามาต้องลงทะเบียนให้ถูกต้อง

พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรามีการเปิดศูนย์ CI ทั้งหมด 8 แห่งที่จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี สมุทรปราการปทุมธานี เชียงใหม่ และนครสวรรค์ เราพยายามขึ้นทะเบียน โดยรัฐบาลเมียนมาเป็นผู้เข้ามาดำเนินการทั้งหมด กระทรวงแรงงานเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์ CI เหล่านั้น เรามีหน้าที่อำนวยความสะดวก แต่สิ่งที่วันนี้ประเทศไทยเราต้องการคือ วันนี้คนไทยเราเกิดน้อยกว่าคนที่เสียชีวิต แรงงานในอนาคตของเราขาดแน่นอน

ส่วนในเรื่องของคณะกรรมการประกันสังคมที่มีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีกระแสข่าวว่า จะมีการยกเลิกคณะกรรมการประกันสังคมที่ได้มีการเลือกตั้ง มีการรับรองเรียบร้อย พิพัฒน์ กล่าวว่า มีความคลาดเคลื่อนก็เพราะว่าในพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับที่ 4 พ.ศ 2558 มาตรา 8 วรรค 3 ซึ่งในขณะที่เรามีการนำเข้าเพื่อจะหารือ ในพระราชบัญญัติข้อนี้ ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ในปี 2564 ในขณะนั้น ซึ่งก็ไม่ทันรัฐบาลในอดีต จึงต้องนำเข้าในครม.รัฐบาลชุดปัจจุบัน

ในขณะนั้นเราจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 8 เก่ามาเป็นมาตรา 8 ใหม่ จึงอยากชี้แจงว่าไม่มีการยกเลิกแน่นอน แต่ที่สำคัญก็คือว่าในขณะนั้นอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด19 จะมีวรรคที่เขียนไว้ว่าให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการตั้งคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการประกันสังคม นั่นหมายความว่าเป็นภาวะวิกฤต เรื่องนี้ตนก็จะนำเข้าครม.และนำเข้าสู่สภา และในพระราชบัญญัติฉบับนั้นตนอยากให้รีบผ่านเพราะการลาคลอด 98 วันโดยประกันสังคมรับผิดชอบ 50% นายจ้างรับผิดชอบ 50% เราจะได้รีบประกาศใช้และนโยบาย 3 ข ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องขออนุญาตขอฝากสส.เมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาก็ขอให้ช่วยกันโหวตผ่านเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน

"ทำไมฝนจึงตกไม่ทั่วฟ้า ทำไมฝนถึงตกเป็นหย่อมๆ การที่ฝนตกเป็นหย่อมๆนั้นมันอยู่ที่การพิจารณาว่า ตกหย่อมไหนควรจะตกก่อน ในส่วนที่ยังไม่ได้ตกหมายความว่า มันยังไม่เหมาะสมที่จะตก ถ้าขืนไปตกในหย่อมนั้น แล้วผู้ประกอบบอกฉันอยู่ไม่ได้ ฉันปิดกิจการ นั่นคือความหายนะของกระทรวงแรงงานของผู้ใช้แรงงาน เพราะอะไร ตัวผมเองไม่มีความสามารถที่จะไปหาตำแหน่งงานว่างถึง 4-5 ล้านตำแหน่งให้กับเพื่อนๆคนงานที่ไม่ได้งานทำ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวผมได้กระทำไปและทางปลัดกระทรวงและข้าราชการและคณะกรรมการไตรภาคีทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างพวกเราทำงานด้วยความรอบคอบเพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเราจะก้าวไปทีละก้าว เพราะฉะนั้น ขออนุญาตว่าขอให้ฝนตกไปทีหย่อมอย่าตกทั่วฟ้า" พิพัฒน์ กล่าว