วันที่ 20 ธันวาคม 2567 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยและปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 พ.ย. 67 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำชับให้เจ้าหน้าที่เกษตร ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทันที พร้อมกำชับในการลดระยะเวลาขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรรวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใน 30 วัน และได้สั่งการให้ทุกจังหวัดลงพื้นที่บูรณาการการทำงาน เพื่อให้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้ทันสถานการณ์
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา ปัตตานีสงขลา สตูล ตรัง ชุมพรสุราษฎร์ธานีและจังหวัดระนอง เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 94,206 ราย เป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 203,086 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว จำนวน 56,513 ไร่ พืชไร่และพืชผัก จำนวน 14,406 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่น ๆ จำนวน 132,167 ไร่
สำหรับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 นั้น เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดอุทกภัย โดยจะช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือโดยมุ่งหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ของผู้ประสบภัยพิบัติ แต่มิได้มุ่งหมายที่จะชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ใด ซึ่งต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือเป็นการซ่อมแซมให้คืนสู่สภาพเดิม โดยการเบิกจ่ายเงินทดรองราชการให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราช่วยเหลือที่กระทรวงการคลังกำหนด
“ส่วนขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านพืช เกษตรกรจะยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว และภายใน 10 วันทำการหลังจากได้รับการอนุมัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง ตามลำดับต่อไป” นายอนุกูล ระบุ