นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการทำงานของรัฐบาลด้านสังคมว่าได้ดำเนินการภายใต้นโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก เรื่องแรกคือ การขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งเป้าให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือหลักสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ และเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมหรือพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม
มากไปกว่านั้นที่มาของรายได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ต้องมาจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ไม่ใช่จากการบริจาค การแบ่งปันผลกำไร ต้องนำผลกำไรที่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปทำประโยชน์เพื่อสังคม
ทั้งนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและด้านอื่นตามที่กฏหมายกำหนด ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ไปแล้วหลายครั้ง การดำเนินงานต่อไปคือการรับจดทะเบียนกิจการที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และสรรหาผู้มีความเหมาะสมมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการและคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
นางสาวรัชดา ยังได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องที่สอง กรณีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผลักดันเรื่องการส่งเสริมการทำงานและอาชีพอิสระสำหรับคนพิการ ณ ปัจจุบันนี้ มีคนพิการที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประมาณ 1.8 ล้านคน เป็นคนพิการในวัยแรงงาน 8 แสนคน มีงานทำแล้ว 2.2แสนคน และเป็นคนที่สามารถทำงานได้ แต่ยังไม่มีงานทำ 4.5 แสนคน ดังนั้นการส่งเสริมอาชีพแก่คนพิการจึงเป็นเป้าหมายหลักสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งทางกระทรวงฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดหางานผ่านทางออนไลน์ www.ตลาดงานคนพิการ.com ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลผู้พิการ นายจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ
มากไปกว่านั้น นายจุติได้สั่งการเร่งขับเคลื่อนงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการควบคู่กันไป อาทิ การพัฒนาทักษะการดูแลช่วยเหลือคนพิการ การสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาชีวิตคนพิการในชุมชน และการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องของคนในสังคมต่อคนพิการ
นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การส่งเสริมให้มีวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้มีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ ช่วยเหลือกันและกัน ในขณะที่กลุ่มคนพิการเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพแต่ขาดโอกาสและถูกมองว่าเป็นภาระ การสร้างระบบดูแลและส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพและรายได้จึงเป็นการให้โอกาสคนพิการได้แสดงศักยภาพของตนเองและยืนอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนที่มีร่างกายปกติ
ทั้งนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่กำลังจะมีเพิ่มมากขึ้นจะเป็นการเพิ่มโอกาสการจ้างงานและการส่งเสริมอาชีพอิสระแก่คนพิการอย่างแน่นอน