ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ถกหาทางออกหลังคำวินิจฉัยศาล รธน.ให้ประชามติก่อนว่าจะให้ทำ รธน.ใหม่หรือไม่ โดย ส.ว.เสนอญัตติให้ตีตกการโหวตวาระ 3 - ปชป.ดันชงศาล รธน.ตีความอำนาจ เถียงไม่ยุติหลังสมาชิกเสนอ 3 ญัตติ ก่อนพักประชุม กลับมามีมติ 473 เสียงหนุนญัตติ 'ไพบูลย์' ลุยโหวตวาระ 3 ทันที ทำให้ 'ภท.' วอล์กเอาต์ ซัดกลางห้องประชุมไม่สังฆกรรม อัดสภาโจ๊ก

วันที่ 17 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ….(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระที่สาม โดยที่ประชุมรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ต้องทำประชามติก่อน โดยนายชวนแจ้งต่อที่ประชุมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ตามที่รัฐสภายื่นคำร้องให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำใหม่ได้ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติก่อนว่าประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

'ส.ว.' ขวางลงมติวาระที่ 3 ชงญัตติยุติการโหวต

จากนั้น เปิดให้สมาชิกรัฐสภาแสดงความเห็น โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้ว แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใม่ ต้องทำประชามติ ถามประชาชนก่อน ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอนั้น ศาลวินิจฉัยว่านอกจากเป็นการร่างใหม่แล้วยังเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 ด้วย ชัดเจนว่าการโหวตวาระ 3 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 กระทำไม่ได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสภาก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน ดังนั้น เมื่อรัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนเห็นว่าต้องเริ่มต้นโดยรัฐสภาเสนอญัตติ ขอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อรัฐสภาเห็นชอบ จึงส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกเสียงประชามติ หากมีการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าประชาชนออกเสียงให้จัดทำ รัฐสภาเท่านั้นมีอำนาจทำได้ โดยตั้งคณะกรรมาธิการ ขึ้นมาพิจารณา แต่ไม่สามารถตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาดำเนินการได้

ด้าน สมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะผู้ยื่นญัตติ ขอเสนอแก้ไขปัญหาดังกล่าว อภิปรายว่า ความเห็นของฝ่ายกฎหมายของ ส.ส. ส.ว. และคณะกรรมการประสานงานด้านกฎหมายของประธานรัฐสภา มีความเห็นสอดคล้องกันทั้ง 3 ส่วน ว่าไม่สามารถกระทำการลงมติวาระ 3 ได้ เนื่องจากการดำเนินการในกระบวนการและเนื้อหาสำคัญนั้นขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อขอให้พิจารณาเป็นเรื่องด่วนให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาว่าการลงมติของรัฐสภาวาระ 3 ไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กร เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภามอบอำนาจเด็ดขาดให้ ส.ส.ร.ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยังไม่มีการทำประชามติก่อนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องตกไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  ไพบูลย์ vvve_2.jpgประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ สมชาย ไพบูลย์ dd0317_2.jpg

ส่วน สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่มีข้อความใดในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุไม่ให้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 สิ่งที่อ้างมาว่าลงมติวาระ 3 ไม่ได้ เป็นแค่ความเห็นของฝ่ายกฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. ถ้าไม่อยากแก้ก็บอกมาตรงๆ ว่า ไม่อยากแก้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ถึงจะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ไขทั้งฉบับ เพราะไม่ได้แตะต้องหมวด 1 และ 2 ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ลงวาระ 3 ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐสภาทำอะไรไม่ได้เลย ยืนยันรัฐสภาลงมติวาระ 3 ได้ ต้องเดินหน้าต่อ รัฐสภาจะขายหน้าไปถึงไหน อย่าใช้หลักกฎหมายข้างๆคูๆ คนที่เสนอให้แก้ ทำไมไม่อายบ้าง ขอให้ฝึกอายบ้าง

ด้าน ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เหตุใดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก แต่การฉีกรัฐธรรมนูญโดยการรัฐประหารไม่มีใครคัดค้าน มีผู้ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารปี 2557 นั่งอยู่ในที่นี้หลายร้อยคน และในวันนี้ยังมาขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญอีก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปราบโกง แต่ขี้โกง เอาเปรียบ ต้องการสืบทอดอำนาจ ควรโหวตวาระ 3 ให้เสร็จ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้โหวต อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ตีความแบบศรีธนญชัย

ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  จุรินทร์ ประชาธิปัตย์ ddddddddddddddd7_2.jpg

ปชป.ดันชงศาล รธน.ตีความ

จากนั้น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เห็นควรให้รัฐสภามีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งในประเด็นต่างๆ เหตุผลทั้งหมดนี้ไม่ได้ประสงค์เตะถ่วงหรือประวิงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจุดยืนของตนและพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นและเกิดขึ้นได้จริง การที่ต้องขอความเห็นชอบเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความรอบคอบ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปราศจากข้อสงสัย ไม่มีปัญหาตามมาภายหลังและเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมและได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นในอนาคตอย่างแท้จริง

'ชลน่าน' ท้วงญัตติ ปชป.ขอให้ถอนออกไป

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขณะนี้รัฐสภากำลังรับญัตติ 2 ญัตติ โดยญัตติแรกเสนอโดย ส.ว. ที่เสนอขอให้รัฐสภามีมติไม่ให้มีการลงมติในวาระที่สามและญัตติจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีการเสนอญัตติซ้อนญัตติ ถ้ามีผู้รับรองจะเป็นญัตติทันทีและจะทำให้ญัตติแรกตกไป ดังนั้น ขอให้ประธานวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน

ชวนชี้แจงว่า ได้เชิญเจ้าหน้าที่มาหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในที่สุดมีความเห็นว่า เป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องทำนองเดียวกัน และถ้าถามญัตติที่นายสมชาย เสนอมีผล หมายความว่าไม่มีการลงมติ ญัตติของนายจุรินทร์ ก็อาจจะมีปัญหาตกไป หรือถ้าถามญัตติของนายจุรินทร์ก่อน ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญต่อไป เรื่องก็จบไปในตอนนี้ แล้วค้างเรื่องนี้ไว้ และไม่แน่ใจว่าจะมีผู้อื่นเสนอญัตติอีกหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ต้องลงมติ

ให้ นพ.ชลน่าน อภิปรายอีกครั้งว่า ถ้าประธานจะวินิจฉัยว่าเป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็ต้องลงมติในทำนองเดียวกัน แต่ญัตติที่เสนอเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งญัตติของ จุรินทร์ที่ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญถ้ามีมติเราก็ส่ง หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็ถูกพักค้างไว้ในระเบียบวาระ

ขณะเดียวกัน ญัตติของ สมชาย ถ้ารัฐสภามีมติไม่ลงมติวาระ 3 ทุกอย่างจบ ญัตติที่สองก็ไม่เกิดผล ดังนั้นประธานต้องวินิจฉัยญัตติแรกก่อนว่าตกหรือไม่ตก ถ้าไม่ตก จึงจะเข้าสู่ญัตติที่สองได้ ไม่ใช่ซ้อนกันอย่างนี้ ตนถือว่าญัตติแรกตกแล้ว เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้น สิ่งที่มีมติวันนี้จะเป็นโมฆะทั้งหมด จึงอยากให้จุรินทร์ถอนญัตติออกไป ไม่เช่นนั้นเราทำงานไม่ได้

ขณะที่ นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ขอใหเลื่อนการลงมติวาระ 3 หรือแขวนไว้ออกไปก่อน เพื่อความชัดเจน จากนั้นหาข้อสรุปเชิงข้อกฎหมายให้ชัดเจนว่าสถานะปัจจุบันของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และต้องดำเนินการอย่างไร จึงเห็นด้วยที่จะให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออกไม่ใช่สร้างปัญหา

ส่วน เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ขอเสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติไม่ลงมาติวาระ 3 เนื่องจากขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงถ้อยคำญัตตินายสมชายให้ชัดเจนขึ้น โดยถือเป็นญัตติที่ 3 ที่ถูกเสนอขึ้นมาให้พิจารณา

ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  ชลน่าน 7_dwc2.jpg

ฝ่ายค้านย้ำญัตติโหวตวาระ 3

ด้าน นพ.ชลน่าน อภิปรายอีกครั้งว่า ขอเสนอญัตติให้รัฐสภาทำหน้าที่ลงมติวาระ 3 ต่อไป ตามมาตรา 256 เพราะเห็นว่า ทำต่อได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขเพิ่มเติมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ทำได้ แต่ต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ซึ่งขั้นตอนทำประชามติ ฝ่ายค้านและนักวิชาการต่างๆ อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ล้วนมีความเห็นว่า ให้ทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับการทำประชามติก่อนยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญระบุการทำประชามติไว้ 2 กรณีคือ กรณีมาตรา 166 ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และมาตรา 256 (8) ให้ทำประชามติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังวาระ3

“ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องทำประชามติหลังลงมติวาระ 3 เท่านั้น อยากให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 เพื่อให้ประชาชนใช้อำนาจตัดสินจะมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ อย่าปิดกั้นอำนาจประชาชน ถ้าไปปิดกั้นอาจเกิดวิกฤตนองเลือด เหมือนปี 2535 อย่าให้บ้านเมืองมีอันเป็นไปเพราะการตัดสินใจของรัฐสภา ไม่มีคำพูดใดบอกว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการมาผิด ทางออกดีที่สุดแนวทางเดียวคือ โหวตวาระ 3 และต้องลงมติให้ผ่าน อย่าให้รัฐธรรมนูญแท้งก่อนคลอด วันนี้ใส่สูทดำขอไว้ทุกข์ให้กับการทำแท้งรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 18 มีนาคม เรียกร้องให้แต่งชุดดำเต็มสภา เพราะไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐธรรมนูญ” นพ.ชลน่านกล่าว

กิตติศักดิ์ ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภา 0E-49C6-8BEF-81636F8C0DF8.jpegประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ 210d317_1.jpgประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  ก้าวไกล รังสิมันต์  317_0.jpgพิธา ก้าวไกล ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  w210317_2.jpg

ส.ว.เดือด 'ก้าวไกล' อภิปรายนอกประเด็น ชูป้ายปล่อยแกนนำม็อบราษฎร

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้เกิดการประท้วงโดย ส.ว.ในช่วงบ่าย จากการที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายพาดพิงองค์กรตุลาการ พิจารณาขังผู้เห็นต่างทางการเมือง 11 คน ที่มีบทบาทเรียกร้องรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ ขังแล้วยังถูกข่มขู่ คุกคามในเรือนจำด้วยการตรวจโควิดในยามวิกาล มี ส.ส.พรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ในห้องประชุมชูป้ายปล่อยเพื่นอ ซึ่งเป็นภาพแกนนำคณะราษฎรที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เป็นผลให้ ส.ว. ใช้สิทธิลุกประท้วงที่ รังสิมันต์ และ พรรคก้าวไกลนำป้ายมาชูในห้องประชุมรัฐสภา และอภิปรายนอกประเด็น

ทั้งนี้ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ระบุว่า “ไม่รู้นักการเมืองที่อภิปรายกับพวกชูป้ายอะไรขึ้นมา ท่านประธานต้องวินิจฉัยว่าชูป้ายได้ไหม ถ้าชูได้ผมจะเอาป้ายมาชูบ้าง” แต่ รังสิมันต์ ยังอภิปรายถึงการคุมขังของแกนนำราษฎรอยู่ ทำให้ กิตติศักดิ์ ทักท้วงว่าถ้าชูป้าย 

"อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่ทราบว่าเกี่ยวอะไร ปล่อยเพื่อนกูเหรอ เดี๋ยวเพื่อนจะตามเข้าไปอีก" กิตติศักดิ์ ระบุ

ขณะที่ อนุศักดิ์ คงมาลัย ส.ว. ระบุว่า “ไม่ต้องสร้างโอกาสในการนำเสนอภาพอะไรออกไปถึงพี่น้องประชาชน เพราะพี่น้องประชาชนเข้าใจว่า เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับการอภิปรายในวันนี้ ส่วนออน กาจกระโทก ส.ว. ระบุว่า “เป็นการกระทำที่ไร้มารยาทในสภา”

ทำให้ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้สั่งห้ามชูป้ายในที่ประชุม จากนั้น รังสิมันต์ ได้เสนอญัตติขอให้ที่ประชุมรัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สามต่อไป เพื่อให้เห็นว่าจะมีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นของประชาชน

ประชุมรัฐสภา ภราดร ภูมิใจไทย ฯ_21ddddd0317_2.jpgประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  ภูมิใจไทย ภราดร we317_2.jpg

ภท.หนุนญัตติชงศาล รธน.ตีความ

ขณะที่ ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า พรรคภูมิใจไทยแสดงเจตนาชัดเจนว่าประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน เจตนาของพรรคต้องการให้มี ส.ส.ร.มาทำหน้าที่ตัวแทนพี่น้องประชาชนจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยืนยันเจตนารมณ์เดิม และไม่เปลี่ยนเจตนารมณ์ พวกเราพยายามที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งพยายามเดินหน้าในแนวทางนี้ วันนี้ยืนยันว่ากระบวนการใดที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการตั้ง ส.ส.ร.ต้องยุติและประหารชีวิตไป พวกเราจะไม่ดำเนินการเช่นนั้นเด็ดขาด ทั้งนี้มี แนวทางของ ส.ว.ได้เสนอว่าสิ่งที่ทำมาวาระที่1-2 โมฆะเพราะอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติก่อนเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่วาระที่หนึ่ง โดยส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

แนวทางที่สอง ของพรรคฝ่ายค้าน โดย นพ.ชลน่าน และรังสิมันต์ ให้เดินหน้าตามระเบียบวาระการประชุมไป ให้พิจารณาในวาระที่ 3 เมื่อลงมติแล้วจึงทำประชามติ ทั้งนี้ตนเห็นว่าเดินหน้าลงมติในวาระที่สามได้และลงประชามติได้ตามมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ เมื่อมีความเห็นต่างจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไปแน่นอน ส่วนแนวทางที่สามของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางที่จะพอเป็นไปได้ ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญสอบถามว่าสิ่งที่ศาลวินิจฉัยหมายความว่าอย่างไร ว่าเป็นการแก้ไขรายมาตรา หรือสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ส่วนการทำประชามติก่อนนั้น ศาลบอกว่าให้ทำประชามติก่อนนั้น จะทำให้ก่อนอะไร ตนจึงสนับสนุนแนวทางให้ย้อนกลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง

รัฐสภาเถียงวุ่นโหวต 3 ญัตติ

เวลา 18.30 น. การประชุมร่วมกันของรัฐสภาดำเนินการถึงการทวนญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอเพื่อหาทางออกในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่สาม โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่า ความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายรัฐสภาเป็นความเห็นบริสุทธิ์ เพราะเป็นหน้าที่ให้ความเห็นแต่ไม่มีผลผูกมัดพวกเรา สิ่งที่ผูกมัดคือกฎหมาย และมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนรูญ แต่คำวินิจฉัยไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นด้วย แต่ไม่มีอะไรผูกมัด เรามีสิทธิเสรีภาพการคิด แสดงความเห็น

โดย ชวน ได้แจ้งว่า ฝ่ายเลขาธิการได้รวมข้อเสนอ ญัตติที่1 สมชาย แสวงการ ส.ว. และ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เสนอให้ที่ประชุมมีมติว่าไม่ให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เพราะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564  

ญัตติที่สองของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ขอให้รัฐสภามีมติให้รัฐสภามีมติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา 

ญัตติที่สาม ข้อเสนอของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทยที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุมคือลงมติในวาระที่สาม

'ไพบูลย์' ชงลุยโหวตวาระ 3 ไม่เอา 3 ญัตติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ทักท้วงการเสนอญัตติโดยปากเกล่าในญัตติที่สองของพรรคประชาธิปัตย์ โดย นพ.ชลน่าน ระบุว่า ญัตติสองของจุรินทร์ ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ต้องทำเป็นหนังสือแล้วส่งให้รัฐสภาเห็นชอบ ถ้าจะให้สมบูรณ์ควรเติมว่าขอให้เลื่อนญัตติออกไปก่อน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือจะเลื่อนเพื่อทำประชามติหรือไม่ แต่ญัตติด่วนคือขอให้เลื่อนออกไปก่อน แต่จะใช้ญัตติที่สองมาขอมติที่ประชุมรัฐสภาไม่ได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าไม่ชอบ

เช่นเดียวกับ ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ก็เห็นว่าญัตติของจุรินทร์ไม่สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 32 ที่ให้เสนอเป็นปากเปล่าได้ แต่ต้องทำเป็นหนังสือมาก่อน

ขณะที่ สมชายบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติสาม และญัตติของจุรินทร์ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ส่วนไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะพิจารณาในญัตติที่สองที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนญัตติที่สามไม่น่าทำได้ เพราะจะถึงการลงมติในวาระที่สามอยู่แล้ว แต่ทำตามที่ สมชาย เสนอ คือให้เดินหน้าลงมติในวาระที่สามในทันทีได้ ตนมองว่าไม่ต้องพิจารณาญัตติที่มีการเสนอ แต่ขอให้ลงมติทันที

เสียงไฟไหม้ดังลั่นห้องประชุม สมาชิกแตกตื่น

เวลา 19.30 น. สมาชิกรัฐสภาได้แตกตื่น หลังมีเสียงเตือนสัญญาณอัคคีภัยที่จู่ๆ ดังขึ้นระหว่างที่ นพ.ชลน่าน กำลังประท้วงประธานรัฐสภา ที่มีการเสนอญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทำให้สมาชิกรัฐสภาต่างส่งเสียงตกใจและแสดงความแตกตื่น และมีเสียงของสมาชิกรัฐสภาที่เป็นเพศหญิง กล่าวขึ้นว่า เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ลุกก่อนดีไหม"

ขณะที่ วีระกร คําประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า “ท่านประทาน สัญญาณไฟไหม้หรือเปล่าครับ ขอทราบความชัดเจนด้วยครับ”

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อาจมีคนไปสูบบุหรี่ใกล้สัญญาณเตือนภัย จึงทำให้เกิดเสียงดังขึ้น  

ส่วนการประชุมรัฐสภายังเดินหน้าต่อ แต่ยังหาข้อยุติเกี่ยวกับการเสนอญัตติไม่ได้หลังพรรคเพื่อไทยประท้วงว่าการเสนอญัตติที่สองที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นไม่สามารถกระทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 32 แต่ต้องเสนอญัตติเป็นหนังสือ ไม่สามารถเสนอเป็นปากเปล่าได้

ทำให้ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอพักการประชุม 15 นาที จากนั้น ประธานจึงสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 20 นาที 

มติรัฐสภา 473 เสียงเห็นชอบญัตติ 'ไพบูลย์' โหวตวาระ 3 ปัดตก 3 ญัตติ

เวลาประมาณ 20.20 น. การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเปิดฉากขึ้นอีกครั้งหลังสั่งพักการประชุม โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งต่อที่ประชุมโดยยืนยัน รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยมาสั่งตนว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อสมาชิกเสนอญัตติต้องดำเนินการตามกฎหมาย การที่ สมชาย แสวงการ และเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.เสนอญัตติขอให้ที่ประชุมมีมติว่าไม่ให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เพราะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 หรือไม่นั้นเป็นมติของวุฒิสภาหรือไม่ เมื่อถามประธานวุฒิสภาก็บอกเป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละคน

เวลา 20.47 น. ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 32 ให้ดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมต่อไป โดยมีสมาชิกรับรอง ก่อนย้ำว่าถ้าหากไม่ดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมจึงค่อยพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ชวน ย้ำว่าการคุยมา 9 ชั่วโมงนั้น ญัตติของไพบูลย์เป็นการเสนอญัตติใหม่

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ย้ำว่าญัตติของไพบูลย์เป็นญัตติใหม่ ถ้าเสนอแล้วที่ประชุมรับรองเห็นชอบจะทำให้ 3 ญัตติก่อนหน้านี้ตกไปเลย  

เวลา 21.00 น. ประธานรัฐสภาสั่งให้สมาชิกแสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ มีสมาชิกแสดงตน 621 คน องค์ประชุมมีสมาชิกจำนวน 369 คน จากนั้นประธานรัฐสภาได้ถามมติที่ประชุมว่าจะเห็นชอบญัตติที่ไพบูลย์ เสนอให้นำเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระที่สาม เพื่อนำขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่

โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 473 ต่อ 127 เสียงเห็นชอบตามญัตติของไพบูลย์ โดยมีผู้งดออกเสียง 39 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง จากผู้แสดงตน 644 คน ทำให้ที่ประชุมเดินหน้าพิจารณาเรื่องด่วนลงมติในวาระที่สามทันที ส่วน3 ญัตติที่เสนอก่อนหน้านี้เป็นอันตกไปในทันที 

ร่าง รธน.ส่อแท้ง! ภท.เดือดวอล์กเอาต์! ซัดสภาโจ๊ก โกหก

ผลการเดินหน้าลงมติในวาระที่สาม ทำให้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยนำทีมวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม โดย ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวกลางที่ประชุมรัฐสภา โดยกล่าวว่า "ผมคงไม่ร่วมสังฆกรรมกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหก ปลิ้นปล้อน แล้วก็ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊กครับผม"

ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาแจ้งที่ประชุมว่าการลงมติในวาระที่สามนั้นจะใช้วิธีการลงมติแบบเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะทราบผลการลงมติ ทั้งนี้การลงมติในวาระที่สาม พรรคประชาธิปัตย์ได้ขานมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง