ไม่พบผลการค้นหา
'ประวิตร' เตรียมถามเหตุผล ส.ส. พรรคประชารัฐร่วมลงชื่อตีความแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะไม่รู้แกนนำคณะราษฏรขอลี้ภัยไปสหรัฐฯ ด้าน 'จุรินทร์' ย้ำจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญ ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์ไม่เล่นการเมือง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมลงชื่อกับกรณีที่ 48 ส.ว. เสนอญัญติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจัยตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่า ตนเองไม่ทราบรายละเอียดว่าจะไปตีความอย่างไร และยังไม่ได้มีการพูดคุยกันกับ ส.ส. แต่หลังจากนี้จะไปพูดคุย เพื่อให้ทราบถึงเหตุผล โดยส่วนตัวย้ำจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะต้องมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. หรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาก่อนว่าจะมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง 

ทั้งนี้ไม่ทราบว่าการยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ แต่วิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ระบุแล้วว่าสามารถดำเนินการไปพร้อมๆกันได้ 

ขณะเดียวกันกรณีที่สิระ เจนจาคะ และไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มีท่าทีไม่สนับสนุนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกของประเทศว่า ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งตนเองได้พูดคุยและเตือนไปแล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว พรรคร่วมรัฐบาลก็จะมีการหารือพูดคุยกัน และร่วมมือกับประธานรัฐสภาเพื่อร่วมกันหาทางออก 

ส่วนกรณีกระแสข่าวแกนนำกลุ่มคณะราษฏรขอลี้ภัยทางการเมืองไปสหรัฐอเมริกานั้น พล.อ.ประวิตร ยืนยัน ยังไม่ทราบเรื่องนี้ และฝ่ายความมั่นคงก็ยังไม่มีรายงานเช่นกัน พร้อมปฏิเสธตอบว่าได้มีการประเมินสถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้หรือไม่


 'ไพบูลย์' ชี้ ให้โหวตรับ รธน.วาระหนึ่งให้ผ่านก่อน 

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวถึงการที่มีตน และสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาได้ร่วมกันเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาล รัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210(2)โดยมีสมาชิกวุฒิสภา 48 คนและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 25 คน เป็นผู้รับรองญัตตินั้น

ไพบูลย์ กล่าวต่อด้วยเห็นว่าการที่รัฐสภาจะมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาญัตติที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัย จึงเห็นควรให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไปในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ดำเนินการลงมติในวาระที่ 3 ต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภาขึ้นมา เพื่อดำเนินการจัดทำญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ดำเนินการได้โดยถูกต้อง จึงเสนอญัตตินี้เพื่อพิจารณาหลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติในวาระที่ 1 แล้ว จากนั้นจึงค่อยพิจารณาญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31 เพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ารัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210(2)หลังรับหลักการวาระที่ แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ จึงยื่นญัตติให้ประธานรัฐสภาพิจารณาบรรจุญัตตินี้เป็นญัตติด่วนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาต่อไป

เนื่องจากเห็นว่าญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ) ทั้ง 3 ฉบับ ได้มีหลักการและเหตุผล ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2563 ไม่ได้มีบทบัญญัติใดที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องมีบทบัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าให้กระทำได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า “ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ” และบัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 46 “ในกรณีที่เห็นจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ”  

จึงเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีบทบัญญัติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 ถึง มาตรา 39 ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติแยกเป็นอีกส่วนหนึ่งไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งย่อมหมายความว่า รัฐสภาจะนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น รัฐสภากระทำมิได้ นอกจากนั้น ยังมีรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับที่บัญญัติไว้ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2592, ปี 2549 เป็นต้น และเหตุที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าให้ใช้เป็นการชั่วคราว แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ไม่ใช่ฉบับชั่วคราวจึงไม่บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ให้อำนาจรัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และ 256 เท่านั้น 

ซึ่งปรากฏตามความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ หน้าที่ 453 ได้บันทึกไว้ว่า “แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในยามที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลง ก็อาจมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ ในรัฐธรรมนูญจึงต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้โดยเฉพาะ” ย่อมหมายความว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 15 บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาเฉพาะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และมาตรา ต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 หมวด 8 การเสนอและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ข้อที่ 114 วรรคสาม “การแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกมาตราใดของรัฐธรรมนูญให้ระบุมาตราที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกไว้ในหลักการหรือจะระบุไว้ในเหตุผลด้วยก็ได้” ซึ่งญัตติทั้ง 3 ฉบับ ในส่วนที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ปรากฏการระบุมาตราที่ต้องการยกเลิก และไม่ได้บัญญัติไว้ให้ใช้ข้อความใดแทน จึงมิใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในอำนาจของรัฐสภตามหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้นและต้องระบุมาตราที่ต้องการยกเลิกและให้ใช้ข้อความใดแทน

ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า แต่ก็มีความเห็นของสมาชิกรัฐสภาหลายคนเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังเช่นเกิดขึ้นในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2539 ซึ่งเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่เมื่อการวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะมีอำนาจวินิจฉัย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอย่างไรก็ต้องไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทางใดทางหนึ่ง การที่รัฐสภาส่งไปวินิจฉัยหลังจากรับหลักการในวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาวาระที่ 2 แล้ว ก็จะเป็นการทำความชัดเจนในข้อกฎหมายโดยไม่มีผลทำให้กระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดหยุดลง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจทำได้ ก็จะเป็นผลดีต่อการดำเนินการต่อไปจนประกาศใช้รัฐธรรมนูญไม่มีเหตุที่จะสะดุดหยุดลง ส่วนหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สมาชิกรัฐสภาก็จะได้เร่งรัดจัดตั้งคณะกรรมาธิการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภาขึ้น เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จลุล่วงได้ตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย


'จุรินทร์' ย้ำจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญ ไม่สน ส.ส.-ส.ว.ยื่นตีความ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีส.ส.พรรคพลังประชารัฐและส.ว.บางส่วนจับมือกันเตรียมเสนอญัตติให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้หรือไม่ว่าเท่าที่ติดตามเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับการพิจารณาแก้ไขรับธรรมนูญในวันที่ 17-18 พ.ย. ซึ่งไม่ต้องกังวล เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้และเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ได้มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว

ส่วนที่ ส.ส. และ ส.ว.ยื่นตีความเพื่อให้ประธานรัฐสภาบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภานั้นถือเป็นสิ่งที่จะทำได้ แต่หากสุดท้ายขั้นตอนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร 1.จะมีการบรรจุญัตติหรือไม่ 2.หากบรรจุญัตติที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต้องผ่านอีก 2 ด่าน และ 3 .ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า โดยเพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรมีอุปสรรคอะไรอีก 

ส่วนการยื่นตีความครั้งนี้จะทำให้มองว่ารัฐบาลเล่นเกมอยู่หรือไม่ จุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เล่นเกมด้วย เราตรงไปตรงมาว่าอยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีทางที่เราเสนอมาอย่างต่อเนื่อง และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะมีความชัดเจนถึงการแก้มาตรา 256 เพื่อให้ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ถือเป็นจุดยืนที่มีความชัดเจน


'เทพไท' แนะส.ส.พปชร. ถอนชื่อจากญัตติส่งศาล ตีความแก้ รธน.

เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการตรวจรายชื่อของสมาชิกรัฐสภา จำนวน 72 คนที่ได้ลงชื่อในญัตตินั้น พบว่า มีรายชื่อของสมาชิกวุฒิสภา 47 คน และ ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 25 คน ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 47 คน ไม่ได้รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใด เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ได้แสดงท่าทีต่อต้าน ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีธงที่ชัดเจนไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อริดรอนสิทธิ์ของสมาชิกวุฒิสภาในบางประเด็น แต่ที่แปลกใจมากที่สุด ก็คือรายชื่อของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจำนวน 25 คน ที่ได้ลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาลงชื่อร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา ในญัตติเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความญัตติที่ตัวเองเคยลงชื่อมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่แน่ใจว่าการลงชื่อใน 2 ญัตติที่มีความขัดแย้งกัน จะมีผลประการใดหรือไม่

แต่เพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงใจในฐานะสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล จึงอยากให้เพื่อน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้พิจารณาถอนชื่อออกจากญัตติฉบับยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความออกไปก่อน เพราะญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา256และการจัดตั้ง ส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ จากฝ่ายกฎหมายและวิปรัฐบาลแล้วว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่ประการใด จึงไม่มีเหตุผลใดต้องมาลงชื่อในญัตติร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

อยากให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนได้แสดงจุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับคำประกาศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง เพราะถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญรับตีความตามญัตติที่ได้ยื่นแล้ว ก็อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และอาจเป็นเงื่อนไขของกลุ่มคณะราษฎร 2563 กล่าวหารัฐบาลเล่นเกมยื้อเวลา ต่อลมหายใจให้กับรัฐบาลออกไปอีก จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกำลังดำเนินการไปได้ด้วยดี และไม่อยากจะให้ฝ่ายใดเข้ามาขัดขวาง เหมือนคำพังเพยที่กล่าวว่า “หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้าไปสอด”




ข่าวที่เกี่ยวข้อง :