คำฟ้องต่ออดีตประธานาธิยดีในครั้งนี้ ครอบคลุมการไต่สวนเหตุการณ์การจลาจลเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ด้วย ทั้งนี้ ทรัมป์ ในวัย 77 ปี ซึ่งประกาศการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา อย่างไรก็ดี ทรัมป์ยังถูกตั้งข้อหาในอีก 2 คดี ทั้งการจัดการเอกสารลับที่ไม่ถูกต้อง และการปลอมบันทึกทางธุรกิจเพื่อปกปิดการจ่ายเงินให้กับดาราหนังโป๊
การสืบสวนสอบสวนต่อคดีล้มการเลือกตั้ง มุ่งเน้นไปที่การกระทำของทรัมป์ในช่วง 2 เดือน ระหว่างความพ่ายแพ้ของเขาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 และการก่อจลาจลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมวลชนผู้สนับสนุนของทรัมป์ได้บุกเข้าไปยังรัฐสภาสหรัฐฯ ในขณะที่สมาชิกรัฐสภากำลังรับรองผลชัยชนะการเลือกตั้งของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
ทั้งนี้ แจ็ค สมิธ ที่ปรึกษาพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็นผู้นำการไต่สวนในครั้งนี้ โดยสมิธกล่าวเมื่อช่วงเย็นวันอังคาร (1 ส.ค.) ว่า "การโจมตีเมืองหลวงของประเทศเราเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 เป็นการโจมตีที่ยึดอำนาจประชาธิปไตยของอเมริกาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน" พร้อมกล่าวเสริมว่า “ดังที่อธิบายไว้ในคำฟ้อง มันถูกขับเคลื่อนด้วยการโกหก”
สมิธกล่าวสรุปในการแถลงสั้นๆ โดยเขาให้คำมั่นว่าจะดำเนินการ "พิจารณาคดีโดยเร็ว" พร้อมย้ำว่าอดีตประธานาธิบดี "ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด" ทั้งนี้ ทรัมป์มีกำหนดการขึ้นศาลในวันพฤหัสบดี (3 ส.ค.) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เอกสารคำฟ้องต่อทรัมป์ในคดีล้มล้างการเลือกตั้งมีความยาว 45 หน้า โดยคำร้องระบุถึงผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิดที่ไม่เปิดเผยชื่อ 6 คน ได้แก่ ทนายความ 4 คน เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม 1 คน และที่ปรึกษาทางการเมือง 1 คน ทั้งนี้ เอกสารของศาลกล่าวหาว่าทรัมป์ “สมรู้ร่วมคิดในการทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ขัดขวาง และทำลายการทำงานของรัฐบาลกลางด้วยความไม่ซื่อสัตย์ การฉ้อฉล และการหลอกลวง”
อัยการสหรัฐฯ กล่าวถึงข้อกล่าวหาจากทรัมป์ ที่เขาระบุว่ามีการฉ้อโกงการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 ว่า "ข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นเท็จ และจำเลยรู้ว่าเป็นเท็จ" อัยการยังกล่าวอีกว่าทรัมป์พยายามและล้มเหลว ในการโน้มน้าวให้ ไมค์ เพนซ์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามขัดขวางการรับรองไบเดนในฐานะประธานาธิบดีในวันที่ 6 ม.ค. "ในขณะที่เกิดความรุนแรงขึ้น จำเลยและผู้สมรู้ร่วมคิดใช้ประโยชน์จากความชะงักงัน โดยเพิ่มความพยายามเป็นเท่าตัวเพื่อใช้คำกล่าวอ้างที่เป็นเท็จของการโกงการเลือกตั้ง และโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาชะลอการรับรองต่อไปตามคำกล่าวอ้างเหล่านั้น"
คำฟ้องยังระบุรายชื่อเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และผู้ปฏิบัติงานหาเสียงระดับสูงของทรัมป์หลายคน ซึ่งระบุว่า กลุ่มคนเหล่านี้ได้แจ้งให้ประธานาธิบดี ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งทราบว่าเขาแพ้การเลือกตั้ง และไม่มีหลักฐานว่ามีการโกงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ปัจจุบันนี้ ทรัมป์ซึ่งขณะนี้ต้องเผชิญกับข้อหาทางอาญารวม 78 กระทงใน 3 คดีที่แตกต่างกัน เป็นผู้มีคะแนนนิยมนำในการแข่งขันชิงการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อการลงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป โดยไม่ว่าใครก็ตามที่ชนะการเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ผู้นั้นจะขึ้นมาแข่งขันกับตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ซึ่งคาดว่าจะเป็นไบเดน ที่จะลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในเดือน พ.ย. 2567
ทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์ว่า คำฟ้องเมื่อวันอังคารเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง “ความไร้ขื่อแปทางกฎหมาย ของการประหัตประหารประธานาธิบดีทรัมป์ และผู้สนับสนุนของเขา ทำให้เรานึกถึงนาซีเยอรมนีในทศวรรษ 1930 อดีตสหภาพโซเวียต และระบอบเผด็จการเผด็จการอื่นๆ” ทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า "การล่าแม่มดที่ไม่เป็นไปตามวิถีอเมริกันเหล่านี้จะล้มเหลว"
เจ้าหน้าที่บริหารและที่ปรึกษาระดับสูงของทรัมป์หลายสิบคน ได้รับการเรียกตัวไปสอบปากคำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวน รวมถึงอดีตรองประธานาธิบดีเพนซ์ และ รูดี จูเลียนี อดีตทนายความของทรัมป์
อัยการในมลรัฐจอร์เจียกำลังสอบสวนอดีตประธานาธิบดีด้วยข้อกล่าวหาที่คล้ายกัน โดยอัยการระบุเน้นตั้งคำถามในข้อหาว่า ทรัมป์ได้กดดันเจ้าหน้าที่ในมลรัฐจอร์เจียอย่างผิดกฎหมาย ให้มีการประกาศยกเลิกผลชัยชนะในการเลือกตั้งของไบเดนหรือไม่ ในขณะที่การตัดสินของอัยการในมลรัฐจอร์เจียว่าจะฟ้องทรัมป์หรือไม่นั้น คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนนี้
สมาชิกพรรครีพับลิกันในมลรัฐอื่นๆ ก็กำลังถูกสอบสวนเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาถูกกล่าวหาว่าช่วยทรัมป์กดดันไม่ให้ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง โดยเมื่อวันอังคาร อัยการมลรัฐมิชิแกนตั้งข้อหาอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน และผู้สนับสนุนทรัมป์อีกคนหนึ่ง ด้วยข้อหาการดัดแปลงเครื่องลงคะแนนเพื่อพยายามพิสูจน์ว่าทรัมป์แพ้เนื่องจากการฉ้อโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นวงกว้าง
การก่อจลาจลในรัฐสภาสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการลงมติถอดถอนทรัมป์ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวน 2 ครั้ง จึงทำให้ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ถูกลงมติถอดถอนถึง 2 ครั้ง แม้ความพยายามดังกล่าวจะไม่ประสบกับความสำเร็จก็ตาม
ที่มา: