สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แจ้งเตือนกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดนกให้ทำตามคำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) หลังพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1 บริเวณตอนใต้ของมณฑลหูหนานในจีน ซึ่งทางการจีนทำลายไก่แล้วกว่า 17,828 ตัว เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยยังไม่มีรายงานการติดเชื้อ H5N1 ในคนจากการระบาดครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งก่อนหน้าเกิดขึ้นปลายปี 2562 ในสหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้ยังพบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น WHO จึงแนะนำหลักเกณฑ์การปฏิบัติแก่กลุ่มบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไข้หวัดนกหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ภายในฟาร์ม สัตวแพทย์ และผู้เชือด ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน และรักษาสุขอนามัยให้ดี ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นควรลงทะเบียนกลุ่มบุคคลดังกล่าว พร้อมติดตามข้อมูลสุขภาพ หากพบบุคคลแสดงอาการป่วยควรเข้ารับการรักษาทันที
สำหรับมาตรการป้องกันลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดนก ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัส/ใกล้ชิดกับสัตว์ปีกป่วย/ตายโดยตรง หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว และหากพบสัตว์ปีกแสดงอาการป่วย/ตายควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าสัมผัสสัตว์ปีกป่วย/ตายด้วยมือเปล่า
หากจะจัดการสัตว์ปีกดังกล่าวควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติก จากนั้นล้างมือด้วยสบู่และยาฆ่าเชื้อหลังเสร็จสิ้น ควรติดตามด้านความปลอดภัยของอาหารและทำตามมาตรการสุขลักษณะของอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามหลัก 5 ประการสู่ความปลอดภัยอาหาร (Five keys to safer food) ของ WHO
ทั้งนี้จากข้อมูลของ WHO โรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1 แม้จะสามารถติดต่อในมนุษย์ได้ แต่ยังไม่พบความชัดเจนในการติดต่อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรงซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 455 คน จากการระบาดปี 2546
อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้ไทยปลอดไข้หวัดนกมานานกว่า 10 ปี
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ไทยปลอดโรคไข้หวัดนกมากว่า 10 ปี จากการเฝ้าระวังโรคและส่งเสริมให้ฟาร์มปฏิบัติตามระบบป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด แต่เพื่อป้องกันโรคที่อาจแพร่ระบาดเข้ามายังประเทศไทย จึงยังคงชะลอมาตรการนำเข้าสัตว์ปีก ซากสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกจากจีน พร้อมทั้งสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดเพิ่มมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีก
โดยออกให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติหรือมีอาการต้องสงสัยคล้ายอการโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที
นอกจากนี้ ยังย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และยังขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบกรมปศุสัตว์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกต้องมีผลการตรวจรับรองโรคระบาดและใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกครั้งหากพบหรือสงสัยว่ามีโรคในพื้นที่ กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการลักลอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออกตามท่าอากาศยานและแนวชายแดน รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณจุดผ่านแดน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :