เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงมุมมองต่อนโยบายการพัฒนา SMEs ให้กลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผ่านบทสัมภาษณ์บนเพจของพรรคเพื่อไทยวันนี้ โดยเขามองว่า วิกฤตที่ SMEs กำลังเผชิญในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดจากสาเหตุหลักๆ คือ การบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบอล และอีกส่วนคือการระบาดของโควิด-19
ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยการเติมงบประมาณให้ SMEs ในลักษณะ 'มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ' (soft loan) โดยเศรษฐามองว่า นี่คือการแก้ให้งบประมาณที่เหมือนไม่ได้ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ SMEs เผชิญได้ถูกจัด รวมไปถึงเรื่องของเครดิตบูโรที่เกิดกับ SMEs ในช่วงโควิด-19 เศรษฐายืนยันว่า พรรคเพื่อไทยต้องเข้ามาจัดการปัญหานี้ และจะมีนโยบายในการลบล้างประวัติด้านการเงินที่ไม่ดีของ SMEs อันเป็นผลกระทบจากโรคระบาด เหตุเพราะโควิด-19 ไม่ใช่ความผิดของประชาชน พวกเขาจึงควรได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล และการเยียวยาที่สำคัญคือ การทำให้พวกเขาเข้าถึง 'แหล่งเงินทุน'
"หากถามว่า เพราะพวกเขาไม่มีวินัยด้านการเงินการคลังหรือเปล่า เกิดจากการที่เขาไม่ทำงานหนักหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่ เขาถูก เขาเจอกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต ลงโทษเขาอย่างหนัก หน้าที่รัฐบาลตรงนี้ก็ต้องเยียวยา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็เป็นเรื่องสำคัญ"
ประเด็นต่อมา เศรษฐามองถึงเรื่องของ 'การตลาด' เนื่องจากปัจจุบัน สัดส่วนตลาด 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ในประเทศไทย และอีก 30 เปอร์เซ็นต์อยู่ในต่างประเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยมีผู้นำที่ออกไปค้าขายเพื่อเพิ่มสัดส่วนตลาดให้ขยายไปสู่นานาประเทศได้มากขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือ การตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ SMEs สามารถขายของได้มากขึ้น มีเงินเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมไปถึงธนาคารก็อยากปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ เศรษฐายังมองถึงกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่จะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า นั่นคือ ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ทว่ารัฐบาลไทยในอดีต กลับไม่ได้ให้ความสำคัญและผลักดันธุรกิจ Startup มากเท่าที่ควร
"คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้อยากทำงานเป็นลูกจ้างของสถาบันการเงิน หรือลูกจ้างบริษัทน้ำมันใหญ่ๆ หรือในบริษัทเอกชน แต่เขาอยากเป็นเถ้าแก่น้อย มีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารจัดการธุรกิจของเขาเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาขาดแหล่งเงินทุน"
เศรษฐาเสนอว่า กองทุนสตาร์ทอัพ (Startup fund) จะต้องเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพื่อสนับสนุนธุรกิจกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน เขามองว่าเรื่องนี้ต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ ในการผสานความร่วมมือและบทสนทนาร่วมกันระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนด้านการเงิน ไม่ว่าจะธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ หรือกลุ่มคนและธุรกิจที่อยู่ยอดพีระมิดทั้งหลายของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ดังเช่นที่ทุกคนอย่างเห็น
"เราควรจะต้องมีข้อกำหนดใหม่สำหรับสตาร์ทอัพ ในการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่ง 'สตาร์ทอัพ' ไม่ได้หมายถึงด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่จะเป็นแง่ของ กรีน (Green) ก็ได้ เพราะอันนี้ก็เป็นธุรกิจใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากได้แค่เงินอย่างเดียว เขาอยากได้โลกที่ดีด้วย
"พรรคเพื่อไทยเข้าใจถึงเรื่องนี้ เราตระหนักดีถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ต้องผสมผสานระหว่างความรู้ด้านเศรษฐกิจ และความเข้าใจของการพัฒนาสังคมของคนรุ่นใหม่" เศรษฐากล่าว