กระแสการเรียกร้องเรื่องราคายา หรือค่าบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนเป็นเรื่องที่มีมาตลอด ล่าสุดมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อผลักดันให้คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้เพิ่ม "เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์" ในบัญชีรายการสินค้าและบริการควบคุม โดยกล่าวว่าสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาและความเดือดร้อนของผู้บริโภคเป็นหลัก
เมื่อมองลึกลงไปว่า อะไรคือปัญหาที่ประชาชนคนไทยต้องเผชิญเมื่อเลือกเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน พบว่าปัญหาราคายาและค่ารักษาพยาบาลแพงเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนเป็นอันดันหนึ่ง
ประเด็นที่สอง คือเมื่อประชาชนไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ต้องเปลี่ยนสถานะจากผู้ป่วยไปเป็นจำเลยเนื่องจากโดนโรงพยาบาลฟ้องร้องในชั้นศาล และยังมีการฟ้องร้องเรื่องแนวทางการรักษาที่ไม่สมเหตุสมผล มุ่งแสวงหากำไรเกินควร
ค่ายา รพ. เอกชน แพงเพราะอะไร
นพ. พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมีความแตกต่างกับโรงพยาบาลรัฐบาลในเชิงโครงสร้างที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ สถานพยาบาล และประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2541 และมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2561
ตามคำนิยามของประกาศของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ "ยา และสารอาหารทางหลอดเลือด รวมต้นทุนการจัดซื้อจัดหา การขนส่ง การจัดเก็บรักษาที่ได้มาตรฐาน การใช้สถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ วัสดุภัณฑ์ ระบบสารสนเทศทางเภสัชกรรมและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริการของบุคลากรที่จำเป็น ในขั้นตอนการจัดเตรียม และแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์ จนถึงการบันทึก และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง"
จากคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุขหมายความว่า ค่ายาในใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้มีต้นทุนมาจากค่ายาอย่างเดียว แต่ยังมีต้นทุนแฝง อาทิ การจัดเก็บ การขนส่ง รวมถึงค่าแพทย์ต่างๆ ที่มารวมไว้ในค่ายาด้วย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากราคายาที่ออกมาในใบเสร็จจากโรงพยาบาลเอกชน จะดูแพงมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพราะค่ายาของโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้มีต้นทุนแฝงอย่างที่โรงพยาบาลเอกชนต้องรับภาระ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอบโต้ประเด็นนี้โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล นักวิชาการศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี แสดงให้เห็นว่า ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 70 - 400 เท่า ซึ่งรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้การค้าเสรีย้อนกลับมาทำร้ายประชาชน
"แน่นอนต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าร้านขายยาแน่นอน แต่เราก็ไม่ได้ให้คุณคิดค่ายาเท่ากับโรงพยาบาลของรัฐหรือร้านขายยา เราให้คุณคิดต้นทุนมา เสร็จแล้วก็มาบอกว่าคุณจะบวกกำไรไปอีกเท่าไหร่" นางสารี กล่าว
นางสารีย้ำว่า ในเมื่อโรงพยาบาลเอกชนนิยามตัวเองชัดเจนว่าเป็น "ธุรกิจสุขภาพ" ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลไม่ให้เอกชนเอาเปรียบประชาชนจนเกินไป เพราะคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย ไม่มีใครอยากลดกำไรทั้งนั้น "คือไม่ใช่ให้โรงพยาบาลเอกชนคิดราคาเท่าไหร่ก็ได้ แล้วประชาชนจ่าย"
ด้าน ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข นักวิชาการด้านบริการสุขภาพ แนะว่า การกำหนดราคายา หรือค่ารักษาพยาบาลสามารถแยกได้เป็น 3 ประเภท (1) ราคายา (2) ค่าบริการทางการแพทย์ (3) ค่าบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้ฝ่ายโรงพยาบาลเอกชนและรัฐบาลมานั่งคุยกันถึงสัดส่วนกำไรที่จะเพิ่มเข้าไปในยา หรือค่าบริการแต่ละประเภท โดยจะต้องมีเพดานที่ชัดเจน เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น
“ราคานี้เป็นการตกลงร่วมกัน ระหว่างผู้ให้บริการ บริษัทประกัน นักวิชาการ และภาคประชาชน ตัวเลขตรงนี้จึงเป็นที่มาของการถ่วงดุลกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับบริการ ไม่ใช่ลำพังผู้รับบริการเดินเข้าไปไม่มีอำนาจใดใดในการไปต่อรองทั้งสิ้น” นางยุพดี กล่าว
สรุปใครผิด : ประชาชนไม่ใช้สิทธิ์ หรือ เอกชนไม่ลดราคา
นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า แท้จริงแล้วประเด็นด้านราคายาไม่ควรเป็นปัญหาด้วยซ้ำหากประชาชนตระหนักรู้ถึงสิทธิที่พึงมีของตนเอง โดยอ้างอิงข้อมูลว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีกองทุนที่รองรับค่ารักษาพยาบาลของประชาชนชาวไทยที่ครอบคลุมกว่าร้อยละ 99 โดยอีกประมาณร้อยละ 1 ที่เหลือเป็นคนงานต่างชาติที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย
กองทุนหลักที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของประชาชน ประกอบไปด้วย (1) สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือที่รู้จักกันในนามสิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง ครอบคลุมประชาชนประมาณ 46-47 ล้านคน (2) สิทธิประกันสังคม ครอบคลุมประชาชนประมาณ 10 ล้านคน (3) สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ประมาณ 5 ล้านคน
ทั้งสามกองทุนข้างต้นคุ้มครองประชาชนคนไทยให้สามารถได้รับการรักษาฟรี เมื่อเจ็บป่วยในโรงพยาบาลรัฐบาล อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีความประสงค์ที่จะไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอื่นที่ตนไม่มีสิทธิ์คุ้มครองจาก 3 กองทุนข้างต้น โรงพยาบาลเอกชนก็เข้ามารองรับในฐานะตัวเลือกของประชาชน
ส่วนกรณีการรักษาพยาบาลฉุกเฉินหรือวิกฤตสีแดง (ถึงแก่ชีวิต) ประชาชนสามารถเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน เมื่อพ้นวิกฤต (72 ชั่วโมง) แล้วจึงเข้ารักษาตัวตามโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิ์จากกองทุนหรือหากประสงค์จะรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนต่างด้วยตนเอง
"ทำไมไม่เข้าตามระบบ บาทเดียวก็ไม่เสีย แล้วอย่าไปคิดว่าโรงพยาบาลรัฐเขาไม่เก่งนะครับ เพียงแต่ท่านจะมองภาพว่ามันหนาแน่น" นายเฉลิม กล่าว
"พูดง่ายเกินไป" เป็นสิ่งแรกที่นางสารีตอบโต้กลับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพราะการที่เอกชนบอกว่าในกรณีที่ฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลเอกชนโดยไม่คิดค่าบริการ กลับเคยมีกรณีที่คนไข้โดนน้ำกรดสาดแล้วโรงพยาบาลไม่ได้มองว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ส่งผลให้คนไข้รายนั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมา หรือ กรณีที่อยู่รักษาตัวครบ 72 ชั่วโมงตามเวลาที่กำหนด แต่เมื่อถึงเวลาจะส่งตัว โรงพยาบาลรัฐมีที่ไม่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่รักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเอกชนและต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง
หากระบบยังคงเป็นแบบนี้ ทุกฝ่ายจะได้รับผลกระทบ (1) ประชาชนจะต้องเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากโดยไม่มีใครเข้ามาควบคุม (2) จะเกิดภาวะสมองไหล โดยแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐจะย้ายไปโรงพยาบาลเอกชน (3) ค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นมากส่งผลกระทบต่อทั้งระบบทำให้โรงพยาบาลรัฐต้องปรับค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นส่งผลต่อประชาชนและรัฐบาลในที่สุด
"ถ้าเขาเป็นธุรกิจ ธุรกิจอื่นๆ ยังถูกกระทรวงพาณิชย์กำกับได้เลย แล้วเขาใหญ่มาจากไหนถึงถูกกระทรวงพาณิชย์กำกับไม่ได้ หรือเขาจะเลือกเอาให้พวกเราทำงานรณรงค์ ไม่ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ในสิ่งที่เขาเสนอว่าเขาเป็นทางเลือก...ได้จะเอาแบบนั้นก็ได้" นางสารี กล่าว
ถ้าควบคุม 'ราคายา' แพทย์ไทยจะไม่พัฒนา
นพ. พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนเป็นกุญแจสำคัญในการนำประเทศไปสู่การเป็น "ศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ" หรือ "เมดิเคิล ฮับ" ซึ่งอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (10 New S-Curve) ของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีปัจจัยเอื้อต่อการเป็นเมดิเคิล ฮับ มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และตัวชี้วัดทางเสรษฐกิจ เช่น รายได้ต่อหัวของประชากร คุณภาพมนุษย์ ต้นทุนการทำธุรกิจ ที่ล้วนอยู่ในอันดับบนสุด ตามข้อมูลของศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม นิตยสารฟอร์บส ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ระบุว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถไต่อันดับแซงหน้าสิงคโปร์ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในเรื่องเมดิเคิล ฮับ อีกทั้งปริมาณการเข้ารับการรักษาแค่เฉพาะชาวต่างชาติปี 2557 มีมากถึง 1.2 ล้านครั้ง ตามข้อมูลของ กรมส่งเสริมและสนับสนุนกการค้าระหว่างประเทศและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
จากการสำรวจโดยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน พบว่า เหตุผลที่ชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลที่ประเทศไทย แบ่งเป็น ร้อยละ 46.4 กล่าวว่า ราคาค่ารักษาพยาบาลไม่แพง ร้อยละ 37.5 กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์เป็นมิตรกับผู้ป่วย ร้อยละ 34.6 กล่าวว่า แพทย์ไทยมีความสามารถ ร้อยละ 27.4 กล่าวว่า แพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญหลายด้าน และร้อยละ 24.5 กล่าวว่า ไทยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย
นพ. พงษ์พัฒน์ ชี้ว่า หากมีการกำกับค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน จะทำให้ไม่มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัย และจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยด้อยลง ทั้งที่ในปัจจุบันการรักษาพยาบาลของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศใดในโลก
ผศ.ดร. สุจิตรา ตุลยาเดชานนท์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หยิบตัวเลขผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน ของบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีกำไรกว่าร้อยละ 33.76 ในไตรมาสที่3/2561 แย้งว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนมีกำไร 2 ขั้น ขั้นแรกคือกำไรจากการดำเนินการรักษาคนไข้ ในขณะที่ขั้นที่สองคือกำไรจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ดังนั้น สิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปควบคุมมีผลแค่กับกำไรจากการดำเนินการรักษาคนไข้เท่านั้น ดังนั้นประเด็นที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนออกมาโต้ว่า การขึ้นราคายาจะทำให้ไม่เกิดการพัฒนาในเทคโนโลยีการแพทย์จึงตกไป
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังหยิบประเด็น เมดิเคิล ฮับของประเทศไทย ขึ้นมาตั้งข้อสังเกตุในความไม่พร้อม เนื่องจาก ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลประชาชนคนไทยอยู่แล้ว
ตัวเลขนักศึกษาแพทย์ปี 2561 อยู่ที่ 4,813 คน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 2,588 คน คิดเป็นร้อยละ 46.23 ตามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ Thai Civil Rights and Investigative Journalism (TCIJ) ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนมากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอในการดูแลประชาชน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากฝากข้อสังเกตนี้ไว้กับรัฐบาลว่าประเทศไทยพร้อมแล้วจริงหรือกับการเป็นเมดิเคิล ฮับ หรือจะกลายเป็นว่าเราพยายามเดินหน้ารักษาคนนอกบ้าน ขณะที่คนในบ้านยังป่วยอยู่
“เศรษฐกิจกับชีวิตประชาชน รัฐฯต้องเลือกว่าจะดูเรื่องอะไร ไม่ใช่ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจ แต่ชีวิตประชาชนปล่อยมันไป” นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมองค์กรผู้บริโภคกล่าว
สุดท้ายแล้วความพยายามในสร้างประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ต้องมาจากการฟังเสียงทั้งภาคเอกชนและประชาชน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้บริหารประเทศให้เกิดความสมดุล ให้การเดินไปข้างหน้าไม่ใช่การทิ้งอีก 60 ล้านคนไว้ข้างหลัง