ไม่พบผลการค้นหา
เงินเดือนครูที่ต่ำไม่ได้สัดส่วนกับภาระหน้าที่ที่หนักมากของครู ทำให้ชาวอเมริกันหลายคนไม่อยากทำอาชีพครูอีกต่อไป จนโรงเรียนอเมริกันต้องจ้างชาวต่างชาติมาสอนแทน โดยเฉพาะครูฟิลิปปินส์

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า โรงเรียนในสหรัฐฯ ขาดแคลนครูผู้สอนจำนวนมาก ทำให้หลายโรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการจ้างครูจากอีกซีกโลกมาสอนที่โรงเรียนของตัวเอง เนื่องจาก สหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนครูทั่วประเทศ เพราะนักศึกษาจบใหม่ไม่ค่อยเลือกทำอาชีพครูกันแล้ว 

สถาบันนโยบายการเรียนระบุว่า ในปี 2018 สหรัฐฯ ขาดแคลนครูถึง 112,000 ตำแหน่ง ด้านโจ โธมัส ประธานสมาคมการศึกษาแอริโซนาเปิดเผยว่า ปีนี้ ในแอริโซนาเป็นมลรัฐเดียวมีตำแหน่งครูว่างถึง 7,000 ตำแหน่ง ทำให้หลายโรงเรียนต้องรับคนที่ไม่มีใบวิชาชีพครู ต้องจ้างเอเจนซี่ชั่วคราว หรือครูที่มีอยู่ก็ต้องเพิ่มคาบสอนต่อวันเข้าไป 

อีกทางหนึ่งที่หลายโรงเรียนเลือกก็คือ การจ้างครูชาวต่างชาติ ด้วยวีซ่า J-1 หรือวีซ่าแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเหล่านี้อยู่ในสหรัฐฯ ได้มากถึง 5 ปี โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนครูฟลิิปปินส์ที่เข้าไปสอนในสหรัฐฯ ด้วยวีซ่า J1 เพิ่มขึ้นจาก 21 คนขึ้นมาเป็นเกือบ 800 คน 

โจวี อัลบาราโด ครูชาวฟิลิปปินส์ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปสอนที่สหรัฐฯ อัลบาราโดเปิดเผยว่า ตอนที่เธอตัดสินใจจะเป็นครู เธอไม่ได้คาดหวังว่าจะไปเป็นครูที่สหรัฐฯ เธอเป็นครูอยู่ในฟิลิปปินส์อยู่นานเป็นสิบปี ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายไปที่มลรัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ เพื่อสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนอย่างมากในสหรัฐฯ โดยเธอบอกว่า ปีแรกที่เธออยู่ในสหรัฐฯ เธอรู้สึกคิดถึงครอบครัวมาก แต่ค่าตอบแทนที่ได้รับก็มากกว่าที่เธอได้รับตอนเป็นครูอยู่ในฟิลิปปินส์ 8-10 เท่า เธอจึงอดทนสอนที่สหรัฐฯ ต่อ

แม้พ่อแม่บางคนจะรู้สึกประหลาดใจที่เห็นว่าชาวต่างชาติมาสอนลูกตัวเอง แต่ทอม ทริกาเลต ผู้อำนวยการโรงเรียนคาซา แกรนด์ ยูเนียน ไฮสคูล ที่อัลบาราโดสอนอยู่กล่าวว่า โรงเรียนไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะแทบไม่มีชาวอเมริกันยื่นใบสมัครมาเป็นครู จึงต้องจ้างครูชาวต่างชาติมาสอนก่อนชั่วคราว คนที่เรียนจบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สามารถได้รายได้จากการทำวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลหรือในสาขาอาชีพอื่นที่สูงกว่าการมาเป็นครูมาก ในขณะที่รายได้ครูเฉลี่ยในแอริโซนาเริ่มต้นที่ 36,300 ดอลลาร์ หรือ 1.1 ล้านเท่านั้น 

อาชีพครูอาจรายได้จะไม่น่าดึงดูดนักสำหรับชาวอเมริกัน แต่สำหรับฟิลิปปินส์แล้ว รายได้จากการสอนที่เท่ากับครูชาวอเมริกัน ถือสูงกว่ารายได้ในประเทศตัวเองมาก โนเอล เก หนึ่งในครูชาวฟิลิปปินส์ที่มาสอนวิชาชีววิทยาและชีวเทคโนโลยีที่โรงเรียนคาซ่า แกรนด์ กล่าวว่า รายได้ที่ได้รับในสหรัฐฯ ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เขาสามารถซื้อของที่อยากได้ กินอาหารที่อยากกิน ด้วยเงินเดือนที่ได้ ไม่เหมือนกับตอนที่อยู่ในฟิลิปปินส์ที่ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมาก

แม้จะมีรายได้ดีกว่าในฟิลิปปินส์ แต่ครูเหล่านี้ก็ต้องแลกกับการจากครอบครัวมาเป็นเวลานานหลายปี แต่เกก็เชื่อว่าเขาตัดสินใจถูกแล้ว เพราะเขารู้สึกว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว ต่อพ่อแม่ รายได้ครึ่งหนึ่งที่เขาหามาได้จะถูกส่งกลัยไปให้แม่ของเขาในฟิลิปปินส์

เกและอัลบาราโดเล่าว่า พวกเขาเข้าไปสอนในโรงเรียนได้ผ่านเอเจนซี่จัดหางานที่เป็นตัวกลางหาครูชาวต่างชาติให้โรงเรียนอเมริกัน โดยเอเจนซี่จัดหาครูชาวต่างชาติให้โรงเรียนอเมริกันกำลังเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมาก เอเจนซี่เหล่านี้จะประสานให้มีการสัมภาษณ์งานกันออนไลน์ เป็นตัวแทนจัดสอบครู โดยกระบวนการทั้งหมดให้เวลาประมาณ 2 เดือน และในบางกรณี เมื่อครูผ่านการทดสอบแล้ว ครูชาวฟิลิปปินส์จะได้รับค่าจ้างล่วงหน้าก่อน 

เกและอัลบาราโดกล่าวว่า เหตุผลที่โรงเรียนอเมริกันจ้างครูฟิลิปปินส์หลายคน เพราะชาวฟิลิปปินส์ขึ้นชื่อว่าเป็นคนอดทนและทำงานหนัก และพวกเขาก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองสอนมานานหลายปี ถือว่าสมประโยชน์กันทุกฝ่าย เพราะสหรัฐฯ ก็ขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการศึกษาพิเศษ ชาวฟิลิปปินส์ก็ได้รับประสบการณ์ที่ดีในการสอนในสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม เกและอัลบาราโดเปิดเผยว่า การสอนในสหรัฐฯ ก็ทำให้พวกเขาต้องปรับตัว เนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอยู่บ้าง เกกล่าวว่า นักเรียนในโรงเรียนฟิลิปปินส์จะทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพราะพวกเขามองว่าการศึกษาเป็นหนทางหลีกหนีจากความยากจน แต่เด็กอเมริกันมักตั้งคำถามว่าทำไมจะต้องทำตามครูทุกอย่าง ส่วนอัลบาราโดกล่าวว่า เธอให้นักเรียนทุกคนเซ็นสัญญาว่าจะทำตามกฎระเบียบในห้องเรียน เช่น เรื่องการใช้โทรศัพท์ให้ห้องเรียน การให้นักเรียนนั่งอยู่กับที่นั่งของตัวเองให้พร้อมก่อนจะเริ่มการเรียน

ด้านมาริสสา แยป ครูวิชาเคมีชาวฟิลิปปินส์อีกคนที่อยู่ในแอริโซนากล่าวว่า การทำให้นักเรียนประพฤติตัวดี ตั้งใจเรียน ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการดุหรือเข้มงวดเพียงอย่างเดียว แต่เด็กทั่วโลกต้องการให้ครูรับฟังพวกเขาบ้าง คอยกระตุ้นและดึงดูดความสนใจของนักเรียน นักเรียนบางคนทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ทำให้พวกเขาง่วงนอน ก็ต้องให้กำลังใจพวกเขา แทนที่จะต่อว่าพวกเขา

แม้ครูฟิลิปปินส์จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนชาวอเมริกัน หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนชาวอเมริกันมากแค่ไหน ครูเหล่านี้ก็จะต้องกลับประเทศของตัวเองเมื่อหมดวีซ่าระยะเวลา 5 ปี ทำให้ครูปกครองหลายคนมองว่าสหรัฐฯ ควรต้องเปลี่ยนเงื่อนไขวีซ่า J1 เพื่อให้ครูชาวต่างชาติสามารถสอนในโรเงรียนอเมริกันได้นานขึ้น จนกว่าจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูได้สำเร็จ