นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กล่าวว่า ก่อนปีใหม่ 2563 ประเทศไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนคือ “ระบบการตัดแต้ม” ซึ่งการบังคับใช้ให้ประสบความสำเร็จนั้น หัวใจสำคัญคือการทำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ รับรู้ และยอมรับ ถึงผลเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งนักวิชาการมองว่าเป็นบริบทใหม่ของสังคมไทย ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์
แม้ว่าภาพรวมอุบัติเหตุในปีล่าสุดเหมือนจะดีขึ้น คนตายลดลง ประมาณ 1,400 ราย แต่โดยรวมยังมากว่าปีละ 20,000 ราย เชื่อว่าหากสามารถบังคับใช้กฎหมายตัดแต้มได้อย่างจริงจัง จะสามารถลดการตายลงได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2-4 พันคน ภาพรวมช่วยลดผลกระทบต่อคนได้นับหมื่นราย แต่การจะบังคับได้จริงหรือนั้นยังเป็นคำถาม เพราะคนไทยมีดีเอ็นเอพิเศษไม่กลัว และเพิกเฉยต่อการทำผิดกฎหมาย ในขณะที่ฟิลิปปินส์แนวโน้มการเคารพกฎหมายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ไม่เพียงเน้นเฉพาะการออกใบสั่งและการตัดแต้ม ทว่าระบบจะทำให้เห็นถึงคนที่กระทำผิดซ้ำๆ ซึ่งเราควรจับตาความประพฤติกรรมการขับขี่คนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลจราจร ผ่านสภากำลังเข้าสู่ ครม. ในการตัดสินความผิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนน อำนาจในการให้ศาลตัดสินความผิด ถ้าสำเร็จคนจะรู้สึกว่าเมื่อเมาแล้วขับ ความผิดจะไม่อยู่แค่ชั้นของตำรวจ แต่จะต้องตัดสินในชั้นศาล โดยการผลักดันห้ามรอลงอาญา ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ช่วยลดการตายลดลงได้ถึง 50% ในปีถัดไป
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ประธานมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนนจังหวัดขอนแก่น และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า ระบบตัดแต้มเป็นกฎหมายสำคัญมากของไทย เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ ไม่ว่าจะยากดีมีจนภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ทุกคนจะถูกบังคับใช้เหมือนกันทุกการกระทำผิดทั่วประเทศ จะถูกบันทึกและดำเนินการ ซึ่งวิธีการนี้จะลดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับประชาชน เป็นกฎหมายที่ทำให้คนทำผิดได้รับผลมากที่สุด
พ.ต.อ.เอกราช ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า ทุกวันนี้ตำรวจอ่อนแอเพราะที่ผ่านมาบังคับใช้กฎหมายอยู่องค์กรเดียว จำเป็นต้องมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันบริหารจัดการและดำเนินการให้ประความสำเร็จ ต้องการการซับพอร์ตจากหลายองค์กร โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้ตระหนักและปฏิบัติ ทุกวันนี้กฎหมายจราจรบังคับอยู่แนวทางเดียว คือ การออกใบสั่งและเปรียบเทียบปรับ คนมองว่าเป็นผลประโยชน์ของตำรวจ แต่ไม่ย้อนกลับมองว่าใบสั่งที่ออกมานั้น เกิดจากการผ่าฝืนกฎจราจรและการกระทำผิดของตนเอง ที่สำคัญค่าปรับที่น้อยเกินไปทำให้คนไม่ตระหนัก มองว่ามีเงินสามารถจ่ายได้สบาย เพราะเห็นถึงความสะดวกสบายมากกว่าความปลอดภัย จึงพบเห็นพฤติกรรมไม่สวมหมวก ไม่คาดเข็มขัด ฝ่าไฟแดง เมาขับ
ดังนั้น การบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยระบบปกครอง คือ ระบบตัดคะแนนความประพฤติ ในความเป็นจริงมีมา 20 กว่าปี แต่ทำไม่ได้เพราะกฎหมายให้สติกเกอร์ในใบขับขี่ กระทั่งมีการแก้กฎหมายใหม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พัฒนาระบบเก็บข้อมูลจราจรโดยใช้ระบบนี้มาตัดคะแนนความประพฤติ คนจนคนรวยมี 12 คะแนนเท่ากัน ทำผิดข้อหาเดียวกันตัดคะแนนเท่ากัน รวมถึงการลดขั้นตอนกระบวนการบังคับใช้กฎหมายสิ้นสุด หากผู้กระทำผิดไม่จ่ายค่าปรับขอหมายเรียกกับศาลให้อัยการรับรอง และดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์ สารวัตรงานอบรมผู้กระทำผิดกฎจราจร กองบังคับการตำรวจ กล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่มีการแก้ไขข้อปฏิบัติหลายด้าน เช่น อำนวยความสะดวกประชาชนในการจ่ายค่าปรับ พัฒนามาตรฐานและระบบออกใบสั่งของตำรวจ และมาตรการเสริมลดการทำผิดและอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการตัดคะแนนความประพฤติ เมื่อถูกตัดจนหมด 12 คะแนน จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน ซึ่งระบบจะอิงกับเลขบัตรประชาชน 12 หลัก ดังนั้น แม้บางคนจะมีใบขับขี่หลายใบแต่จะมีคะแนนเพียงชุดเดียว เมื่อผู้กระทำผิดจ่ายค่าปรับระบบจะตัดคะแนนอัตโนมัติ ส่วนผู้ที่ไม่จ่ายตามกำหนดเวลาเมื่อพ้นกำหนด ก็จะโดนตัดคะแนนเช่นกัน และเมื่อไปชำระภาษีประจำปีจะต้องเคลียร์ค่าปรับตามหลักเกณฑ์
โดยเกณฑ์การตัดคะแนนนั้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ ขั้นต้น “ตัด 1 คะแนน” อาทิ ใช้โทรศัพท์ระหว่างขับขี่ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวดหมวกกันน็อก ขับรถบนทางเท้า ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่หลีกทางให้รถฉุกเฉิน ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย รวมถึงไม่ชำระค่าปรับในระยะเวลาที่กำหนด “ตัด 2 คะแนน” อาทิ ผ่าไฟแดง ย้อนศร ขับประมาทหวาดเสียว ขับรถระหว่างโดนพักใช้ใบขับขี่ เมาแล้วขับ
“ตัด 3 คะแนน” อาทิ สนับสนุนส่งเสริมการแข่งรถบนท้องถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ชนแล้วหนี เมาแล้วขับโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซอร์เซนต์ และขั้นสูงสุด “ตัด 4 คะแนน” เมาแล้วขับโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมาแล้วขับชนคนบาดเจ็บและเสียชีวิต เสพยาเสพติดแล้วขับชนคนบาดเจ็บและเสียชีวิต แข่งรถบนท้องถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
สำหรับกระบวนการคืนคะแนนนั้น จะได้คะแนนกลับคืนมา แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน ต้องเข้าการอบรมจากกรมการขนส่งทางบก จะได้คืนกลับมาทั้งหมด 12 คะแนน แต่หากพันกำหนดและไม่ผ่านการอบรม จะได้คืนเพียง 8 คะแนน หากโดนพักใช้ 3 ครั้งภายใน 3 ปี จะโดนพักใช้ 1 ปี และหากโดนพักใช้ซ้ำอีกภายใน 1 ปี จะโดนเพิกถอน ซึ่งต้องรอ 5 ปี ถึงจะสามารถทำใบขับขี่ใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่คะแนนถูกตัดเป็น 0 และฝ่าฝืนจะถูกบันทึกความผิด และนำไปตัดคะแนนเมื่อได้รับคะแนนคืน