ไม่พบผลการค้นหา
'อังคณา - อัญชนา' 2 ผญ.นักป้องสิทธิฯ สู้ต่อยื่นอุทธรณ์คดี IO โดยฟ้องสำนักนายกฯและกองทัพบก ชวนประชาชนจับตาเพราะถือเป็นคดีแรกในไทยที่ศาลยุติธรรมรับรองการต่อสู้ของทั้งคู่ในบทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกติกาสากล ขณะที่ทนาย เชื่อพยานหลักฐานมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ภาค 4 และกองทัพบก กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง หวังศาลอุทธรณ์ชั่งน้ำหนักพยานและกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหายพร้อมหวังให้รัฐบาลออกกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากล เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการเยียวยาความเสียหาย และคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ที่ศาลแพ่ง วันนี้ ( 14 ก.ค. 66) สองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ(UN Human Rights Expert- WGEID) และอัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนพร้อมด้วยทีมทนายความได้เดินทางเข้ายื่นอุทธรณ์ในคดีที่ทั้งสองคนได้ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กอ.รมน. และกองทัพบก เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กรณีสนับสนุนการทำไอโอเพื่อด้อยค่า เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com (http://pulony.blogspot.com/

โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 16 ก.พ. 2566 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยระบุว่า โจทก์ทั้ง 2 เป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และรับรองว่าการดำเนินการของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลการละเมิดหรือข้อความทั้ง 13 โพสต์ในเว็บไซต์พูโลนี (pulony.blogspot.com) ตามคำฟ้อง โดยศาลเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่โพสต์โดยไม่สุจริต เป็นการใส่ความ ทำให้ อังคณา และอัญชนาได้รับความเสียหาย และรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเยียวยาความเสียหายเมื่อมีการละเมิดละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ดีศาลเห็นว่ายังไม่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานใดเป็นผู้เยียวยา จึงไม่อาจกำหนดการเยียวยาความเสียหายได้ นอกจากนี้กรณีโพสต์ทั้ง 13 โพสต์จะเชื่อมโยงไปยัง กอ.รมน.และกองทัพบกหรือไม่นั้น ศาลได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่ายังไม่มีความยึดโยง เพราะหน่วยงานปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลการนำสืบ ซึ่งศาลเห็นว่าผู้เสียหายไม่มีข้อมูลแผนการจราจรทางคอมพิวเตอร์ว่าใครเป็นผู้นำเข้าบทความโจมตี ทำให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องประเด็นดังกล่าว เพราะไม่มีหลักฐานยึดโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. จนนำมาสู่การยื่นอุทธรณ์ในวันนี้ของ 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

สัญญา เอียดจงดี ทนายความในคดีกล่าวว่า ครั้งนี้เราอุทธรณ์โดยแบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งส่วนแรกเราเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุความในกรณีที่เป็นการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องใช้อายุความในการฟ้องร้อง 10 ปี และประเด็นที่สองเราเห็นด้วยที่ศาลได้วางแนวและได้ให้บรรทัดฐานไว้ว่าข้อความทั้ง 13 ข้อความของเว็บไซด์ pulony.blogspot.com เป็นข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายจริง และการนำเสนอข้อความนั้นเป็นการนำเสนอด้วยความไม่สุจริตไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ซึ่งศาลได้ยืนยันตรงจุดนี้ไว้ให้แล้ว ส่วนประเด็นที่สามศาลได้ยืนยันว่าเราได้รับความเสียหายจริง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องกับกติกาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นเมื่อกฎหมายภายในของไทยยังไม่อนุวัติใช้ศาลเลยสั่งให้เกิดการเยียวยาไม่ได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นหัวใจหลักที่เราจำเป็นต้องอุทธรณ์และผลักดันให้เกิดกฎหมายภายในให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วบุคคลใดก็ตามที่ถูกละเมิดโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาศัยงบประมาณของรัฐแล้วจับไม่ได้ไล่ไม่ทันจะลอยนวลพ้นผิดอยู่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ทนายความกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประเด็นการอุทธรณ์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการละเมิดผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคดีแรกของประเทศไทยโดยใช้กระบวนการและใช้อำนาจของรัฐละเมิดศักดิ์ศรี และด้อยค่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในลักษณะดังกล่าวและมีการนำคดีขึ้นศาล เราก็หวังว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาคดีอย่างรอบคอบและหวังว่าศาลสร้างบรรทัดฐานวินิจฉัยในคดีประเภทนี้ที่แม้โจทก์จะไม่ได้รู้ทุกๆแง่มุมในการกระทำความผิดในคดีนี้ แต่พยานหลักฐานที่มีการนำสืบในศาลชั้นต้นทั้งพยานบุคคลพยาน เอกสาร และช่วงเวลาต่างๆ ทำให้เห็นร่องรอยว่า กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยปกปิดตัวตนและเปิดเว็บไซด์แบบปิดลับเว็บไซด์หนึ่ง แต่กลับโชว์อีกเวบไซต์หนึ่งเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอันนำมาสู่เว็บไซด์ pulony.blogspot.com ที่เป็นปัญหาในคดีนี้ 

“ในชั้นต้นศาลวินิจฉัยว่าเราไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงหรือชี้ชัดว่า pulony.blogspot.com ถูกดำเนินการโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ในการอุทธรณ์เราพยายามยันโดยหยิบยกข้อเท็จจริงทั้งหมดจากคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ที่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ และทำให้เชื่อได้ว่า pulony.blogspot.com เป็นเว็บไอโอสีดำที่ซ่อนอยู่ใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นี่คือหัวใจที่เราเขียนไว้ในอุทธรณ์ทั้งหมดในคดีนี้ เราหวังว่าศาลอุทธรณ์จะได้หยิบยกพยานหลักฐานในคดีนี้มาชั่งน้ำหนักหลักฐานระหว่างเราและฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นกองทัพบก และสำนักนายกว่าใครน่าเชื่อกว่ากัน ซึ่งหลังจากเรายื่นวันนี้แล้วศาลก็จะตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งรับอุทธรณ์และจะส่งสำเนาอุทธรณ์ไปให้กองทัพบกและสำนักนายกแก้อุทธรณ์กลับมา ซึ่งตนคิดว่ากระบวนการน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนและในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์น่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ที่เราจะได้เห็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้

ขณะที่อังคณาเผยว่า ส่วนตัวเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาที่ศาลยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด จึงหวังว่าศาลอุทธรณ์จะกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะจำเลยที่ 1 และกองทัพบก ในฐานะจำเลยที่ 2 รับผิดและชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเพียงพอ เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการด้อยค่า การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไอโอที่เป็นอวตาร ไม่เปิดเผยตัวตน คดีนี้จึงถือเป็นคดีแรกในประเทศไทยที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเพื่อที่จะยุติการคุกคาม การด้อยค่า หรือการสร้างข้อมูลปลอม ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อโจมตีให้ร้ายป้ายสีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี จึงขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งกำหนดให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และให้มีคืนศักดิ์ศรี ชดใช้เยียวยาความเสียหาย เช่น ให้มีการขอโทษสาธารณะ การรับประกันว่าจะไม่เกิดการกระทำเช่นนี้อีกในอนาคต รวมถึงให้มีการชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อจิตใจ อันเกิดจากการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชน

“ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่าศาลอุทธรณ์จะให้ความยุติธรรมโดยกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คืนความเป็นธรรม และนำคนผิดมาลงโทษ ซึ่งนอกจากจะเป็นการชดใช้เยียวยาความเสียหายแล้ว ยังเป็นการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดในลักษณะนี้อีก เพราะในช่วงที่ถูกด้อยค่าได้ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อย่างซื้อสัตย์สุจริตและเต็มความสามารถ จึงเชื่อว่าศาลอุทธรณ์จะสร้างบรรทัดฐานในการคุ้มครอง และชดใช้เยียวยาความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ” อังคณาระบุ 

ด้านอัญชนากล่าวว่า ประเด็นคือเรื่องของการเยียวยาเมื่อศาลระบุว่ามันมีการละเมิดเกิดขึ้น เป็นการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ย่อมต้องการมีการเยียวยา ซึ่งในกฎหมายหลายๆฉบับจะต้องมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดหลายๆ อย่างด้วย แต่ในกรณีนี้ศาลระบุว่าไม่มีกฎหมายมารองรับดังนั้นศาลสามารถระบุได้หรือไม่ให้มีการดำเนินการในเรื่องของการเยียวยา หรือสามารถทำให้เกิดกระบวนการใหม่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้กรณีนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกและทำให้เกิดระบบการเยียวยาที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งในการยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้เราต้องมีความหวังถึงแม้มันจะยากลำบากยังไงเราก็ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้การละเมิดแบบนี้ก็จะเกิดขั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจะเป็นความชอบธรรมในการที่ผู้ละเมิดจะทำกับคนอื่นอีกได้ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ตนก็ยังถูกละเมิดทางออนไลน์อยู่ ซึ่งเราก็ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหรือเฉพาะหน่วยงานภาครัฐมาละเมิดกับเราได้อีกต่อไป มันไม่ควรที่จะถูกทำให้เป็นเรื่องปรกติในสังคม การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนย่อมจะได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน

ขณะที่ปรานม สมวงศ์  Protection International กล่าวว่า เรามีความภาคภูมิใจที่ได้อำนวยความสะดวกการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิและขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนสมควรได้รับการเข้าถึงสิทธิในการอุทธรณ์เพื่อขอรับค่าชดเชยและเยียวยาจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเธอตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีโดยการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐภายในแพลตฟอร์มดิจิทัล การขาดกฎหมายภายในไม่ควรเป็นอุปสรรคในการค้นหาความยุติธรรมและความรับผิดชอบของรัฐที่พึงมีต่อประชาชนในประเทศของตน

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาหลักการหนึ่งที่สำคัญในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศคือประเด็นสิทธิของทุกคนที่จะได้รับการเยียวยาอันมีประสิทธิผลจากศาลในกรณีที่มีการล่วงละเมิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ว่าในประเทศนั้นจะไม่มีกฎหมายภายในที่เฉพาะเกี่ยวกับการละเมิดเหล่านั้น เพราะสิทธิการได้รับการเยียวยาอันมีประสิทธิผล เน้นให้บุคคลมีสิทธิได้รับการเยียวยาและได้รับการเรียกคืนสิทธิจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะมีกฎหมายภายในที่เฉพาะเกี่ยวกับการละเมิดเหล่านั้นหรือไม่