ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' เปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับ 'นายกฯกัมพูชา' เล็งหารือกระชับพัฒนาความสัมพันธ์สองประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจชายแดน เพิ่มการค้าการลงทุน เชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว จับตาเจรจาแก้ไขปัญหาฝุ่น - พื้นที่ทับซ้อน

วันที่ 7 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล 

โดยทันทีที่ นายกฯกัมพูชา เดินทางมาถึง เศรษฐา ได้นำตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น นายกฯสองประเทศ และภริยา ถ่ายภาพร่วมกันบริเวณบันไดโถงกลางตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่จะถ่ายรูปร่วมกับคณะรัฐมนตรี ก่อนลงนามในสมุดเยี่ยม ณ ห้องสีงาช้าง (ด้านนอก) ตึกไทยคู่ฟ้า

จากนั้น นายกฯสองประเทศ จะหารือร่วมเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ก่อนที่จะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ พร้อมทั้งแถลงข่าวร่วม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) และรัฐบาลไทย จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และภริยา ก่อนจบภารกิจให้การต้อนรับและหารือที่ทำเนียบรัฐบาล

ขณะที่ช่วงบ่าย ฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา จะเดินทางไปรัฐสภา และมีการหารือกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วย 

สำหรับวาระการหารือของผู้นำสองประเทศ ในครั้งนี้ คาดว่าจะมีการขยายความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน การเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศ รวมถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

PAT_7272_0.jpg

ทั้งนี้ยังต้องจับตาการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในเรื่องของเขตแดน หลังมีการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด รวมไปถึงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน Overlapping Claims Area หรือ OCA ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางพลังงานที่คาดว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านบาท หากการเจรจาประสบผลสำเร็จจะทำให้ค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของประเทศไทยลดลง 

PAT_6770_0.jpg

โดยปัจจุบันเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขเป็นเวลายาวนานกว่า 22 ปี กับอีก 7 รัฐบาล นับตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU เมื่อปี 2544 ซึ่งรัฐบาล เศรษฐา อาจจะใช้โอกาสนี้ในการเจรจาหาสมดุลที่ลงตัว หรือทางออกได้หรือไม่