การพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) มองว่า ขณะที่การควบรวมเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรม แต่อาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิหรือลดทางเลือกของผู้บริโภคได้ ดังนั้น ในฐานะหนึ่งในผู้ให้บริการรายใหญ่ จึงมีความจำเป็นต้องท้วงติงให้มีการพิจารณากรณีดังกล่าวอย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม ผู้บริโภค และประเทศชาติด้วย ซึ่งข้อมูลที่ กสทช. นำเสนอนั้นก็เป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นเพียง Snapshot เบื้องต้นง่ายๆ ว่าส่วนแบ่งการตลาดจะเป็นอย่างไร ณ วินาทีแรกที่เกิดการควบรวมกิจการขึ้นเท่านั้น ไม่ได้อธิบายในรายละเอียดว่า หลังผ่านพ้นไป 3-4 ปี ส่วนแบ่งในตลาดจะเป็นอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ AIS มีจุดยืนชัดเจนว่า พร้อมเข้าแข่งขันในทุกรูปแบบ เพราะหน้าที่ของเรา คือ การดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดจึงไม่กังวลว่าจะเกิดการควบรวมขึ้นหรือไม่ในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ข้อกังวลอยู่ที่ว่าการควบรวมนั้นเป็น ไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ จึงจำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ในแต่ละมิติ เพราะการควบรวมอาจจะเป็นไปโดยละเลยเรื่องการเสียผลประโยชน์ของผู้บริโภค และการเสียผลประโยชน์แห่งชาติในแง่ของเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะมีขึ้นในอนาคต
จากการทำ Focus Group นัดแรกของ กสทช. เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เก่ียวข้องต่อการควบรวมกิจการดังกล่าว ศรัณย์ มองว่า การที่ผู้ประกอบการหลายรายเห็นด้วยต่อการควบรวมนั้น ส่วนหนึ่งเพราะอยากให้ผู้ให้บริการทุกรายมีความแข็งแรง อย่างไรก็ดี การเสริมความแข็งแรงไม่ได้จำเป็นต้องเกิดจากการควบรวมเสมอไป แต่มีทางออกอีกหลายทาง อาทิ การลดต้นทุนร่วมกันผ่านการใช้เสาสัญญาณร่วมกัน ใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายร่วมกัน จับมือกันทำตลาดผ่านการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ แม้กระทั่งการทำโรมมิ่งซึ่งกันและกัน โดยทุกวันนี้ก็ทำร่วมกับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT อยู่แล้ว หลังจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับการดำเนินการต่อของ กสทช. ว่าจะนำข้อมูลที่ได้รับจากการทำ Focus Group ไปประมวลผลประกอบการตัดสินใจให้รอบด้านหรือไม่
อย่างไรก็ดี ศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากให้ กสทช. พิจารณา คือการขยายกรอบเวลาพิจารณาการควบรวมออกไปให้เป็นไปย่างรอบคอบ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาของต่างประเทศ ที่ใช้ระยะเวลาศึกษาเรื่องใหญ่ระดับชาติเช่นนี้กันหลายปีกว่าหน่วยงานผู้กำกับดูแลของประเทศนั้นๆจะตัดสินใจให้เกิดการควบรวมออกมา
ในส่วนของข้อกฎหมายที่น่ากังวล คือการที่ประกาศ กสทช. ปี 2561 ระบุว่า ผู้ประสงค์ควบรวมกิจการต้องจ้างที่ปรึกษาอิสระขึ้นมา และเพราะว่าที่ปรึกษาอิสระเหล่านี้รับเงินจากบริษัทผู้ว่าจ้าง แล้วจะให้ความเห็นแย้งต่อการควบรวมได้หรือ ข้อกฎหมายที่นำมาพิจารณาจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าที่ปรึกษาอิสระ มีความเป็นอิสระโดยแท้จริงหรือไม่
ดังนั้น กสทช. ต้องเป็นพระเอก เพราะเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญที่จะกำกับดูแลการแข่งขันในส่วนนี้